วันนี้ (14 ก.พ.) เวลา 17.49 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทอดพระเนตรการแสดงเชิดสิงโตเฉลิมพระเกียรติ ของคณะลูกหลวงปู่ทับ จากชั้น 16 ของอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับประชาชนชาวไทยที่จงรักภักดีร่วมกันจัดถวายเนื่องในเทศกาลตรุษจีน โดยคณะลูกหลวงปู่ทับเคยได้รับรางวัลมากมาย และมีชื่อเสียงในเขตบางกอกน้อยมากว่า 30 ปี การแสดงในวันนี้มีชื่อชุดว่า "เต้นไหว้และต่อตัว"
นอกจากนี้ ยังมีการเชิดสิงโตของคณะกว๋องสิว จาก จ.นครสวรรค์ โดยคณะเชิดสิงโตกว๋องสิวนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศการเชิดสิงโตนานาชาติ ครั้งที่ 4 ที่ประเทศมาเลเซีย ชุดการแสดงเชิดสิงโตที่มีชื่อเสียงคือ ชุดโต๊ะดอกเหมย ที่เป็นการต่อตัวเชิดบนเสาสูง 2.80 เมตร การแสดงเชิดสิงโตที่จะถวายในวันนี้มีทั้งสิ้น 83 ตัว เพื่อเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 83 พรรษาในปีนี้ แบ่งเป็น 3 ชุดคือ ชุดเชิดอวยพร ชุดเต้นต่อตัว และชุดกระโดดโต๊ะดอกเหมย
ประเพณีการเชิดสิงโตมีตำนานเล่าขานกันว่า ในสมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดิเฉียนหลง ได้เสร็จออกว่าราชการที่ท้องพระโรง และโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเข้าเฝ้า ขณะนั้นท้องฟ้าได้มืดสลัว และปรากฏสัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายสิงโตตัวใหญ่ มีขนปุกปุย ในด้านทิศตะวันออก ท่ามกลางเสียงมโหรีประโคมกึกก้อง สัตว์ตัวนั้นได้มาหมอบที่หน้าพระที่นั่งและก้มหัวถวายบังคม 3 ครั้ง ก่อนที่จะลอยไปตามทิศเหนือ บรรดาขุนนางได้กราบทูลว่า สัตว์ตัวนี้มีคุณลักษณะเป็นเลิศ ยากที่สามัญชนทั่วไปจะพบเห็น นอกจากนี้ ผู้ที่มีบุญญาธิการสูงสุดเท่านั้น และที่ปรากฏตัวขึ้น เพื่อถวายพระพรให้จงทรงพระเจริญ
สิงโตที่นิยมเชิดกันนั้น จะใช้หัวสิงโต 4 สี สิงโตสีเขียวหนวดดำ เรียกว่า ตั่วกง หมายถึงเล่าปี่ เป็นสัญลักษณ์ของการมีอำนาจวาสนายิ่งใหญ่ สิงโตแดงหนวดดำ เรียกว่า ยี่กง หมายถึงกวนอู เป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์กล้าหาญ โชคลาภ ความสมบูรณ์พูนสุข และความสงบสุขร่มเย็น สิงโตสีดำเรียกว่า ซากง หมายถึงเตียวหุย เป็นสัญลัษณ์ของความหนักแน่นยุติธรรม และสิงโตหัวเหลืองเรียกว่า สี่กง หมายถึงกวนเพ้ง เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่มีอำนาจวาสนา มียศฐาบรรดาศักดิ์ ซึ่งสิงโตที่นิยมเชิดในเมืองไทยนั้นจะเป็นสิงโตสีแดงหนวดดำ ที่เป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์พูนสุข และความสงบสุขร่มเย็น