xs
xsm
sm
md
lg

ภาษาไทยน่าห่วง!! ผลสอบชี้นิสิตตีโจทย์ไม่แตก ลำดับประโยคไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.น.พ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.กิตติคุณ ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ กรรมการผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยสิรินธร แถลงข่าวการจัดการทดสอบวัดสมรรถภาพในการใช้ภาษาไทย ทักษะการเขียนภาษาไทยเพื่อการประกอบอาชีพ ว่า การทดสอบดังกล่าว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสอบให้แก่นิสิตชั้นปีที่ 3-4 และขยายสู่บุคคลทั่วไป พร้อมจัดบริการหลักสูตรอบรมเสริมความรู้ โดยเน้นวัดความสามารถในการเขียนรายงานประเภทต่างๆ รวมถึงการเขียนแสดงความคิดเห็น เนื่องจากเป็นทักษะที่ผู้ประกอบการมีความต้องการ นิสิตจึงควรได้รับทราบสถานะความสามารถของตนเพื่อจะสามารถพัฒนาต่อไปได้ ขณะเดียวกัน หน่วยงานสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาให้นิสิตรวมถึงประชาชนทั่วไป ตื่นตัวในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อตนเองและการพัฒนาประเทศได้
ศ.กิตติคุณ ดร.ปราณี กล่าวว่า ศูนย์ภาษาไทยสิรินธร ได้ทำการวิจัยลักษณะความสามารถในทักษะการเขียนภาษาไทยที่ผู้ว่าจ้างต้องการมากที่สุดในบุคลากรที่จบปริญญาตรี พบว่าผู้บริหารหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน 80 แห่ง ส่วนใหญ่ต้องการความสามารถในการเขียนรายงานประเภทต่างๆ เช่น รายงานการปฏิบัติงาน รายงานการประชุม ซึ่งต้องอาศัยทักษะการสรุปจับประเด็นสำคัญ จัดประเภท และเรียงลำดับความสำคัญ การรู้จักคำที่หลากหลาย รู้จักเลือกใช้คำที่เหมาะสมในการสื่อความหมาย ที่ผ่านมาจุฬาฯ ได้จัดสอบให้แก่นิสิตชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 เป็นปกติ เด็กส่วนใหญ่อยู่ระดับ "ผ่าน" แต่คาดหวังให้ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ "ดี" จุดบกพร่องที่มักพบคือ นิสิตตีโจทย์ไม่แตก ไม่สามารถเขียนให้เหมาะสมกับผู้รับสาร เรียงลำดับประโยคไม่ได้ การใช้คำเชื่อมไม่ถูกต้อง ลายมืออ่านยาก
ดร.เทพี จรัสจรุงเกียรติ รองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยสิรินธร กล่าวว่า เด็กยุคใหม่ชอบเขียน โดยเฉพาะบนอินเตอร์เน็ต แต่ยังไม่รู้ว่าการเขียนมีหลายประเภทที่ต้องเลือกใช้วิธีการเขียนที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่มักคิดว่าการเขียนบนอินเตอร์เน็ตอย่างอิสระสามารถใช้เขียนได้ทุกที่ทุกสถานการณ์ เราจะทำอย่างไรให้เด็กเลือกใช้ภาษาที่แตกต่างไปในการเขียนรายงานการประชุม การเขียนจดหมายสมัครงาน ได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น