xs
xsm
sm
md
lg

เอแบคโพลล์ชี้ ปชช.ไม่ต้องการให้รัฐบาลยุบสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอแบคโพลล์สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง คำถามคาใจของสาธารณชน และความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน พบ คำถามคาใจอันดับหนึ่งร้อยละ 84.6 เมื่อไหร่ความวุ่นวายทางการเมืองจะจบ รองลงมา อดีตนายกรัฐมนตรีจะหลุดคดีในข้อหาต่างๆ
สำหรับประเด็นทางการเมืองนั้น พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 93.2 ให้ทุกฝ่ายยอมรับคำตัดสินของศาล ร้อยละ 91.6 ถ้าศาลตัดสินยุบพรรค ให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ อย่าก่อความวุ่นวาย และร้อยละ 79.5 ไม่ต้องการให้รัฐบาลยุบสภา ต้องการให้รอผลการตัดสินของกระบวนการยุติธรรมก่อน นอกจากนี้ ยังพบว่าคดีปราสาทพระวิหาร ทำให้พรรคพลังประชาชนเสียคะแนนนิยม
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "คำถามคาใจของสาธารณชนและความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน" กรณีศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี เชียงใหม่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ ขอนแก่น หนองคาย สกลนคร นครราชสีมา ศรีสะเกษ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ชลบุรี นครปฐม ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 3,358 ตัวอย่าง ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการ ระหว่างวันที่ 5-12 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 90 ยังคงติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์ และพบว่าเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 31.7 ติดตามข่าวการเมืองมากขึ้น นับตั้งแต่มีการยึดอำนาจในปี 2549 จนถึงปัจจุบัน
เมื่อสอบถามถึงคำถามที่คาใจของสาธารณชน พบว่า อันดับแรกคือส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.6 ของผู้ที่ถูกศึกษาทั้งหมด มีคำถามคาใจว่า เมื่อไหร่ความวุ่นวายทางการเมืองจะได้ข้อยุติ จบลงเสียที รองลงมาคือ ร้อยละ 62.1 มีคำถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะหลุดพ้นข้อกล่าวหาในคดีต่าง ๆ จากการตัดสินของศาลหรือไม่ และร้อยละ 61.0 มีคำถามว่า รัฐบาลจะยุบสภา เลือกตั้งใหม่ในปีนี้หรือไม่ ในขณะที่ร้อยละ 60.9 มีคำถามว่า พรรคพลังประชาชนจะถูกยุบหรือไม่ ร้อยละ 59.3 มีคำถามว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ และร้อยละ 55.3 มีคำถามว่า จะมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกหรือไม่
ทั้งนี้ ความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ทางการเมืองขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.2 ที่เห็นว่า ศาลต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม คือ สถาบันหลักของประเทศ ทุกๆ ฝ่ายต้องยอมรับผลการวินิจฉัยตัดสิน และร้อยละ 91.6 เห็นว่า ถ้ามีการตัดสินยุบพรรคการเมือง ก็ให้ทุกฝ่ายใช้ชีวิตไปตามปกติ ไม่ต้องก่อเหตุวุ่นวายอะไร และร้อยละ 91.6 เช่นกัน เห็นว่ายอมรับผลการตัดสินของศาลต่างๆ ดีกว่ายอมให้มีการยึดอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.5 มองคดีความทางการเมืองต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมขณะนี้แล้ว ทำให้เชื่อเรื่อง บาปบุญ คุณโทษ และกฎแห่งกรรม มากขึ้น ในขณะที่ส่วนใหญ่เช่นกันหรือร้อยละ 82.0 คิดว่า ควรปล่อยให้ปัญหาการเมือง แก้ไขด้วยวิธีการทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม กรณีปัญหาเขาพระวิหารนั้น ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.8 เห็นว่า ทำให้พรรคพลังประชาชนนั้นเสียคะแนนนิยมไป แต่เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลในการตัดสินใจยุบสภาในสถานการณ์การเมืองขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.5 เห็นว่าควรรอให้ผลการตัดสินของกระบวนการยุติธรรมถึงที่สุดก่อน ในขณะที่ร้อยละ 20.5 เห็นว่าควรยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่ในตอนนี้ทันที
เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นต่อโอกาสที่ว่า อะไรมีโอกาสจะเกิดขึ้นมากกว่ากันระหว่าง การถอนทุนคืน หรือ การทุจริตคอร์รัปชั่นในกลุ่มนักการเมืองเวลานี้ กับ การยึดอำนาจ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.6 คิดว่า การถอนทุนคืนของนักการเมืองมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า การยึดอำนาจ ในขณะที่ร้อยละ 33.4 คิดว่า การยึดอำนาจมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า และเมื่อจำแนกออกตามเพศ พบว่า กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นชาย กับหญิง มีสัดส่วนไม่แตกต่างกันคือ ส่วนใหญ่ยังคงคิดว่า การถอนทุนคืนเป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าการยึดอำนาจในเวลานี้
แต่เมื่อจำแนกกลุ่มประชาชนที่ถูกศึกษาออกตามพรรคการเมืองที่เคยเลือกในระบบสัดส่วน พบว่า คนที่เคยเลือกพรรคพลังประชาชนมีสัดส่วนของผู้ตอบว่า จะเกิดการถอนทุนคืนโดยนักการเมือง น้อยกว่า คนที่เลือกพรรคการเมืองอื่น ในทางตรงกันข้าม คนที่เคยเลือกพรรคพลังประชาชนคิดว่า โอกาสที่จะเกิดการยึดอำนาจมีมากกว่าการถอนทุนคืน ในสัดส่วนที่สูงกว่าคนเลือกพรรคการเมืองอื่นๆ และเมื่อวิเคราะห์จำแนกตามระดับการศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ยิ่งคนที่มีการศึกษาสูงขึ้น ยิ่งคิดว่า การถอนทุนคืน หรือ การทุจริตคอร์รัปชั่นโดยนักการเมืองมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า การยึดอำนาจ คือร้อยละ 65.5 ของคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 70.2 ของคนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 80.0 ของคนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น