xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ห่วง 8x100 แพร่ระบาดในพื้นที่ จชต. ระดมหาวิธีแก้โดยด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ห่วงถึงปัญหาการแพร่ระบาดสารเสพติด 4x100 ในกลุ่มวัยรุ่นของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) โดยนำใบกระท่อมมาบดกับยากันยุงชนิดขด แล้วนำไปต้ม จากนั้นจึงนำมาผสมกับน้ำอัดลมจำพวกโคคา-โคล่า และยาน้ำแก้ไอ หรืออัลปราโซแลม ซึ่งต่อมาได้มีการแพร่ระบาดสู่กลุ่มวัยรุ่นจังหวัดสงขลาและสตูล และมีการพัฒนาสูตรอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่ม สารฟลูออเรสเซนต์ แล้วเติมเหล้าแห้ง โซดา และอัลปราโซแลม ซึ่งเป็นยากล่อมประสาทที่วัยรุ่นเรียกว่า “โซแลม” (mano 1) หรือลูกเม็ด เป็น 8x100 ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งและเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า การแพร่ระบาดของสารเสพติดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะ ผู้เสพเท่านั้น ยังเกิดปัญหาต่อเนื่องต่อครอบครัว ชุมชน สังคมรอบข้าง และด้านความมั่นคง โดยเฉพาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีวัฒนธรรมที่แตกต่าง เป็นที่มาของสารเสพติดแบบผสม การแก้ปัญหาจะต้องกระทำควบคู่กันในด้านต่างๆ เช่น ด้านการบำบัดรักษา โดยกระทรวงสาธารณสุข ด้านการปราบปราม ซึ่งรวมถึงการกำกับดูแล หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตำรวจ ทหาร ป.ป.ส. การควบคุมสารตั้งต้นและยา ได้แก่กระทรวงสาธารณสุข เป็นลักษณะการกำกับดูแล ให้ความรู้ ป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิด ซึ่งจะต้องร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาให้หมดไป
ในวันนี้ (24 เม.ย.) จึงได้จัดให้มีการประชุมหารือเพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาสารเสพติดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นที่โรงแรม ซีเอส ปัตตานี ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย หน่วยงานจากภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ภาคเอกชน ได้แก่ ผู้ผลิตวัตถุออกฤทธิ์ ยาน้ำแก้ไอ ร้านขายยา สถานพยาบาล รวมทั้งสิ้นประมาณ 100 คน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรับทราบปัญหา ร่วมกันระดมสมอง และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสารเสพติดโดยการนำยาน้ำแก้ไอ วัตถุออกฤทธิ์ ยาเสพติดไปใช้ในทางที่ผิด และเพื่อสร้างเครือข่ายบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างครบวงจรในการลดปัญหาการใช้ยา วัตถุออกฤทธิ์ ยาเสพติด ไปเป็นเครื่องมือก่อความไม่สงบ ซึ่งจากผลของการประชุมในวันนี้ คาดว่าจะสามารถลดปัญหาการนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือนำไปเป็นเครื่องมือในการ ก่อเหตุความรุนแรง หรือ ก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายเฝ้าระวังการนำยาน้ำแก้ไอ วัตถุออกฤทธิ์ ยาเสพติด ไปใช้ในทางที่ผิดทำงานอย่างเข้มแข็ง เชื่อมโยงเป็นระบบและยั่งยืน
พร้อมกันนี้ได้กำชับให้ร้านขายยาเข้มงวดกับการขายยาน้ำแก้ไอที่นำไปเป็นส่วนผสมสารเสพติดได้ อัลปราโซแลม จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 4 ตามกฎหมายให้ขายในร้านขายยาได้ แต่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์ และต้องรายงานการใช้ส่งให้ อย.ทุกเดือน ผู้ผลิตผู้ขายนำเข้า หรือส่งออกวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อ จิตและประสาทประเภท 3 และประเภท 4 โดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท เภสัชกรที่ขายวัตุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 3 หรือ 4 โดยไม่มีใบสั่งแพทย์ หรือละทิ้งหน้าที่ในการควบคุมการขาย มีโทษปรับสูงสุด 50,000บาท ส่วนผู้ที่จูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวงหรือขู่เข็นให้ผู้อื่นเสพมีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 -10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 - 200,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น