xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “ภูมะเขือ” ยุทธศาสตร์สำคัญใกล้ปราสาทเขาพระวิหาร ที่ทหารไทยขึ้นไปปักธงไตรรงค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทหารไทยปักธงชาติไทยที่ภูมะเขือ (ภาพ : เพจ Army Military Force - สำรอง)
พาไปรู้จักกับ “ภูมะเขือ” ยุทธศาสตร์สำคัญใกล้ปราสาทเขาพระวิหาร ที่ทหารไทยสามารถยึดได้ และขึ้นไปปักธงไตรรงค์ ร้องเพลงชาติไทยกึกก้อง นอกจากนี้ยังพบร่างทหารเขมรดับ 10 ศพ ที่ภูแห่งนี้ด้วย

หลังกองทัพกัมพูชายิงปืนใหญ่ใส่ประชาชนคนไทย ชุมชน บ้านเรือน รวมไปถึงโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม ทำให้กองทัพไทยต้องตอบโต้ตามหลักสากล ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 68 ที่ผ่านมา

สำหรับความคืบหน้าสถานการณ์สู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในวันที่สาม (26 ก.ค. 2568) นั้นมีรายงานว่า ทหารไทยสามารถยึด “ภูมะเขือ” ที่เป็นอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์สำคัญ แล้วขึ้นไปปักธงชาติไทยปลิวไสวบนนั้น

โดย เมื่อเวลา 08.40 น. ทางเพจ กองทัพบก ทันกระแส ได้โพสต์ขอ้ความว่า “ภูมะเขือ ยึดได้แล้ว “ปักธงชาติไทย” ร้องเพลงชาติให้กึกก้อง “เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่”

เวลา 09.20 น. – เพจ “กองทัพภาคที่ 2” โพสต์ข้อความ “ธงชาติไทย ปักบนยอดภูมะเขือเรียบร้อยแล้วสัญลักษณ์แห่งเอกราชและอธิปไตย ได้โบกสะบัดอีกครั้ง…เหนือแผ่นดินไทย ณ ยอด ภูมะเขือ – หนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ชายแดนไทย–กัมพูชา กองกำลังทหารไทยสามารถเข้าควบคุมพื้นที่ได้แล้วทั้งหมดภาพแห่งเกียรติภูมิ — ธงไตรรงค์บนยอดภูมะเขือ“ตราบใดที่ธงยังโบกสะบัด — ศักดิ์ศรีของชาติไทยจะไม่มีวันตกพื้น”

ทหารไทยปักธงชาติไทยที่ภูมะเขือ (ภาพ : เพจ Army Military Force - สำรอง)
ส่วน เวลา 12.00 น. ทางเพจ “กองทัพภาคที่ 2” ได้โพสต์ถึงสถานการณ์เพิ่มเติมว่า จากที่ฝ่ายไทยได้ “ยึดภูมะเขือ” ที่ผ่านมานั้น ฝ่ายกัมพูชาเตรียมการใช้กำลังทางทหารและอาวุธวิถีโค้งเป็นจำนวนมาก ขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวัง ติดตามสถานการณ์ การแจ้งเตือนจากทางการ และเชื่อมั่นในทหารไทย

สำหรับภูมะเขือ เป็นส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขา “พนมดงรัก” ตั้งอยู่บริเวณแนวเขตแดนไทย-กัมพูชา อยู่ทางทิศตะวันตกของตัวปราสาทเขาพระวิหาร ระยะห่างประมาณ 2.8 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร

ภูมะเขือ ตั้งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ ส่วนฝั่งตรงข้าม คือจังหวัดพระวิหารของกัมพูชา ภูแห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์บนแนวสันปันน้ำ ใครที่ยึดได้จะสามารถ มองเห็นตัว “ปราสาทเขาพระวิหาร” และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวในบริเวณนี้ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ

บริเวณภูมะเขือยังเชื่อมโยงกับ “วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ” วัดที่กัมพูชาสร้างขึ้นมาใหม่บนแนวถนนส่งกำลังบำรุงจากฝั่งกัมพูชาสู่ปราสาทพระวิหาร ซึ่งแม้ที่ผ่านมาไทยจะประท้วงแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ โดยหากใครได้ครอบครองพื้นที่บริเวณวัดแก้วฯ จะสามารถควบคุมเส้นทางยุทธศาสตร์ได้

พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก
พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 68 ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ว่า ปัจจุบันพื้นที่ภูมะเขือ เป็นพื้นที่ที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิ์ โดยไทยยึดถือเส้นแนวสันปันน้ำ ตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 ของกรมแผนที่ทหาร เป็นแนวเส้นปฏิบัติการใช้อ้างอิงในการปฏิบัติงาน ส่วนฝ่ายกัมพูชายึดถือแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ในห้วงเกิดข้อพิพาท

ทั้งสองฝ่ายได้เคลื่อนกำลังเข้าแย่งยึดพื้นที่กัน ทำให้ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวจึงมีทั้งฐานปฏิบัติการทางทหารของทั้งไทยและกัมพูชาวางกำลังเผชิญหน้ากัน ไม่ใช่มีเฉพาะทหารกัมพูชาฝ่ายเดียวที่อยู่ในบริเวณพื้นที่อย่างที่เป็นข่าว และที่ตั้งทางทหารของฝ่ายกัมพูชาก็ไม่ได้ล้ำเส้นปฏิบัติการตามแผนที่ 1:50,000 ของเราเข้ามาแต่อย่างใด

ในอดีต การเข้าถึงพื้นที่ด้านบนของภูมะเขือ ทางฝั่งกัมพูชา ใช้วิธีการสร้างกระเช้าและบันไดเป็นทางขึ้นสู่ยอดภูเขาเนื่องจากสภาพภูมิประเทศฝั่งกัมพูชามีลักษณะลาดชัน อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ฝ่ายกัมพูชาได้สร้างถนนโดยลัดเลาะตามไหล่เขาในเขตกัมพูชาเพื่อใช้เป็นทางขึ้นสู่ด้านบนของภูมะเขือ

ทหารไทยปักธงชาติไทยที่ภูมะเขือ (ภาพ : เพจ Army Military Force - สำรอง)
สำหรับกรณีการสร้างกระเช้าและถนนขึ้นสู่ยอดภูมะเขือดังกล่าว ฝ่ายไทยเห็นว่าเข้าข่ายเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมหรือภูมิประเทศในบริเวณใกล้เคียง กับพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์กันอยู่ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ล้ำแนวเส้นปฏิบัติการของทหารไทยก็ตาม แต่ถือว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงตาม MOU 2543 ดังนั้น ฝ่ายไทยจึงได้ดำเนินการเก็บหลักฐานและทำการประท้วงผ่านกลไกความร่วมมือทางทหารในระดับพื้นที่มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฝ่ายไทยจะยึดมั่นในจุดยืนที่สำคัญได้แก่การไม่รุกรานใคร และยึดมั่นในการแก้ปัญหาด้วยหลักสันติวิธี แต่ยังพบเห็นการกระทำของฝ่ายกัมพูชา ที่มักจะละเมิดในข้อตกลงที่มีระหว่างกันอย่างต่อเนื่องนั้น จึงเป็นเหตุให้ฝ่ายไทยไม่อาจเพิกเฉยต่อความกังวลที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งได้

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในการปกป้องอธิปไตย และความปลอดภัยของประชาชน จึงเป็นภารกิจที่ทหารไทยต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เหมาะสมกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจต่อมิตรประเทศ และสาธารณชนในทุกช่องทาง เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ข้อมูลถูกบิดเบือนโดยผู้ไม่หวังดีในอนาคต

ทหารไทยเข้ายึดภูมะเขือ (ภาพ : เพจ Army Military Force - สำรอง)
สำหรับสถานการณ์สู้รบในวันที่ 3 นั้น ทหารไทยสามารถเคลียร์พื้นที่ยอดภูมะเขือได้ 90% และพร้อมตอบโต้ทันทีหากกำลังทหารกัมพูชารุกล้ำเข้ามาอีก ส่วนที่เหลือ 10% จะดำเนินการช่วงเวลา 10.00-14.00 น. พร้อมทำลายฐานที่มั่น กระเช้า เสาเรดาร์ และบันไดเหล็กที่ทหารกัมพูชาทำขึ้นบนภูมะเขือให้หมด จากนั้นจะนำกำลังใหม่เป็นกองร้อยทหารราบตั้งกำลังหน้าแนว เพื่อให้กำลังชุดปฏิบัติการในช่วงเช้าได้พักผ่อน นอกจากนี้จะเสริมกำลังอาวุธหนักขึ้นสนับสนุน

ส่วนการทำลาย กระเช้า เสาเรดาร์ และบันไดเหล็ก จะดำเนินการเวลา 14.00 น เนื่องจากรอสนับสนุนวัตถุระเบิด

นอกจากนี้ที่ภูมะเขือยังพบร่างผู้เสียชีวิตเป็นฝ่ายทหารกัมพูชา 10 ราย ฝ่ายไทยสามารถตรวจยึดยุทโธปกรณ์ได้จำนวนมาก

ด้าน พ.อ.ริชฌา สุขสุวานนท์ รองโฆษกกองทัพบก ยืนยันว่า กองทัพบกได้รับรายงานจากกองทัพภาคที่ 2 ว่า เมื่อเวลา 09.20 น.ได้มีการเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดภูมะเขือ หลังจากที่ทหารไทยเปิดปฏิบัติการเข้าตียึดพื้นที่ได้ ซึ่งเป็นบริเวณที่ฝ่ายทหารกัมพูชาวางกำลังไว้อย่างหนาแน่น และสามารถยึดพื้นที่ได้สำเร็จเมื่อช่วงเย็นของวานนี้ แต่ยังคงมีความพยายามจากฝ่ายกัมพูชาในการเข้าตีเพื่อแย่งยึดพื้นที่คืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการระดมยิงปืนใหญ่และเตรียมการจัดกำลังเข้าตีตอบโต้ฝ่ายไทย ก่อนที่ฝ่ายไทยจะยึดไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเมื่อเช้าวันที่ 26 ก.ค. 68 ที่ผ่านมา

ทหารไทยปักธงชาติไทยที่ภูมะเขือ (ภาพ : เพจ กองทัพบก ทันกระแส)

ทหารไทยปักธงชาติไทยที่ภูมะเขือ (ภาพ : เพจ กองทัพบก ทันกระแส)




กำลังโหลดความคิดเห็น