xs
xsm
sm
md
lg

เปี่ยมด้วยมนต์ขลัง “อรรธนารีศวรประทับนั่ง” หนึ่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากใครได้มาเยือนจังหวัดอุบลราชธานี และมีโอกาสเข้ามาที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี” ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาด ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีโบราณวัตถุชิ้นเอกที่โดดเด่นและเปี่ยมด้วยมนต์ขลัง นั่นคือ “อรรธนารีศวรประทับนั่ง” หนึ่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“อรรธนารีศวรประทับนั่ง” อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 (ประมาณ 1,400 ปีมาแล้ว) สลักจากหิน เป็นรูปบุคคลประทับนั่งขัดสมาธิ ไขว้พระบาทบนฐานบัวหงายทรงสี่เหลี่ยม มีสองกร พระหัตถ์(มือ)ทั้งสองข้างหักหายไป ปรากฏพระเนตร(ดวงตา)ที่สามที่พระนลาฏ(หน้าผาก)


พระอรรธนารีศวร คือรูปเคารพที่มีการผสมระหว่าง พระศิวะ และพระนางปารวตี (พระแม่อุมาเทวี) โดยแสดงเป็น ประติมากรรมที่มีด้านหนึ่งเป็นเพศชาย ด้านหนึ่งเป็นเพศหญิงรวมอยู่ในร่างเดียวกัน สะท้อนให้เห็นหลักปรัชญาของลัทธิไศวะที่ว่า พระศิวะและพระชายาทรงรวมอยู่ในกายอันเดียวกัน อันเป็นเหตุแห่งจักรวาล อธิบายได้ถึงการก่อเกิดสรรพสิ่งบนโลกและจักรวาล หากไม่มีการรวมกันแล้ว ทุกสิ่งที่ไม่สามารถก่อเกิดและดำเนินไปได้


ลักษณะประติมากรรมสลักเป็นรูปพระศิวะและพระอุมารวมกันเป็นองค์เดียว ประทับขัดสมาธิราบ บนฐานบัวหงาย ยกพระกรทั้งสองข้างขึ้นเหนือพระเพลา (พระหัตถ์หักหายไป) พระพักตร์ค่อนข้างยาว พระเนตรที่ 3 ปรากฏอยู่บนกึ่งกลางพระนลาฏ พระเกศาเกล้าสูง ทรง กุลฑลขนาดใหญ่และพาหุรัดลายดอกไม้ กรองศอเรียบไม่มีลวดลาย พระวรกายซีกขวาแสดงลักษณะ บุรุษ หรือพระศิวะ พระเกศาเป็นขมวดกลม มีไรพระมัสสุ นุ่งผ้าสั้นเหนือพระชงฆ์ คาดเข็มขัด ลายเชือกถัก มีบ่วงบาศคล้องที่ข้อพระหัตถ์ พระวรกายซีกซ้ายแสดง




ลักษณะของสตรีหรือพระอุมา ทรงทองพระกรและนุ่งผ้ายาวจรดข้อพระบาท มีแนวชายผ้าพาดจากใต้พระเพลาไปยังข้อพระกร เข็มขัดเป็นลายลูกปะคำ และยังมีรายละเอียดของเครื่องประดับ โดยเฉพาะ กุณฑล(ต่างหู)ขนาดใหญ่นั้นคล้ายคลึงกับที่พบใน กลุ่มประติมากรรม ศิลปะจามในระยะแรก เช่น รูปยักษ์จากตราเกียว ในพิพิธภัณฑสถานเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ส่วนผ้านุ่งใกล้เคียงกับผ้านุ่งของพระศิวะจากโบราณสถานมิเซน A1 ประเทศเวียดนาม อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่เดียวกัน

การบูชาพระอรรธนารีศวรถือว่าเป็นการบูชาเทพเจ้าสอง องค์ในคราวเดียวกัน ทำให้มีความนิยมแพร่หลาย และแพร่ ออกมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


พระอรรธนารีศวรองค์นี้นับว่าเก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งในเอเชียอาคเนย์ และมีลักษณะที่ค่อนข้างพิเศษ ในด้านกายวิภาคที่ทรงประทับนั่ง ซึ่งแตกต่างจากอรรธนารีศวรที่ส่วน ใหญ่พบในลักษณะประทับยืนตริภังค์ คือการยืนเอียง 3 ส่วน ได้แก่ หัวไหล่ สะโพก และขา

จึงถือได้ว่าอรรธนารีศวรประทับนั่งองค์นี้ เป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ และยังเป็นศิลปะชิ้นเยี่ยมของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น