xs
xsm
sm
md
lg

สุดเศร้า “พงศกร” เสือโคร่งสุดสง่าแห่งป่าห้วยขาแข้ง จากไปอย่างสงบแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Thailand Tiger Project DNP
“พงศกร” เสือโคร่งสุดสง่าแห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง ได้ลากลับดาวเสือไปอย่างสงบแล้ว หลังช่วยรักษาสมดุลของห่วงโซ่อาหารมานานนับ 10 ปี และช่วยขยายเผ่าพันธุ์เสือโคร่งออกไปอีกมากมาย

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Thailand Tiger Project DNP
เฟซบุ๊กเพจ Thailand Tiger Project DNP แจ้งข่าวเศร้าหลังสูญเสีย “พงศกร” เสือโคร่งสุดสง่าแห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง พร้อมเล่าเรื่องราวไว้ว่า

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 สามารถรับสัญญาณVHFจากปลอกคอพงศกรได้จากจุดชมวิวเขานางรำ แต่จังหวะของเสียงที่ได้ยินนั้นแตกต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะว่าครั้งนี้นั้นมีจังหวะที่ถี่ขึ้น ซึ่งหมายความว่า สัตว์นั้นหยุดนิ่งเกินกว่าสี่ชั่วโมง หรือ ปลอกนั้นหลุดอัตโนมัติ

วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 รับสัญญาณวิทยุจากยอดซับน้อย จนได้จุดตัดกับทิศทางที่รับสัญญาณจากยอดซับเก้า จึงทำให้รู้ได้ว่าปลอกคอพงศกรนั้นอยู่ที่บริเวณหนึ่งของลำห้วยสองทางซึ่งห่างจากเส้นทางหลักราว 2 กม.

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Thailand Tiger Project DNP
เมื่อทีมวิจัยเข้าใกล้พื้นที่เป้าหมาย ได้พบเห็นรอยคุ้ยบนพื้นดินขนาดใหญ่หลายรอยซึ่งเป็นการแสดงถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่บริเวณนั้น ประกอบกับเสียงจากเครื่องรับสัญญาณนั้นดังรอบทิศ จึงมั่นใจว่า พงศกรต้องเข้ามาในบริเวณนี้แน่นอน

การเจอรอยคุ้ยพื้นดินถี่ๆ มักเกิดขึ้นในบริเวณที่ล่าเหยื่อได้ ซึ่งเหตุการณ์ที่เจอครั้งนี้ทีมวิจัยจึงแอบหวังว่า ปลอกคอพงศกรอาจหลุดหลังจากที่ล่าเหยื่อได้ จึงได้กระจายกันค้นหากระทั่ง “เจอแล้วครับ” ตะโกนดังออกมา ทำให้ทุกคนมุ่งหน้าเข้าหาต้นเสียง

ภาพที่ปรากฏชัดต่อสายตาทุกคนคือ ปลอกคอ98703 อยู่ในท่าตะแคงบนพื้นทรายคล้ายรัดหุ้มหนังลายเสือไว้ในวงตรงกลาง นอกเหนือจากปลอกคอและหนังเสือส่วนคอถึงหัวไหล่แล้ว สิ่งที่เห็นคือโครงสร้างกระดูกที่นอนทอดยาวภายใต้ร่มเงาของต้นไม้

สภาพพื้นที่โดยรอบซากพงศกรนั้นก็ไม่ปรากฏรอยตีนสัตว์อื่นๆ บ่งบอกได้ว่าไม่มีการถูกรบกวนจากสัตว์กินเนื้อชนิดอื่นๆ มีเพียงรอยตีนเสือโคร่งเพศผู้ซึ่งคาดว่าคงเป็นรอยของตัวมันเองที่เป็นรอยเดินเข้าแล้วล้มตัวลงนอนก่อนหลับจนลับไป จึงไม่ปรากฏรอยเดินออก

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Thailand Tiger Project DNP
2015-2025 คือช่วงเวลาที่พงศกร พัฒนา เติบโต อย่างสง่างาม และแสดงบทบาทของผู้ล่าที่ช่วยควบคุม รักษา ความสมดุลย์ระหว่างสัตว์กีบที่เป็นเหยื่อกับพืชพรรณที่เป็นผู้ผลิต ทำให้เกิดการถ่ายทอดและลื่นไหลของพลังงานในห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศป่าไม้ของห้วยขาแข้ง จนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย มันก็ยังคงได้ส่งคืนพลังงานลงสู่ผืนดิน

2019-2024 ช่วงโอกาสของการสร้าง และขยายเผ่าพันธุ์ เพื่อให้เสือโคร่งไทยยังคงมีอยู่คู่ป่าไทย
+ รุ้ง = เธียร, เจนจิ
+ วียา =HKT 329, HKT330
+ปิ่น = นัทธ, ภานันท์
+ อภิญญา = สอนสา , สรณ์สืบ

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น