“ไดโนเสาร์” แม้จะสูญพันธุ์ไปจากโลกเมื่อราว 65 ล้านปีมาแล้ว แต่วันนี้เรื่องราวของมันยังคงอยู่ให้มนุษย์ได้ขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) ขึ้นมาค้นคว้าศึกษาถึงความน่าทึ่งของเหล่าบรรดาสัตว์ยักษ์เหล่านี้กันอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งค้นพบไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์อื่น ๆ ที่จัดว่าไม่ธรรมดาแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งล่าสุด “นิทรรศการไทยโนเสาร์” ถือเป็นอีกหนึ่งการตอกย้ำว่าไดโนเสาร์ในเมืองไทยนั้นมีความยิ่งใหญ่และน่าทึ่งแห่งหนึ่งของโลก
นิทรรศการไทยโนเสาร์ หรือ “ไทยโนซอร์” (THAINOSAUR) จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมถึง 2 พฤศจิกายน 2568 เวลา 10.00 – 18.00 น. ที่ “ท่าพิพิธภัณฑ์” ท่าช้าง กรุงเทพมหานคร งานนี้เป็นนิทรรศการที่รวบรวมเรื่องราวของไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์สัญชาติไทยต่าง ๆ เอาไว้อย่างหลากหลายครบเครื่อง ทั้งหุ่นจำลองไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์ขนาดเท่าของจริงในรูปแบบเสมือนจริง มีเนื้อหนังสีสัน ท่วงท่าดูมีชีวิต ร่วมด้วยหุ่นจำลองโครงกระดูก (ผสมของจริง) ซากดึกดำบรรพ์ หรือ “ฟอสซิล” ของจริงหาชมยาก และฟอสซิลจำลองแบบเสมือนจริงมาให้ชมกันเพียบ
นอกจากนี้ก็ยังมีข้อมูลชุดความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ในบ้านเราแบบสรุปเข้าใจง่าย คอยบอกอยู่ตามจุดต่าง ๆรวมถึงแอนิเมชันที่สร้างขึ้นจากหลักฐานทางบรรพชีวินวิทยาอันน่าตื่นตาตื่นใจให้ชม ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนอ้างอิงจากข้อมูลงานวิจัยตามหลักบรรพชีวินวิทยาอย่างถูกต้องตรงปก
อีกทั้งยังมีการจัดแสดงผลงานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากไดโนเสาร์ ของศิลปิน 4 คน คือ ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์, ฮ่องเต้-กนต์ธร เตโชฬาร, ปั๋น-ดริสา การพจน์ (Riety) และ จิรภาส เจริญพร (DAYY) ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานชวนชมสอดแทรกไปในพื้นที่ของการจัดนิทรรศการอย่างกลมกลืน
“พิริยะ วัชจิตพันธ์” ผู้ก่อตั้งท่าพิพิธภัณฑ์ และผู้จัดงานไทยโนเสาร์ ซึ่งชื่นชอบไดโนเสาร์มาตั้งแต่เด็ก เปิดเผยว่า ตนสะสมฟอสซิลมากว่า 30 ปี ทำให้มีฟอสซิลอยู่เป็นจำนวนมาก เลยคิดว่าจะทำยังไงให้สิ่งเหล่านี้เกิดประโยชน์ขึ้นมา จึงนำฟอสซิลที่สะสม (บางส่วน) มาจัดแสดงในงานนี้ เพื่อให้คนทั่วไปรับรู้ว่าเมืองไทยมีศักยภาพและหลักฐานทางบรรพชีวินวิทยาที่น่าทึ่ง
“บ้านเรามีไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์หลายร้อยชนิด ที่ไม่เคยพบเจอที่ไหนในโลกนอกจากประเทศไทย รวมถึงไดโนเสาร์ที่ค้นพบใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน นิทรรศการนี้จัดขึ้นเพื่อให้คนไทยได้รับรู้และภูมิใจว่า ไดโนเสาร์ไทยก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้สายพันธุ์อื่นในโลก” พิริยะ กล่าว
ด้านนอก
สำหรับไฮไลต์ชวนชมของงานนี้มีให้ดูกันเพียบ เริ่มจากโซนด้านนอก กับหุ่นจำลอง “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่” ไดโนเสาร์กินพืชขนาดยักษ์ขนาดเท่าตัวจริง ตัวใหญ่ยาวเกือบ 20 เมตร ที่ตั้งโดดเด่นเป็นดังแลนด์มาร์กของงานอยู่หน้าโครงการ
ส่วนถัดเข้ามาที่ด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์จะเป็นงานหุ่นจำลองช้างดึกดำบรรพ์เสมือนจริง นำโดย “สเตโกดอน” งายาวเฟื้อย ซึ่งเป็นช้างดึกดำบรรพ์ที่มีความใกล้เคียงกับช้างปัจจุบันแต่ว่ามีขนาดใหญ่กว่ากันมาก ร่วมด้วย ไซโกโลโฟตอน, โปรตานันคัส และโปรไดโนธีเรียม เพนตาโปตามิเอ
ชั้น 1
จากนั้นเมื่อเดินเข้าสู่ภายในอาคารจัดแสดงชั้นที่ 1 จะปูพื้นเราด้วย “มหายุคพาลีโอโซอิก” (อายุราว 542-251 ล้านปี) ซึ่งเป็นยุคแห่งสัตว์ทะเลโบราณที่มีสัตว์ดาวเด่นอย่าง “ไทรโลไบต์” ที่อยู่ในกลุ่มสัตว์ขาปล้อง ร่างกายแบ่งเป็น 3 ส่วนตามชื่อนำ “สยามนอติลุส”หรือ หอยงวงช้างดึกดำบรรพ์ และ “สยามโมดัส ณองเวียริ” หนึ่งในปลากระดูกอ่อนที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย โดยค้นพบเพียงส่วนฟันที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีอายุเก่าแก่กว่า 360 ล้านปีเลยทีเดียว
ต่อมาเป็นเรื่องราวของสัตว์ในมหายุคพาลีโอโซอิกที่วิวัฒนาการจากสัตว์ทะเล ขึ้นไปใช้ชีวิตบนบกใน “มหายุคมีโซโซอิก” (อายุราว 251-65 ล้านปี) หรือยุคไดโนเสาร์ครองโลก ที่แบ่งออกเป็น 3 ยุคด้วยกัน เริ่มจาก “ยุคไทรแอสซิก” ที่มีหุ่นจำลอง “ไทยซอรัส จงลักษมณีอี” สัตว์เลื้อยคลานทะเลที่มีรูปร่างคล้ายโลมาค้นพบที่จังหวัดพัทลุง และ “ไซโคลโตซอรัส” สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่ดูคล้ายตัวซาลาแมนเดอร์ขนาดยักษ์พบที่จังหวัดชัยภูมิ
ขณะที่ตัวไฮไลต์ของโซนชั้น 1 คือ หุ่นจำลองโครงกระดูกของ “อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ” ในยุคไทรแอสซิกตอนปลายยืนตระหง่าน แสดงให้เห็นว่ายุคนั้นเมืองไทยมีไดโนเสาร์ซอโรพอด (ไดโนเสาร์กินพืช) อย่าง “อีสานโนซอรัส” ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกบนโลก เป็นดังการเปิดประเดิมโลกยุคไดโนเสาร์ของงานนี้
ชั้น 2
ถัดไปเป็นไฮไลท์ห้ามพลาดของงานที่ชั้น 2 กับ 2 ยุคที่เหลือของมหายุคมีโซโซอิก ได้แก่ “ยุคจูแรสซิก” (ยุค 2) ที่เป็นยุคทองของไดโนเสาร์บนโลกใบนี้ กับ “ยุคครีเทเชียส” (ยุค 3 ) ยุคสุดท้ายของไดโนเสาร์ก่อนจะสูญพันธุ์ ซึ่งบ้านเรามีการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกในยุคนี้อยู่หลายตัวด้วยกัน
สำหรับไดโนเสาร์ดาวเด่นที่จัดแสดงในชั้น 2 นั้นก็อย่างเช่น แก๊ง 3 ดาวดังแห่งโซนสุสานไดโนเสาร์ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ในหมวดหินภูกระดึงแห่งยุคยุคจูแรสซิก นำโดย “สเตโกซอรัส” ไดโนเสาร์หุ้มเกาะตัวแรกแห่งแดนสยาม มีลักษณะเด่นคือมีเดือยหนามกลางลำตัวและปลายหาง แถมยังมีหน้าตาดูแบ๊วอีกต่างหาก ร่วมด้วย “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” ไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็กที่ดูคล้ายนก และ “ไทแรนโนซอรอยด์” ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็กที่เป็นญาติเก่าแก่กับ ที.เร็กซ์
นอกจากนี้ก็ยังมีไดโนเสาร์ดาวดังแห่งยุคครีเทเชียส อย่าง สยามโมไทรันนัส, ภูเวียงโกซอรัส, กินรีไมมัส, ไดเครโอซอริด และ “ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ” ไดโนเสาร์เทอโรพอด (ไดโนเสาร์กินเนื้อ) ขนาดกลาง อีกหนึ่งไดโนเสาร์สัญชาติไทยชนิดใหม่ของโลก อยู่ในวงศ์เมกะแรพเตอราที่ได้รับฉายาว่าเป็น “นักล่าแห่งเทือกเขาภูเวียง”
รวมถึง “สยามโมซอรัส สุธีธรนิ”ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ชนิดแรกที่พบในเมืองไทย และเป็นไดโนเสาร์ตัวแรกที่มีการตั้งชื่อขึ้นในเมืองไทย อายุประมาณ 130 ล้านปีก่อน ที่จัดแสดงคู่กับ “ชาละวัน ไทยแลนดิคัส”หนึ่งในสมบัติสำคัญของชาติไทย มีอายุประมาณ 150 ล้านปีก่อน คาบเกี่ยวในยุคจูราสสิคตอนปลายถึงครีเทเชียสตอนต้น ซึ่งเมื่ออ้างอิงจากฟอสซิลที่ค้นพบ จะมีความยาวมากกว่า 10 เมตรเลยทีเดียว ถือเป็นพญาชาละวัน หรือ จระเข้ยักษ์แห่งแดนสยาม ที่ถ้า “ไกรทอง” มาเจอตัวเป็น ๆ อาจชั่งใจว่าจะสู้หรือวิ่งหนีป่าราบดี
ไม่เพียงเท่านั้น ในชั้นนี้ยังมีกะโหลกของจระเข้ดึกดำบรรพ์จำนวนหนึ่ง นำโดยตัวท็อป “วาราโนซูคัส” หรือ “จระเข้หน้าเหี้ย” ที่โด่งดังจนเป็นไวรัลสุดปังเมื่อปีที่แล้ว (2564) และดาวดังตัวล่าสุดคือ “การูแดปเทอรัส บุฟโตติ” เทอโรซอร์ (สัตว์เลื้อยคลานบินได้ร่วมยุคไดโนเสาร์) ชนิดใหม่ของโลกและเป็นชนิดแรกที่พบในเมืองไทย จากแหล่งซากดึกดำบรรพ์พระปรง จังหวัดสระแก้ว ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานในปีนี้ (2568)
ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของการจัดแสดงที่ชั้น 2 คือ หุ่นจำลองไดโนเสาร์ต่าง ๆ นั้น จัดแสดงแบบเสมือนจริง มีหน้าตา เส้นขน เกล็ด กล้ามเนื้อ ผิวหนัง จะงอยปาก แก้ม ลวดลาย ฟัน เล็บ และมีสีสันสวยงาม ซึ่งอ้างอิงจากงานวิจัยทางบรรพชีวิน
อัฑฒ์ ศรีวิสาร นักวิจัยด้านบรรพชีวินวิทยารุ่นใหม่ ให้ข้อมูลเรื่องสีของไดโนเสาร์ที่นำมาสู่การสร้างสรรค์หุ่นจำลองแบบเสมือนจริงในงานนี้ ว่า “การค้นพบที่น่าทึ่งคือ “สีของไดโนเสาร์” ที่เกิดจากร่องรอยเมลาโนโซม (Melanosome) กระเปราะเม็ดสีของผิวหนังและสีขนที่แท้จริงของไดโนเสาร์ที่มีความใกล้เคียงกับสีของนก ทำให้นักบรรพชีวินวิทยาทราบว่าไดโนเสาร์บางตัวมีสีสันสวยกว่าที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์หรือนิทรรศการทั่วไป”
ชั้น 3
มาปิดท้ายกันที่ชั้น 3 เป็นการจัดแสดงช่วงเวลาสุดท้าย (ยุคครีเทเชียส) ของไดโนเสาร์สัญชาติไทย (และทั่วโลก) ในรูปแบบหุ่นจำลองโครงกระดูกที่มีการผสมของจริงเข้าไปในบางส่วนด้วย โดยมีไฮไลท์อยู่ที่ ภูเวียงโกซอรัส, ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ และ “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” ไดโนเสาร์กินเนื้อสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทยเท่าที่มีการค้นพบมาจนได้รับฉายาว่าเป็น “นักล่าแห่งสยาม”
นอกจากนี้ส่วนนิทรรศการที่ชั้น 3 ยังมีอีกหนึ่งโซนสำคัญ ซึ่งเป็นการส่งต่อจากยุคครีเทเชียส ยุคสุดท้ายของมหายุคมีโซโซอิก หลังไดโนเสาร์ชุดสุดท้ายสูญพันธ์ไปจากโลกเข้าสู่มหายุคใหม่คือ “มหายุคซีโนโซอิก” (ชีวิตใหม่) ที่มีอายุประมาณ 65 ล้านปีก่อนมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นมหายุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
สำหรับไฮไลต์ในโซนสุดท้าย (มหายุคซีโนโซอิก) มีการจัดแสดงทั้งหุ่นจำลองเสมือนจริง หุ่นจำลองโครงกระดูก ซากฟอสซิล โครงกระดูก ฟัน กะโหลก และเขาสัตว์ ของบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดึกดำบรรพ์ต่าง ๆ ที่สูญพันธุ์ไปจากโลก อาทิ ช้าว 4 งาน เสือโบราณ ลิงโบราณ แรดโบราณ รวมถึงสัตว์ยุคปัจจุบันบางชนิดที่สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น แรด (ในไทย) กระซู่ ตะโขง กูปรี และ “สมัน”
สมันเป็นกวางชนิดหนึ่งที่ได้ชื่อว่ามีเขาสวยงามที่สุดในโลก พบเจอเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย มีเนื้ออร่อยมากจนมีเรื่องเล่ากันว่าสมัยก่อนคนเรียกเจ้าสัตว์ชนิดนี้ว่า “เนื้อสวรรค์” ก่อนที่จะเพี้ยนมาเป็น “เนื้อสมัน” และ “สมัน” ในเวลาต่อมา (อ้างอิงข้อมูลจาก พิริยะ วัชจิตพันธ์)
แต่อนิจจา...พวกมันกลับถูกไล่ล่าสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยและสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้อย่างน่าสะเทือนใจ จากน้ำมือของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกประเภทหนึ่งที่ครองโลกในยุคปัจจุบันคือ “มนุษย์” ที่ถือดีว่าตัวเองมีปัญญาฉลาดเลิศเลอกว่าทุกสายพันธุ์ แต่กลับทำลายล้างทุกเผ่าพันธุ์อย่างไม่ยี่หระ
...ทำลายล้างแม้กระทั่งเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยกันเอง...
และนี่ก็คือบางส่วนจากงานนิทรรศการไทยโนเสาร์ หรือ ไทยโนซอร์ ที่มีมากกว่าการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์ต่าง ๆ ในบ้านเรา ซึ่งพิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้จัดงานนี้ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมทิ้งท้ายถึงอีกหนึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ว่า
...การจัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนได้ระลึกว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ (ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดยุคปัจจุบัน) ที่เคยมีมากมายในเมืองไทย แต่มันกลับถูกทำลายจนสูญพันธุ์ไปจากน้ำมือมนุษย์ ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่เราต้องหวงแหน รักษา และอนุรักษ์สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองไทย (บรรดาสัตว์ต่าง ๆ) ให้อยู่กับเราไปตราบนานที่สุด มิฉะนั้นเราจะไม่เหลืออะไรเลย...
#######################
นิทรรศการไทยโนเสาร์ หรือไทยโนซอร์ (THAINOSAUR) จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคมถึง 2 พฤศจิกายน 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ ท่าพิพิธภัณฑ์ (Museum Pier) โครงการท่าช้าง วังหลวง ค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เด็ก 150 บาท ผู้ใหญ่ 250 บาท / ชาวต่างชาติ เด็ก 250 บาท ผู้ใหญ่ 350 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 082-896-1929
***หมายเหตุ : ควรดูแอนิเมชันหรืออ่านข้อมูลที่ทางผู้จัดงานติดตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ภายในงานประกอบ เพื่อให้ได้อรรถรสในการชมนิทรรศการไทยโนเสาร์มากยิ่งขึ้น