พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกทัพเข้าตีเมืองจันทบุรี และทรงสามารถตีเมืองจันทบุรีได้สำเร็จในวันที่ “15 มิถุนายน พ.ศ. 2310" หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าแล้ว 2 เดือน การตีเมืองจันทบุรีในครั้งนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการกอบกู้เอกราชของสยาม
หนึ่งในประวัติศาสตร์ก่อนจะมาเป็นสยามประเทศ สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ หรือพระยาวชิรปราการ (สิน) ในขณะนั้น ได้รวบรวมไพร่พลทหารราว 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมาทางทิศตะวันออก โดยใช้ช้างพังคีรีกุญชรพังประตูเมือง เข้ายึดเมืองจันท์ได้สำเร็จ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เพลา 3 ยามเศษ ตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 03.00 น. หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน และได้รวบรวมกำลังอยู่ที่เมืองจันทบุรี
พระเจ้าตากฯ ทรงเห็นว่าจันทบุรีมีชัยภูมิที่เหมาะสมในทางยุทธศาสตร์ เพราะเป็นหัวเมืองชายทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีสงคราม และมีชาวจีนแต้จิ๋ว เชื้อสายเดียวกันกับพระองค์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงใช้เมืองจันท์เป็นฐานที่มั่น ก่อนจะรวบรวมหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกได้ทั้งหมด กลายเป็นส่วนสำคัญของการนำไปสู่การกอบกู้เอกราชได้ในที่สุด และสามารถรวบรวมผู้คนกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาจากพม่าได้ภายในเวลา 7 เดือน
หนึ่งในสถานที่น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงกอบกู้เอกราชให้แผ่นดินไทยที่เมืองจันทบุรี ต้องแวะไป “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เมืองจันทบุรี ซึ่งมีสถาปัตยกรรมโดดเด่น ทรงเก้าเหลี่ยมสร้างด้วยหินอ่อน หลังคาเป็นรูปพระมาลายอดแหลม สูงจากพื้นถึงยอด 16.9 เมตร ประดับลวดลายทอง ยอดบนเป็นฉัตรทองคำเก้าชั้นวิจิตรงดงาม ภายในมีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หล่อด้วยทองเหลืองรมดำ ประทับนั่งทรงเมือง ผนังภายในเขียนลายไทยพุ่มข้าวบิณฑ์ไว้อย่างสวยงาม
ศาลแห่งนี้ เป็นที่เคารพสักการะของชาวจันทบุรีมาเนิ่นนาน และเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำหรับผู้มาเยือนเมืองจันท์ครั้งแรก ควรค่าแก่การแวะมาสักการะ
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน ไม่มีวันหยุด และไม่เสียค่าธรรมเนียมในการเข้าชม
ตั้งอยู่บนถนนท่าหลวง บริเวณหน้าค่ายตากสิน ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี