"ดร.ธรณ์" โพสต์ถึงโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงของรัฐบาล ระบุต้องควบคุมพื้นที่ก่อสร้าง บริหารจัดการให้ดี ทั้งเรื่องนักท่องเที่ยว ขยะ ลูกหาบ ช่วงหน้าฝนปิดภูจะจัดการอย่างไร เป็นต้น "...ไม่งั้นเราจะได้เสามาเป็นอนุสาวรีย์กลางป่า ถลุงเงินที่ไม่ค่อยจะมีอยู่แล้วไปกับสิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์..."
หลัง “รัฐบาลแพทองธาร” ประกาศเดินหน้าเต็มสูบใน “โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง” โดยระบุว่าเป็นการสร้างกระเช้าอย่างรับผิดชอบ ออกแบบโดยไม่รบกวนธรรมชาติ พร้อมเปิดไทม์ไลน์ 8 ขั้นตอน ตั้งเป้าเริ่มเปิดใช้ปลายปี 2570
เรื่องนี้กลายเป็นอีกทอล์คออฟเดอะทาวน์บนโลกโซเชียลที่มีทั้งเสียงคัดค้าน-สนับสนุน กันอย่างสูสี ขณะที่ในแวดวงนักวิชาการและนักอนุรักษ์ก็มีการพูดถึงโครงการดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง
หนึ่งในนั้นก็คือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อมแนวหน้าของประเทศ ที่ได้แสดงความเห็นถึงโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง เมื่อวันที่ 24 พ.ค.68 ผ่านเฟซบุ๊ก บัญชีรายชื่อ Thon Thamrongnawasawat ว่า
...ตั้งใจถ่ายภาพเสาเคเบิ้ลคาร์กลางป่าใหญ่มาให้เพื่อนธรณ์ดู เพื่อพูดถึงเคเบิ้ลคาร์ที่ภูกระดึง
โครงการนี้พูดกันมาหลายครั้งหลายหนตลอดเวลาเป็นสิบๆ ปี แต่ละฝ่ายล้วนมีความคิดและมุมมอง
สำหรับผม อยากบอกว่าเราต้องโฟกัสให้ตรงจุดเพื่อตอบคำถามที่คนสงสัย
อันดับแรก เคเบิ้ลคาร์ส่งผลกระทบมากไหม ? ถ้ากล่าวถึงเฉพาะเสา คงไม่มีปัญหาอะไรมาก เพราะกินพื้นที่นิดเดียว
ในส่วนของการใช้กระเช้า เสียงไม่ดัง ไม่ก่อมลพิษระหว่างทาง ประเด็นนี้ผ่าน
สำคัญคือต้องคุมการก่อสร้างให้ดี ไม่ใช่ถางป่าหลายสิบเมตรเพื่อสร้างเสา จึงถ่ายภาพนี้มาให้ดูว่า ป่าติดกับเสาได้ ไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะแยะ
คำถามสำคัญอยู่ที่จะจัดการอย่างไรกับนักท่องเที่ยวจำนวนมากบนยอดเขา
แน่นอนว่าต้องมากพอให้ดำเนินการต่อได้ ไม่งั้นเราจะได้เสามาเป็นอนุสาวรีย์กลางป่า ถลุงเงินที่ไม่ค่อยจะมีอยู่แล้วไปกับสิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์
หากดูจากญี่ปุ่น สถานีข้างบนกำหนดเขตแน่นอน ไม่มีการขยายไปเรื่อย สิ่งก่อสร้างชัดเจนว่ามีแค่นี้ก็แค่นี้
ปรกติจะรวมอยู่ในอาคารเดียว จะมีเทรลให้เดิน แบบสั้นไปจุดชมวิวประจำสถานี แบบยาวไปตามจุดต่างๆ
ตรงนี้ต้องเอาให้ชัด หากจะทำรถรางหรือพาหนะใดๆ ไปรอบๆ อันนี้ต้องระวังให้มาก เพราะจะรบกวนระบบนิเวศมากกว่าสร้างกระเช้าด้วยซ้ำ
เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ขี้เกียจเดินขึ้น คงแค่เดินไปถ่ายภาพกับป้าย เดินไปจุดชมวิวใกล้ๆ เข้าร้านของที่ระลึก ซื้อน้ำจิบกาแฟ จากนั้นก็ลง
ปรกติใช้เวลาสักชั่วโมงบนนั้น คงมีไม่มากที่จะเดินหลายกิโลไปจุดอื่นๆ
แต่ถ้าอยากไป ก็ควรต้องเดินเหมือนคนที่ปีนขึ้น ไม่ควรมีพาหนะหรือใดๆ ที่ต่างไปจากปัจจุบัน
อ้าว แล้วจะมีคนขึ้นพอเหรอ ? นั่นคือคำถามสำคัญที่ฝ่ายสนับสนุนต้องคิด
หากอยากสร้างรถรางหรือพาหนะใดๆ ขนคนไปตามจุดต่างๆ ก็ควรยกตัวอย่างเคเบิ้ลคาร์ในอุทยานแห่งชาติต่างประเทศที่ขึ้นไปแล้วมีรถรางหรือพาหนะที่ต้องก่อสร้างเยอะๆ พาคนไปตามธรรมชาติรอบๆ
ตัวอย่างแบบนั้นมีไว้ให้คนเชื่อใจว่าทำได้ แม้ว่าอาจมีข้อสงสัยว่าทำในไทยจะได้เหรอ แต่มีย่อมดีกว่าไม่มีตัวอย่าง
ต้องเอาขนาดใกล้เคียงกันกับภูกระดึงนะฮะ ไม่ใช่จางเจี่ยเจี้ย
ยังมีอีกหลายคำถาม เช่น ช่วงปิดภูให้ธรรมชาติพักฟื้น ยังขึ้นกระเช้าได้ไหม ?
ถ้าขึ้นไปแล้วอยู่เฉพาะที่สถานีก็พอว่า แต่ถ้าให้เดินไปรอบๆ แบบนั้นก็ขัดต่อมาตรการพักฟื้นธรรมชาติที่ทำกันมาเนิ่นนานหลายสิบปี
เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรให้คนขึ้นพอเลี้ยงกระเช้าได้ โดยเฉพาะในหน้าท่องเที่ยวโลว์ซีซั่นที่ตรงกับช่วงปิดพอดี
ยังมีอีกหลายคำถาม เช่น จัดการขยะ น้ำทิ้ง อย่างไรให้หมดจด ไม่เหลือค้างไว้บนภู ดูแลพี่น้องลูกหาบอย่างไรไม่ให้เกิดผลประทบ ฯลฯ
การตอบคำถามเหล่านี้ให้ชัดเจน มีแผนรองรับ จะช่วยให้คนมั่นใจและเกิดประโยชน์
ไม่เช่นนั้นเราอาจเสียเงินหลายร้อยล้านแต่ได้แค่เสามาปักโด่เด่อยู่กลางป่า และสถานีร้างที่ไม่มีใครกล้ารื้อถอน
ใจเย็น รอบคอบ ตอบได้ ตอบไม่ได้ก็ไม่ควรสร้าง
การถามความคิดเห็นต้องมีคำตอบด้วยครับ การถามเฉยๆ ไม่นับว่าทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
หวังว่าโครงการนี้ดำเนินไปอย่างโปร่งใส ชัดเจน และตอบคำถามได้ครับ
สำหรับโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง รัฐบาลโดย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มอบหมายให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ประสานงานกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อย่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน รวมถึงการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการนี้ไม่เพียงถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องมีความเข้าใจและความร่วมมือจากคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ในส่วนของแผนการออกแบบและก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง มีขั้นตอนหลักด้วยกัน 8 ขั้นตอน ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี 6 เดือนโดยประมาณ นับจากเดือนพฤษภาคม 2568 ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2570 ซึ่งขณะนี้ อพท. ได้วางกรอบการดำเนินงานไว้อย่างรอบคอบ ทุกขั้นตอนอยู่ภายใต้กฎหมายและกลไกการกลั่นกรองที่ชัดเจน
โดยในระยะที่ 1 (ขั้นตอนที่ 1-3) ระยะเวลาการดำเนินงานโดยประมาณ 10 เดือน (พฤษภาคม 2568 – มีนาคม 2569) จะเป็นส่วนของการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างละเอียด โดยศึกษาครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม กายภาพ สังคม สุขภาพ และวิถีชุมชน มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเปิดกว้าง รวมถึงภาคประชาสังคมอย่างเต็มที่
ระยะที่ 2 (ขั้นตอนที่ 4-6) ระยะเวลาการดำเนินงานโดยประมาณ 5 เดือน (เมษายน - สิงหาคม 2569) เข้าสู่กระบวนการยื่นเสนอรายงาน EIA ซึ่งจะต้องทำการเสนอกับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) และต้องได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ล้วนประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระและมีความเป็นกลางอย่างสูงในการพิจารณา ก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี รวมถึงขออนุญาตการก่อสร้างต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ระยะที่ 3 (ขั้นตอนที่ 7-8) ระยะเวลาการดำเนินงานโดยประมาณ 15 เดือน (กันยายน 2569 – พฤศจิกายน 2570) เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างโดยประมาณ 12 เดือน
สำหรับโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงมีการศึกษามากว่า 30 ปี เบื้องต้นผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงในยุครัฐบาลแพทองธาร มีระยะทางรวม 4.4 กิโลเมตร คาดว่าใช้งบประมาณร่วม 1,000 ล้านบาท โดยมีจำนวนกระเช้า 32 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ตู้ละ 8 คน