“วัดป่าวังน้ำเย็น” หนึ่งในวัดดังแห่งภาคอีสาน ช่วงนี้กำลังเป็นที่จับจ้องของสังคมไทยอีกครั้ง หลังเกิดประเด็นดราม่าบนโลกโซเชียล เนื่องจากถูกเพจดังโจมตีว่าเป็นแหล่งฟอกเงิน จนทางวัดต้องดำเนินการแจ้งความต่อเพจดังกล่าว ที่ทำให้เสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง
งานนี้ชาวเน็ตส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยว่าควรใช้กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันว่า “ใครถูก-ใครผิด” และเรียกร้องให้แอดมินเพจที่ถูกแจ้งความซึ่งอยู่ในต่างประเทศเดินทางมาสู้คดีในบ้านเรา ไม่ใช่โพสต์กล่าวหาคนอื่นลอย ๆ เรียกดราม่าแล้วเปิดรับเงินบริจาคอยู่ร่ำไป
สำหรับวัดป่าวังน้ำเย็น หรือชื่อทางการคือ “วัดพุทธวนาราม” เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ที่ บ้านวังน้ำเย็น ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
วัดป่าวังน้ำเย็น เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดย “พระครูภาวนาชยานุสิฐ” หรือ “พระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ” หนึ่งในพระเกจิชื่อดังของภาคอีสานแห่งยุคปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส “วัดบูรพาเทพนิมิต” อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธ์
พระอาจารย์สุริยันต์ ท่านเป็นศิษย์ของ “หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ” พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของภาคอีสาน จึงทำให้ญาติโยมชาวมหาสารคามมีความเลื่อมใสศรัทธา ร่วมบริจาคที่ดินบริเวณที่ตั้งวัดป่าวังน้ำเย็นซึ่งปัจจุบันมีเนื้อที่กว่า 30 ไร่
วัดป่าวังน้ำเย็น ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวัดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 สังกัดสงฆ์มหานิกาย โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562ปัจจุบันมีพระครูปลัดอาจริยวัฒน์ (ทรงศักดิ์ นิราลโย) เป็นเจ้าอาวาส และมี พระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ เป็นประธานสงฆ์ของทางวัด
สำหรับไฮไลต์สิ่งน่าสนใจของวัดป่าวังน้ำเย็นนั้นก็นำโดย “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีมหาสารคาม” องค์สีทองอร่าม ที่ตั้งตระหง่านงดงาม สามารถมองเห็นโดดเด่นมาแต่ไกล
ภายในพระมหาธาตุเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้านในบรรจุพระพุทธรูปทองคำรวมถึงพระพุทธรูปปางต่าง ๆ และพระเครื่องจำนวนมากกว่า 84,000 องค์ พระพุทธรูปทรงเครื่องที่สร้างจากทองคำบริสุทธิ์ 3 องค์ น้ำหนักกว่า 12 กิโลกรัม
ส่วนอีกหนึ่งไฮไลต์ที่สร้างชื่อโด่งดังให้กับวัดป่าวังน้ำเย็นก็คือ พระอุโบสถไม้ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร โดยเสาและส่วนอื่น ๆ สร้างจาก “ไม้ตะเคียนทอง” เกือบทั้งหลัง ยกเว้นเพดานที่ทำจากไม้สัก จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “อุโบสถไม้ตะเคียนทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก” หรือ “โบสถ์ไม้ตะเคียนทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก” กับเสาไม้ตะเคียนทองขนาดใหญ่หาชมได้ยากเรียงราย 32 ต้น ขนาด 4-5 คนโอบ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนแห่งใหม่ที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมต่างตื่นตาตื่นใจกับความอลังการที่ได้พบเห็น
ขณะที่ภายในโบสถ์ไม้ประดิษฐานองค์พระประธาน คือ “หลวงพ่อพระเทพประทานพร” พระพุทธรูปปางนาคปรก ที่ออกแบบโดย “อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” ศิลปินแห่งชาตินามอุโฆษ ซึ่งองค์พระแกะสลักจากไม้สักทองได้อย่างงดงามวิจิตรเปี่ยมศรัทธา ส่วนที่ด้านหน้าโบสถ์มีท้าวเวสสุวรรณหลายองค์ให้กราบสักการะ
นอกจากนี้วัดป่าวังน้ำเย็นยังมีสิ่งน่าสนใจอื่น ๆ อาทิ
-“ปราสาทสามฤดู” เป็นปราสาทไม้ขนาดใหญ่ มีเสาไม้ขนาดยักษ์หลายคนโอบเรียงราย ขณะที่ภายในปราสาทไม้นั้นมี หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อดวงดี พระพุทธรูปอื่น ๆ และพระแม่ธรณีบีบมวยผม ให้กราบสักการะ
-“ศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์” ศาลาไม้ขนาดใหญ่ มี “พระพุทธรูปปางนั่งเมือง” เป็นองค์พระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ที่จำลองแบบมาจากพระผงดินเผากรุนาดูนอายุกว่า 1300 ปี ซึ่งวันนี้ทางวัดป่าวังน้ำเย็นกำลังเดินหน้าจัดสร้าง “พระนั่งเมืององค์ใหญ่ที่สุดในโลก” ขนาดความสูง 168 เมตร เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กธรรมแห่งใหม่ของภาคอีสาน
-“ศาลาปฏิบัติธรรมไม้สัก 112 ต้น” ซึ่งกว่า 90% เป็นไม้สักทอง ภายในมีพระพุทธรูปหลากหลาย และรูปเคารพเหมือนหุ่นขี้ผึ้งบูรพาจารย์ทั่วฟ้าเมืองไทยจำนวน 108 องค์ ให้กราบสักการะ
นอกเหนือจากสิ่งน่าสนใจที่กล่าวมาแล้ว วัดป่าวังน้ำเย็นยังมี “หอระฆังเสาไม้ขนาดใหญ่” และ “ฆ้องยักษ์” ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน, “สะพานพญานาคราช” ทางเดินข้ามลำน้ำสู่พระมหาธาตุเจดีย์ศรีมหาสารคาม, “พระธาตุทันใจ” ที่สร้างเสร็จภายในหนึ่งวัน เป็นต้น
และนี่ก็คือสิ่งน่าสนใจอันหลากหลายของวัดป่าวังน้ำเย็น ที่วันนี้นอกจากจะเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสายบุญ-สายมู แห่งใหม่มาแรงแห่งภาคอีสานแล้ว วัดป่าวังน้ำเย็นยังได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 25 แหล่งท่องเที่ยว “Unseen New Chapters 2566” ของ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” ในปี 2566 จากผลโหวตของประชาชนคนไทยทั่วประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ดีสำหรับวัดป่าวังน้ำเย็นนั้น แม้ชื่อจะเป็นวัดป่าแต่ภายในวัดกลับมีบรรยากาศที่แตกต่างจากวัดป่าทั่ว ๆ ไป ที่สงบร่มรื่นเย็นกายเย็นใจไปด้วยแมกไม้เขียวขจี หากแต่วัดป่าแห่งนี้กลับอุดมไปด้วยสิ่งก่อสร้าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และรูปเคารพต่าง ๆ มากมาย อันเป็นที่โดนใจบรรดาเหล่าสายบุญ-สายมูเตลูร่วมสมัย รวมถึงตอบโจทย์เทรนด์การท่องเที่ยวสายศรัทธายุคใหม่ ที่เน้นกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ รูปเคารพ เพื่ออธิษฐาน ขอพร ขอเลข ขอหวย ขอให้รวย และขอสารพัดสิ่ง มากกว่าเน้นการศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
11