ท่ามกลางความสงบและงดงามของวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร หนึ่งในวัดหลวงชั้นเอกของกรุงเทพมหานคร ยังมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และพระพุทธศาสนาซ่อนตัวอยู่ นั่นคือ “พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ)” สถานที่ที่เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
หากย้อนเวลากลับไปตำหนักแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชแพ รวมเป็นเวลาถึง 44 ปี ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสลำดับที่ 4 ของวัดสุทัศน์ใน พ.ศ.2443 และดำรงพระยศเป็นพระสังฆราชในสมัยรัชกาลที่ ๘ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2487 และที่นี่แต่เดิมยังเป็นที่อยู่ของอดีตเจ้าอาวาสรูปก่อนๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา ต่อมาทางวัดได้จัดเก็บรักษาโบราณวัตถุไว้เป็นจำนวนมาก และได้สร้าง “คลังเก็บโบราณวัตถุ” บริเวณใต้ถุนตำหนักและยาวไปจนถึงหอไตร
เพียงก้าวแรกที่ได้ย่างเข้ามาในบริเวณพิพิธภัณฑ์ฯ จะสัมผัสได้ถึงความร่มเย็นและความขรึมขลังของสถานที่แห่งนี้ ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี บอกเล่าเรื่องราวในอดีตผ่านข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ และเครื่องอัฐบริขาร ที่สะท้อนถึงสมณศักดิ์และวัตรปฏิบัติอันงดงามของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) รวมถึงจัดแสดงพระพุทธรูปโบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุสำคัญๆ ที่มีคุณค่าและความงดงามทางพุทธศิลป์ เชื่อมโยงกับวัดสุทัศน์ที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองและเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเรื่องราวและสิ่งของทุกชิ้น ล้วนเป็นองค์ความรู้และเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาสู่คนรุ่นหลัง
สำหรับพิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 1,800 ตารางเมตร และแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 โซน บริเวณตำหนักที่ประทับ จัดแสดงพระประวัติสมเด็จพระสังฆราชแพ สิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ และงานพุทธศิลป์ฝีพระหัตถ์ รวมถึงศิลปวัตถุที่ได้รับถวายจากพระบรมวงศานุวงศ์ในโอกาสสำคัญต่างๆ ถัดมาเป็น หอพระกรรมฐาน ประดิษฐานพระพุทธรูปและปูชนียวัตถุสำคัญของวัด ส่วนบริเวณ หอไตร จัดแสดงตาลปัตร ย่าม และผ้ากราบ กุฏิเรือนแถวทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ได้รับการบูรณะเพื่อจัดแสดงเอกสารโบราณ เครื่องโต๊ะ เครื่องกระเบื้อง ที่ชา และเครื่องมุก
บริเวณกลางของโถงตำหนักเป็นที่ประทับประดิษฐานพระรูปของสมเด็จพระสังฆราชแพ และมีจอทัชสกรีนให้ผู้ชมสามารถศึกษาพระประวัติ พระเกียรติคุณ รวมถึงคอลเลกชันการสร้างพระกริ่งของพระองค์ที่ทรงหล่อรุ่นแรกชื่อว่า “พระกริ่งเทพโมฬี” ใน พ.ศ.2441 และทรงหล่อเรื่อยมาจนถึงรุ่นสุดท้ายคือ “พระกริ่งเชียงตุง” ใน พ.ศ.2486 พร้อมกับมีการใช้เทคโนโลยี AR (augmented reality) เข้ามาเสริมตามจุดต่างๆ ทำให้การชมพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ
ถัดมาจะพบกับการจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารและสิ่งของใช้ส่วนพระองค์ เช่น เตียง ชุดทรงอักษร ผ้าไตรไหมและย่ามที่ได้รับพระราชทานในวันเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ใน พ.ศ.2482 รวมไปถึงศิลปวัตถุที่ทางวัดได้รับพระราชทานจากพระบรมวงศานุวงศ์ในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น บาตรที่ระลึกงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ ๕ ใน พ.ศ.2416 เครื่องเขียนประดับมุกที่ระลึกงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ ๖ ใน พ.ศ.2454 เป็นต้น
บริเวณใกล้กันจะพบกับห้องขนาดเล็กซึ่งเป็นหอพระกรรมฐาน โดยมีความยาวของห้องพอเหมาะสำหรับเดินจงกรม คือ ระยะ 10 ก้าว เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระสังฆราชแพใช้นั่งสมาธิและเดินจงกรมเป็นวัตรปฏิบัติ และปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยศิลปะเชียงแสนในซุ้มเรือนแก้วซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์และตั้งในการสวดนพเคราะห์วันครบรอบวันประสูติและพิธีพุทธาภิเษกหล่อพระกริ่งทุกปี
ภายในห้องเดียวกันยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระนิรโรคันตราย” พระพุทธรูปกะไหล่ทองปางสมาธิที่รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2468 ในคราวที่หายประชวรจำนวนทั้งสิ้น 16 องค์ โดยองค์ที่วัดสุทัศน์เป็นลำดับที่ 7 จึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของวัดสุทัศน์ที่ต้องอัญเชิญพระนิรโรคันตรายเป็นพระประธานของโต๊ะหมู่บูชาในการเสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐินทุกครั้ง
อีกหนึ่งโบราณวัตถุที่น่าสนใจของวัดสุทัศน์คือ “พระสุนทรีวาณี” โดยภาพต้นแบบของพระสุนทรีวาณีจัดแสดงอยู่ที่หอพระกรรมฐาน โดยเป็นรูปเปรียบดั่งพระรัตนตรัยที่เขียนขึ้นตามนิมิตของสมเด็จพระวันรัตแดง เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์รูปที่ 3 อันมีลักษณะเป็นรูปเทพธิดาประทับขัดสมาธิบนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายทรงแก้ววิเชียร พระหัตถ์ขวาแสดงอาการกวัก ทางวัดสุทัศน์ได้เชิญภาพพระสุนทรีวาณีออกประดิษฐานในการรับเสด็จกฐินหลวงทุกปี
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดง “ตาลปัตร” ซึ่งเป็นของพระราชทานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา รวมถึง “ย่ามและผ้ากราบ” ที่เก่าแก่และสำคัญทางประวัติศาสตร์
กุฏิเรือนด้านฝั่งตะวันตกจัดแสดงเครื่องพุทธบูชา ประกอบด้วย เครื่องโต๊ะ เครื่องกระเบื้อง เครื่องมุก และ ที่ชา ในห้องเครื่องโต๊ะจัดแสดง “การจัดเครื่องโต๊ะอย่างสยาม” โดยเครื่องลายครามทุกชิ้นเป็นลายสิงโตเปลวที่ตั้งตามธรรมเนียมการตั้งแต่งเครื่องโต๊ะภายใต้พระราชบัญญัติตรวจตัดสินชิ้นเครื่องโต๊ะที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ รวมถึงเครื่องถ้วยที่เก่าแก่ที่สุดของวัดสุทัศน์ คือ “จานลายครามลายเครือเถาดอกไม้” ผลิตในสมัยจักรพรรดิหย่งเจิ้น จากนั้นมาที่ห้องชา จัดแสดงการจัดชุดน้ำชารูปแบบต่างๆ มากกว่า 300 ชุด
ส่วนกุฏิเรือนแถวฝั่งตะวันออกเป็นห้องจัดแสดงเอกสารโบราณ ประกอบด้วย “คัมภีร์ใบลาน” จารด้วยอักษรขอมเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา และชมผ้าห่อคัมภีร์ของ วัดสุทัศน์ ส่วนมากเป็นผ้านำเข้าจากอินเดีย ซึ่งเคยเป็นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงเป็นผ้ายศพระราชทานแด่ขุนนางในราชสำนักสยามสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเจ้าของเสียชีวิต ทายาทมักนำมาถวายวัด
นอกเหนือจากการได้ชมโบราณวัตถุและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แล้ว การได้มาเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ศึกษาพระจริยาวัตรอันงดงาม พระปัญญาบารมี และคุณูปการที่สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทรงมีต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติ
พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 9.30-16.30 น. ค่าเข้าชม คนไทย 50 บาท และ ชาวต่างชาติ 200 บาท
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline