xs
xsm
sm
md
lg

“มอแกน” เกาะสุรินทร์ ชาวเลดั้งเดิมบนวิถีใหม่ ในกระแสธารการท่องเที่ยวที่ไม่ดราม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


หมู่บ้านมอแกน อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญแห่งเกาะสุรินทร์ (ภาพ : ททท.พังงา)
พาไปรู้จักกับชาวมอแกนบนเกาะสุรินทร์ จ.พังงา ที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวเลดั้งเดิมที่หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในเมืองไทย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภาพจำและหนึ่งในไฮไลต์สำคัญทางการท่องเที่ยวของหมู่เกาะแห่งนี้

จากกรณี “ทราย สก๊อต” ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เรียกร้องสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ของ “ชาวมอแกน” เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 68 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ตนเคยพบเห็นบางบริษัททัวร์ใช้แรงงานเด็กชาวมอแกนบนเกาะสุรินทร์แล้วให้ค่าจ้างค่าตอบแทนที่ค่อนข้างถูก จนทำให้รู้สึกอึดอัดและหลีกเลี่ยงที่จะกลับไปที่อุทยานฯหมู่เกาะสุรินทร์อีก

เรื่องนี้นอกจากจะกลายเป็นหนึ่งในดราม่าร้อนแรงบนโลกโซเชียลจนทำชาวเน็ตเสียงแตกแล้ว ยังปลุกเรื่องราวของชาวมอแกนบนเกาะสุรินทร์ ให้คนหันมาสนใจในวิถีของพวกเขากันเป็นจำนวนมาก

ชาวมอแกนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับทะเลมายาวนาน (ภาพ : ททท.พังงา)
ดังนั้นเราจึงขอพาไปรู้จักกับชาวมอแกนบนเกาะสุรินทร์ ที่ถือเป็นอีกหนึ่งภาพจำและหนึ่งในไฮไลต์สำคัญทางการท่องเที่ยวของหมู่เกาะแห่งนี้

มอแกน เป็นชนเผ่านักเดินทางทางทะเล หรือ “ชาวเล” ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชาวเลในเมืองไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ด้วยกัน ได้แก่ อูรักลาโว้ย มอแกลน (มอเกล็น) และ “มอแกน”

ชาวมอแกนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับทะเลมายาวนานหลายร้อยปีเฉกเช่นกับชาวเลอื่น ๆ พวกเขามีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือ สามารถดูทิศทางโดยอาศัยดวงดาว ลม และคลื่น รวมทั้งสามารถว่ายน้ำ พายเรือได้ตั้งแต่ยังเล็ก รวมถึงสามารถดำน้ำได้ลึกและอึดนานกว่าคนทั่วไปโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยแต่อย่างใด

มอแกน เกาะสุรินทร์ได้ชื่อว่าเป็นชาวเลที่ยังดำรงวิถีแบบดั้งเดิม (ภาพ : อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์)
เดิมชาวมอแกนจะใช้ชีวิตเดินทางเคลื่อนย้ายถิ่นทำมาหากินอยู่ในบริเวณเขตทะเลอันดามัน ชีวิตส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่บนเรือ โดยมีแวะหลบมรสุมและตั้งถิ่นฐานตามเกาะต่าง ๆ เป็นการชั่วคราว จนพวกเขาได้รับฉายาว่าเป็น “ยิปซีทะเล” ก่อนที่ต่อมามอแกนส่วนหนึ่งจะลงหลักปักฐานตั้งชุมชนอาศัยอยู่บนเกาะหรือริมชายฝั่งทะเลเป็นการถาวร

สำหรับชาวมอแกนที่เกาะสุรินทร์ พวกเขาได้ลงหลักปักฐานอาศัยอยู่บนเกาะสุรินทร์มาหลายสิบปี ปัจจุบันมีประมาณ 300-400 คน อยู่รวมกันที่ “หมู่บ้านมอแกน” อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ บริเวณอ่าวบอนใหญ่ เกาะสุรินทร์ใต้ ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา

บ้านเรือนชาวมอแกนบนเกาะสุรินทร์ปลูกสร้างอย่างเรียบง่าย (ภาพ : อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์)
ชาวมอแกนที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นชาวเลดั้งเดิมที่หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในเมืองไทย พวกเขามีวิถีการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม หาเลี้ยงชีพโดยการงมหอย จับปลา อาศัยอยู่ในบ้านเรือนแบบดั้งเดิม เสาโครงสร้างเป็นไม้ ฝา หลังคา เป็นจาก มีใต้ถุนโล่ง และอยู่รวมกันเป็นชุมชนริมทะเล

ในอดีตชาวมอแกนบนเกาะสุรินทร์ จะกินอยู่อย่างเรียบง่าย จากอาหารในพื้นที่ที่หาได้ทั้งบนบกและในทะเล ไม่ว่าจะเป็น หัว เผือกมัน กลอย พืชผัก ยอดไม้ ผลไม้ป่า และ กุ้ง หอย ปู ปลา อาหารทะเลต่าง ๆ ส่วน “ข้าว” ถือเป็นของดีอาหารพิเศษที่นาน ๆ จะได้กินกันที แต่หลังจากที่ชาวมอแกนถูกดึงเข้ามาในระบบการค้าขาย ข้าวได้กลายเป็นอาหารหลักของชาวมอแกนมาจนถึงปัจจุบัน

เรือเล็กของชาวมอแกนใช้สัญจรระยะใกล้
ชาวมอแกนจะออกเรือไปจับสัตว์น้ำทะเล หรือหาจับสัตว์น้ำอย่างเช่น หอย ปลิงทะเล ตามชายฝั่ง ส่วนหนึ่งนำมารับประทาน ส่วนหนึ่งนำไปแลกซื้อข้าวสาร โดยแต่ละครั้งจะซื้อเป็นกระสอบ ๆ เพื่อตุนไว้สำหรับหน้ามรสุมที่คลื่นลมแรง ออกทะเลไกลชายฝั่งลำบาก

ด้านการประกอบอาหาร ดั้งเดิมชาวมอแกนจะทำกินกันอย่างง่าย ๆ ต้ม นึ่ง ย่าง มีเกลือเป็นเครื่องปรุงหลัก และไม่ค่อยปรุงรสเพิ่มเติมกันสักเท่าไหร่ ขณะที่ปัจจุบันชาวมอแกนจะรับประทานอาหารและประกอบอาหารเหมือนคนบนฝั่งทั่วไป ทั้งยังชอบกินขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเหมือนหลาย ๆ คนบนฝั่งทั่วไปอีกด้วย

เสาหล่อโบง-เสาวิญญาณบรรพบุรุษ
สำหรับเรือแบบดั้งเดิมมีหลังคาของชาวมอแกนที่เรียกว่า “เรือก่าบาง” ที่ต่อแบบไร้ตะปูนั้นก็ถือเป็นอีกหนึ่งถูมิปัญญาอันโดดเด่นของชาวมอแกน ขณะที่ปัจจุบันแม้ชาวมอแกนส่วนใหญ่จะหันมาใช้เรือติดเครื่องเรือหางยาว แต่ก็ยังมีบางบ้านที่ใช้เรือพายขนาดเล็ก ๆ ใช้สัญจรใกล้ ๆ ในละแวกชุมชนอยู่

และในเดือนเมษายนของทุกปีกลุ่มมอแกนที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียง จะเดินทางมารวมตัวกันที่หมู่เกาะสุรินทร์เพื่อประกอบพิธี “ลอยเรือ” บวงสรวงผีและวิญญาณของบรรพบุรุษ รวมถึงเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้ปลอดภัยและแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง ถือได้ว่าชาวมอแกนที่เกาะสุรินทร์เป็นหนึ่งในชาวเลที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

หมู่บ้านมอแกนปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต้องห้ามพลาดแห่งเกาะสุรินทร์ (ภาพ : อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์)
นอกจากนี้ชาวมอแกนยังนับถือผีและเสาวิญญาณบรรพบุรุษ ที่แกะสลักเลียนแบบรูปคนทั้งหญิงและชายเรียกว่า “เสาหล่อโบง” (หรือลอโบง) เสาไม้นี้เป็นดังตัวแทนวิญญาณที่คอยปกปักรักษาชาวมอแกน โดยวิญญาณเพศชายเป็นผีตาเรียกว่า “อีบ๊าบ” ส่วนวิญญาณเพศหญิงเป็นผียายเรียกว่า “อีบูม” ทุก ๆ ปีในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ชาวมอแกนจะมีการจัดพิธีบวงสรวงวิญญาณบรรพบุรุษและวิญญาณในธรรมชาติ “เหน่เอนหล่อโบง” โดยมีสัญลักษณ์เป็น “เสาหล่อโบง” และเรือลอยเคราะห์ที่เรียกว่า “ก่าบางชวาย”

ปัจจุบันด้วยสภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนไป ทรัพยากรทางทะเลลดน้อยถอยลง และการอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ที่มีข้อจำกัดในการจับสัตว์น้ำ ทำให้ชาวมอแกนออกทะเลน้อยลงจากเดิม แต่พวกเขาได้เบนเข็มเข้าสู่วิถีใหม่ในเส้นทางของธุรกิจท่องเที่ยว

ชวนอุดหนุนสินค้าที่ระลึกของชาวมอแกน (ภาพ : อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์)
โดยจากเดิมที่ชาวมอแกนออกเรือหาปลากันเป็นประจำ แต่มาวันนี้เมื่อฤดูกาลท่องเที่ยวทะเลอันดามันมาถึง ชาวมอแกนที่ถนัดทางด้านไหนก็จะไปรับจ้างทำงานประกอบอาชีพตามที่ตนถนัด ไม่ว่าจะเป็น ขับเรือหางยาวหรือสปีดโบ้ท พายเรือให้นักท่องเที่ยว เป็นไกด์ เป็นสตาฟฟ์ทัวร์ ไกด์ดำน้ำ แม่บ้าน ทำอาหาร รับจ้างทั่วไป หรือช่วยทำงานใน อช.หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นต้น

ขณะที่ผู้หญิง เด็ก ๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ ที่อยู่บ้าน ไม่ได้ไปไหน หลาย ๆ คนจะทำสินค้าของที่ระลึกขายให้กับนักท่องเที่ยว ตามหน้าบ้านหรือใต้ถุนบ้านของตน บางคนก็ทำโชว์นักท่องเที่ยวกันสด ๆ ไม่ว่าจะเป็น สร้อย กำไล กระเป๋า เครื่องประดับ เรือก่าบางจำลอง งานไม้แกะสลัก โปสการ์ด ซึ่งชาวมอแกนนอกจากจะพัฒนางานฝีมือเหล่านี้ได้ดีขึ้นเป็นลำดับแล้ว วันนี้ยังมีงานรีไซเคิลกระเป๋าถักมือจากขยะทะเล ที่สามารถเปลี่ยนขยะให้เป็นงานหัตถกรรมอันกิ๊บเก๋และเท่ไม่น้อย

กระเป๋าถักมือจากขยะทะเล (ภาพ : อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์)
และนี่ก็คือเรื่องราววิถีของชาวมอแกนแห่งหมู่บ้านมอแกนบนเกาะสุรินทร์ ที่แม้จะได้ชื่อว่าเป็นชาวเลกลุ่มดั้งเดิม แต่ด้วยสภาพการณ์และอะไรหลาย ๆ อย่างที่เปลี่ยนไป ทำให้พวกเขาได้ปรับเปลี่ยนวิถีบางส่วนเข้าสู่ภาคของธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงฤดูท่องเที่ยวแห่งอันดามัน หลาย ๆ คนสามารถสร้างรายได้งามกว่าการตากแดดตากลมออกทะเล ที่วันนี้ทรัพยากรทางทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา นับวันยิ่งร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ

ครั้นเมื่อหมดช่วงไฮซีซั่น เขาสู่หน้ามรสุม ชาวมอแกนแห่งเกาะสุรินทร์ ก็จะกลับไปใช้ชีวิตตามวิถีของคนทะเลต่อไป

สำหรับใครที่มีโอกาสไปเที่ยวหมู่บ้านชาวมอแกน บนเกาะสุรินทร์ ก็อย่าลืมช่วยอุดหนุน สนับสนุน งานสินค้าต่าง ๆ ของชาวมอแกนกันตามสะดวก และที่สำคัญก็คืออย่านำเรื่องราวของชาวมอแกนไปทำคอนเทนต์บิดเบือน เรียกยอดวิว ยอดไลค์ เรียกแสงให้กับตัวเองเด็ดขาด

ทำของที่ระลึกโชว์นทท.กันสด ๆ  (ภาพ : อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์)
###########################

ปัจจุบัน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ปิดการท่องเที่ยวและพักแรมในช่วงมรสุม ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม -14 ตุลาคม ของทุกปี (บางปีอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ) ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่ 076 472 145




กำลังโหลดความคิดเห็น