xs
xsm
sm
md
lg

เผยอีกมุม! “ดราม่าชาวมอแกน” อย่าสัมผัสแค่ผิวเผิน แล้วมโนไปเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หมู่บ้านชาวมอแกน บนเกาะสุรินทร์ (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์)
จากกรณีดราม่าชาวมอแกน ที่ “ทราย สก๊อต” ออกมาบอกว่าเคยพบเห็นบางบริษัททัวร์ใช้แรงงานเด็กชาวมอแกน บนเกาะสุรินทร์ ล่าสุด “วิน” ช่างภาพอิสระที่มีความผูกพันและเข้าใจความเป็นอยู่ของชาวมอแกนได้ออกมาเผยอีกมุมมองหนึ่ง เพราะไม่อยากให้คนที่เข้าใจเรื่องนี้เพียงผิวเผินเข้าใจผิด และมโนจนเป็นเรื่องราวใหญ่โต

หมู่บ้านชาวมอแกน บนเกาะสุรินทร์ (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์)
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 68 เฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ “Wind Mahattanasakul” ของนายภัทรวิน มหัธนสกุล หรือ “วิน” ช่างภาพอิสระ ผู้ที่คลุกคลีกับชาวมอแกนบนหมู่เกาะสุรินทร์มาอย่างยาวนาน ได้เขียนบทความถึงเรื่องนี้ในอีกมุมมองหนึ่งเกี่ยวกับ “บริบทของมอแกนแห่งเกาะสุรินทร์วิถีชีวิตและการเลี้ยงชีพ” สรุปใจความโดยย่อได้ว่า

ตนเป็นคนที่เข้าออกหมู่บ้านมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์บ่อยพอสมควร จนมีความผูกพันกับชาวบ้านมอแกน ผู้นำชุมชน ผู้เฒ่า ครู อนามัย และเข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่กับการพึ่งพาประกอบอาชีพหารายได้ของมอแกนกับอุทยานฯ พอสมควร

หมู่บ้านชาวมอแกน บนเกาะสุรินทร์ (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์)
ชาวมอแกนเติบโตมากับทะเลจึงมีพื้นฐานและความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับทะเล ในหนึ่งปีจะแบ่งการใช้ชีวิตออกเป็นสองช่วง คือช่วงที่เปิดการท่องเที่ยว พวกเขาก็จะปรับตัวด้วยการทำงานในธุรกิจท่องเที่ยว มีหลายหน้าที่ในพื้นที่

ส่วนใหญ่ได้ค่าจ้างเป็นรายวัน อาหารฟรี มีเวลาพัก มีค่าตอบแทนตามหน้าที่ ค่าจ้างกับทางอุทยานฯ อาจไม่สูงมาก ประมาณ 4,000/เดือน แต่ทำงาน 4-5 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าทำกับบริษัททัวร์อาจได้มากกว่า ประมาณหมื่น แล้วแต่ความสามารถหน้าที่


สินค้าของที่ระลึกฝีมือชาวมอแกน บนเกาะสุรินทร์ (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์)
ส่วนเด็กๆ ก็มักจะตามพ่อแม่มาทำงาน ทำงาน+เล่นสนุกตามประสา ตามพ่อไปดำน้ำเล่นสนุกไปกับลูกค้า หรือช่วยเข็นรถเข็น เก็บที่นอน ได้สินน้ำใจตอบแทนเป็นไอศกรีมเล็กๆ น้อยๆ ก็มีความสุขแล้ว พวกเขาไม่ใช่แรงงานจริงจังหรือแรงงานเด็กแบบที่ใครเข้าใจแค่เพียงเห็นผิวเผิน

เขาไม่ได้ขี้เกียจงอมืองอเท้านะ เขารู้ว่าต้องทำงานมีอาชีพถึงจะมีรายได้ เขาเรียนรู้อยู่กับการท่องเที่ยว ว่าไม่ใช่แค่วิถีชีวิตแต่รู้ว่ามันคือรายได้เลี้ยงครอบครัว

ที่พวกเขาทำงานหารายได้ก็เพื่อเก็บเงินไว้ใช้ในช่วงมรสุมที่ปิดการท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงนี้พวกเขาจะกลับไปใช้ชีวิตตามวิถีของชาวมอแกนจริงๆ ที่หากินกับทะเล


สินค้าของที่ระลึกฝีมือชาวมอแกน บนเกาะสุรินทร์ (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์)
นี่คือชีวิตมอแกนในบริบทที่ปรับเข้ากับพื้นที่ฤดูกาลและผู้คนรอบตัว ใช้ทักษะเฉพาะตัวเป็นอาชีพหาเลี้ยงปากท้องและอยู่กับท้องทะเลและหมู่บ้านที่เขารักและผูกพัน

อุทยานฯ บริษัททัวร์ ก็ช่วยเหลือสนับสนุนเขาให้มีงานทำมีรายได้ ที่เราเห็นพวกสิ่งของการขนส่งบ.ทัวร์และอุทยานก็ช่วยเหลือมอแกนตลอด ความเป็นอยู่ไม่ได้ย่ำแย่ขาดหน่วยงานหรือคนดูแลแบบนั้น ต่างคนต่างพึ่งพิงกันเพราะบริบทต่างๆ มากกว่า


สินค้าของที่ระลึกฝีมือชาวมอแกน บนเกาะสุรินทร์ (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์)
ผมไม่ต้องการอยากจะตอบโต้อะไร แค่เป็นคนที่รักทะเล รักเกาะสุรินทร์ เข้าใจวิถีชีวิตมอแกน และอยากจะให้มุมมองอีกหลายๆ มุมมองจากคนที่เข้าไปพูดคุยสัมผัสและเข้าใจเขามากกว่าที่จะเข้าไปแค่ไม่กี่ครั้งแล้วไม่เห็นภาพรวม ไม่ดูบริบทของทั้งคน ชาวบ้าน และอุทยาน ไม่เคยอยู่กินหรือใช้ชีวิตกับมอแกน มาตัดสินจากฟังความคนละนิดละหน่อยแล้วไปปะติดต่อเรื่องราวมโนเอาเองไปซะหมด มุ่งแต่สร้างคอนเท้นโจมตีคนอื่นโดยที่ไม่ได้รู้ตื้นลึกหนาบางอย่างแท้จริง สื่อสารด้วยการปะติดเรื่องราว สร้างความเข้าใจผิดแค่ผิวเผินไม่ได้สัมผัสกับความเป็นอยู่และเข้าใจตัวตนของเขาอย่างแท้จริงในโลกที่เปลี่ยนไปเลย

สินค้าของที่ระลึกฝีมือชาวมอแกน บนเกาะสุรินทร์ (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์)



สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น