xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเน็ตเสียงแตก ดราม่าร้านกาแฟในโรงงานยาสูบ เพจดังโต้พวกอ้าง “สวนสัตว์มนุษย์” สุดย้อนแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดราม่าร้านกาแฟในโรงงานยาสูบ เพจดังโต้พวกอ้าง “สวนสัตว์มนุษย์” สุดย้อนแย้ง (ภาพ : MGR Hot Share)
เพจดังโต้พวก “ยกตนเป็นนักต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม” แต่กลับ “ลดทอนความเป็นมนุษย์” ของผู้อื่น หลังเกิดดราม่า โรงงานยาสูบเปิดพื้นที่เรียนรู้ให้ลูกค้านั่งดื่มกาแฟชมคนงานคัดใบยา

ถือเป็นอีกหนึ่งดราม่าร้อนแรงบนโลกโซเชียล หลัง ดร.คนดัง โพสต์ภาพนั่งดื่มกาแฟในโรงงานยาสูบที่เปิดพื้นที่บางส่วนให้เห็นคนงานนั่งคัดใบยาสูบ งานนี้ทำชาวเน็ตเสียงแตก มีทั้งพวกที่โจมตีและสนับสนุนโรงงานแห่งนี้

หลัง เฟซบุ๊ก “ดร.นิค-สุวดี พันธุ์พานิช” ซึ่งเป็นอดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคไทยสร้างไทย ผู้บริหารโรงพยาบาลธนบุรี ได้โพสต์ภาพตัวเธอนั่งในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง โดยระบุข้อความ ว่า

“ร้านคาเฟ่เชียงใหม่ ชื่อร้านเย็น YEN แบ่งส่วนโรงงานคัดใบยาสูบมาทำร้านกาแฟ ได้เห็นวิถีชีวิตไปด้วยค่ะ Yen.CNX : มาภารกิจขาวดำด่วนที่เชียงใหม่ค่ะ”

หลังจากนั้นก็ได้กลายเป็นดราม่าให้ชาวเน็ตได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง งานนี้ชาวเน็ตเสียงแตกอย่างชัดเจน โดยชาวเน็ตส่วนหนึ่งนอกจากจะไม่เห็นด้วยกับคาเฟ่แห่งนี้แล้ว ยังโจมตีว่านี่คือ “สวนสัตว์มนุษย์” (Human Zoo) รูปแบบหนึ่ง

ขณะที่ชาวเน็ตส่วนหนึ่งกลับมองแตกต่างไปจากกลุ่มที่โจมตีร้านกาแฟดังกล่าว โดยเพจดังอย่าง The METTAD ได้ออกมาตอบโต้พวกที่โจมตีร้านกาแฟดังกล่าวว่าเป็นสวนสัตว์มนุษย์ รวมถึงได้พาดพิงบางคน ว่า

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความย้อนแย้งทางสังคมและพฤติกรรมของบางคนในสังคมที่ “ยกตนเป็นนักต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม" แต่กลับเลือกใช้ถ้อยคำที่ “ลดทอนความเป็นมนุษย์" ของผู้อื่นเสียเอง
.
1. การตั้งคำถามถึง “เขาดิน” กับภาพแรงงาน
.
คำว่า "ไปเที่ยวเขาดินเหรอครับ" เปรียบเปรยถึง “สวนสัตว์” ซึ่งสื่อไปในทางดูถูกว่า บุคคลในภาพนั่งอยู่ในร้านหรูแอร์เย็น มองออกไปเห็นคนงานเหมือน “สัตว์จัดแสดง”
.
นี่คือการเล่นมุกแบบ dehumanization ที่มีพื้นฐานจากอคติ (bias) ว่า คนที่มีอภิสิทธิ์ มองแรงงานเป็นสิ่งแปลกประหลาดน่าดู
.
แต่ประเด็นอยู่ตรงนี้: คนที่ใช้มุกนี้ คือคนที่ อ้างว่า ต่อต้านระบบชนชั้น ต่อต้านการกดขี่
.
2. ความย้อนแย้งของนักกิจกรรม
.
นายxxx เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นนักขอบริจาคเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และสิทธิความเท่าเทียมในสังคม แต่กลับใช้คำพูดที่เหยียดแรงงานทางอ้อม
.
เขาไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การวิจารณ์ผู้บริหารอย่าง ดร.นิค โดยตรงในแง่โครงสร้างอำนาจหรือบริบทของแรงงาน
.
แต่กลับเล่นมุกเหยียดแรงงานที่ "นั่งทำงานอยู่ข้างหลัง" ว่าเหมือน “สัตว์ในกรง” ซึ่งเป็นการลดทอนคุณค่าของแรงงานไปโดยปริยาย
.
3. “มุกตลกร้าย” ที่ตีแผ่หน้ากากความตื่นรู้
.
นี่คือรูปแบบหนึ่งของ 🧠 Woke Hypocrisy — ตื่นรู้แต่แสดงออกขัดกับหลักการตัวเอง การเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมจึงกลายเป็นเพียง “เครื่องมือชำระล้างภาพลักษณ์” แต่ไม่ใช่การปฏิบัติจริงทางจริยธรรม
.
- อ้างต่อสู้กับระบบชนชั้น แต่ใช้วาทกรรมเหยียดชนชั้นแรงงาน
- เรียกร้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่เปรียบคนเป็น “ของแปลกในเขาดิน”
- ต่อต้านอำนาจนิยม แต่ใช้อำนาจในโซเชียลมีเดียในการ “ล้อเลียน + ทำให้คนดูตลก”
.
4. กรณีศึกษาด้านจริยธรรมของสื่อและกิจกรรม
.
การที่นักกิจกรรมมาเล่นมุกกับภาพผู้หญิงนั่งในร้านกาแฟโดยมีแรงงานอยู่เบื้องหลัง เป็นสิ่งที่พอเข้าใจได้ว่ากระตุกต่อมตั้งคำถามเชิงภาพลักษณ์
แต่การจะวิจารณ์ด้วยความรับผิดชอบ ควรโจมตีระบบ ไม่ใช่คนธรรมดา (หรือแรงงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลย)
.
5. ดร.นิค และบริบทของความเหลื่อมล้ำ
ต้องยอมรับว่า ภาพนี้มีองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความรู้สึก “ห่างชั้น” ระหว่างผู้นั่งจิบกาแฟในห้องแอร์กับแรงงานในโกดัง
อาจเป็นการวางคอนเซปต์ร้านโดยเจ้าของร้าน ไม่ใช่ผู้บริโภค
.
สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือ “ระบบ” และ “สถานที่” มากกว่า “ตัวบุคคล”
การวิจารณ์สามารถทำได้โดยไม่ทำร้ายศักดิ์ศรีของผู้คนที่อยู่ในภาพร่วมด้วย
.
6. บทเรียนจากกรณีนี้
.
กรณีนี้ไม่ใช่แค่ดราม่าภาพร้านกาแฟธรรมดา แต่มันสะท้อนว่า…
การเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียม ต้องควบคู่ไปกับ การรู้เท่าทันอำนาจของตัวเอง และ การสื่อสารอย่างมีเมตตา
.
ถ้าคุณอ้างว่าต่อสู้เพื่อแรงงาน แต่พร้อมจะเล่นมุกที่เหยียดแรงงาน — นั่นไม่ใช่การต่อสู้ที่บริสุทธิ์
.
ถ้าคุณอ้างว่าปกป้องคนตัวเล็ก แต่เลือกเหยียบเขาเพื่อให้ตัวเองดูฉลาด — นั่นคือการทรยศต่ออุดมการณ์
----------------------------------
การเรียกร้องความเท่าเทียม จะไม่มีความหมาย หากคุณพร้อมเหยียบใครก็ได้เพื่อเอาฮา หรือเอาชนะในเกมโซเชียลมีเดีย
.
มนุษยธรรมไม่ใช่ของเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนจะไม่มีน้ำหนัก หากคุณใช้มันเป็นเพียงโล่ให้ตัวเอง แล้วใช้มีดแทงผู้อื่นผ่านมุกขำๆ ที่เหยียดหยามมนุษย์ด้วยกันเอง.



ด้าน ดร.นิค ก็ได้ออกมาอธิบายเพิ่มเติม หลังจากมีกระแสวิจารณ์ตามมาจำนวนมาก ว่า

“เพิ่งได้เห็นคอมเมนต์ที่หลากหลาย ก่อนอื่นขอ respect วิถีชุมชนที่ทำให้เกิด วัฒนธรรมและอาชีพที่หลากหลาย และต้องขอบคุณร้านค้า คาเฟ่ต่างๆ ที่ทำให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเห็นวิถีชีวิตจริง ซึ่งยังดำรงอยู่ เหมือนคาเฟ่ไร่ชา ร้านคาเฟ่เถียงนา ร้านคาเฟ่ศูนย์ทอผ้า ฯลฯ หลายที่เปิดโอกาสให้คนเข้าไปมีส่วนเรียนรู้ หรือมีส่วนในกิจกรรม

เราไม่เห็นด้วยกับคำว่า human zoo เพราะแสดงถึงความคิดตื้นเขินแบบมองทุกอย่างเหมารวมของผู้พูด และเป็นการย่ำยีหัวใจคนที่นั่งทำงานอยู่ เขามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ต้องเคารพในวิถีชีวิตเขาค่ะ และขอบคุณที่ได้ร่วมแบ่งปันวิถีชีวิตให้คนรุ่นหลังได้ดู

คุณยายเราเคยเป็นหนึ่งในคนที่ทำงานยาสูบ ทั้งคัดและแยกใบยา ได้เห็นแล้วได้ย้อนนึกถึงตอนเด็กๆ ที่เคยไปวิ่งเล่นในโรงงานยาสูบด้วยค่ะ”



ขณะที่ทางเพจร้านกาแฟดังกล่าวก็ได้ออกมาชี้แจงว่า

“เรียนทุกท่าน จากกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ทางร้านได้รับทราบข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และต้องขอเรียนตามตรงว่า พวกเรารู้สึกตกใจไม่น้อยที่หลายท่านอาจเข้าใจเจตนาของการเปิดร้านคาเฟ่แห่งนี้คลาดเคลื่อนจากสิ่งที่เราตั้งใจไว้

ทางร้านจึงใคร่ขอชี้แจงด้วยความเคารพว่า พื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของร้านนั้น เดิมเป็นสถานที่ประกอบธุรกิจโรงงานคัดใบยาสูบที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานของครอบครัวเรา ดำเนินกิจการต่อเนื่องมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ สืบทอดมาสู่รุ่นคุณพ่อ และปัจจุบันดำเนินงานโดยคุณอาของดิฉัน

ดิฉันเองก็มีความตั้งใจจะสานต่อสิ่งที่บรรพบุรุษของเราร่วมกันสร้างไว้ แต่ในรูปแบบที่เปิดกว้างให้ผู้คนได้เข้าถึงและเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์แห่งนี้ จึงเกิดเป็นแนวคิดในการทำร้านอาหารและคาเฟ่ขึ้นมา โดยคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของโรงงานดั้งเดิม

เราได้ว่าจ้างนักออกแบบที่มีแนวทางอนุรักษ์ความงามของสถาปัตยกรรมเดิมอย่างจริงจัง เพื่อออกแบบพื้นที่ให้สามารถเล่าเรื่องราวของอดีต ผ่านโครงสร้างเดิมและห้องจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว ตั้งแต่การปลูกใบยา การบ่ม และการคัดใบยาสูบ

ซึ่งในช่วงฤดูกาลเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ยังมีการดำเนินงานคัดใบยาจริง โดยคนงานดั้งเดิมที่มีทักษะเฉพาะทาง ไม่ได้ว่าจ้างเพื่อแสดงโชว์ แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจริงทุกปี พร้อมค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

คาเฟ่แห่งนี้ไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อความบันเทิง แต่ตั้งใจจะเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ ถ่ายทอดเรื่องราวของอาชีพที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเคารพในศักดิ์ศรีของทุกแรงงานเสมอมา

พวกเราขอยืนยันด้วยความจริงใจว่า ไม่เคยมีเจตนาในการลดทอนคุณค่าของอาชีพใดๆ หรือเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของผู้ใดทั้งสิ้น ตรงกันข้าม เราเชื่อมั่นว่า ทุกอาชีพล้วนมีคุณค่า และทุกคนมีศักดิ์ศรีที่ควรได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียม

สุดท้ายนี้ ทางร้านขอขอบพระคุณทุกความคิดเห็นที่มอบให้กับเรา เราจะนำข้อเสนอแนะไปพัฒนา และจะดำเนินธุรกิจด้วยความเคารพ ความตั้งใจ และความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างดีที่สุดเสมอมา ด้วยความเคารพและจริงใจ”


สำหรับดราม่าเรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง จนทำให้ชาวเน็ตหลายคนที่รำคาญดราม่าเรื่องนี้ ออกมาบอกว่า ถ้าใครไม่ชอบก็ไม่ต้องไปเที่ยว ไปกินกาแฟที่โรงงานแห่งนี้ จบ

ความคิดเห็นของชาวเน็ตต่างมุมมองจากต้นโพสต์

ความคิดเห็นของชาวเน็ตต่างมุมมองจากต้นโพสต์

ความคิดเห็นของชาวเน็ตต่างมุมมองจากต้นโพสต์

ความคิดเห็นของชาวเน็ตต่างมุมมองจากต้นโพสต์

ความคิดเห็นของชาวเน็ตต่างมุมมองจากต้นโพสต์

ความคิดเห็นของชาวเน็ตต่างมุมมองจากต้นโพสต์

ความคิดเห็นของชาวเน็ตต่างมุมมองจากต้นโพสต์

ความคิดเห็นของชาวเน็ตต่างมุมมองจากต้นโพสต์




กำลังโหลดความคิดเห็น