ย้อนกลับไปราวทศวรรษที่แล้ว ในวงการโรงแรมที่พัก ไม่มีใครไม่รู้จัก “ดาราเทวี เชียงใหม่” โรงแรม 5 ดาวสุดหรู ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งติด 1 ใน 4 โรงแรมระดับแนวหน้าของประเทศไทยที่ถูกจัดอันดับอยู่ใน “โกลด์ลิสต์” จาก Condé Nast Traveller นิตยสารท่องเที่ยวระดับโลก
โดยในปี พ.ศ.2558 “ดาราเทวี เชียงใหม่” ติดการจัดอันดับสุดยอดโรงแรมระดับโลกทั้ง 100 แห่ง จากสื่อดังของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนหน้านั้นหนึ่งปี โรงแรมก็ยังได้รับรางวัลโกลด์ เซอร์เคิล อวอร์ด ประจำปี 2557 จาก อโกด้าดอทคอม ผู้นำด้านการให้บริการเว็บไซต์สำรองห้องพักโรงแรมระบบออนไลน์ระดับโลก ที่มอบให้กับโรงแรมพันธมิตรที่เป็นตัวอย่างความเป็นเลิศด้านการบริการตามมาตรฐานระดับโลก
สำหรับโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2545 เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว มูลค่าหลายพันล้านบาท โดย สุเชฏฐ์ สุวรรณมงคล นักธุรกิจเจ้าของดีลเลอร์รถยนต์รายใหญ่ของภาคใต้ ที่หลงใหลในเสน่ห์ของศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมท้องถิ่นล้านนา
เนรมิตโรงแรมรูปแบบสถาปัตยกรรมการก่อสร้างแบบล้านนาโบราณที่มีความสวยงามอลังการอย่างมาก ทุนสร้างกว่า 3 พันล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ บนเนื้อที่ประมาณ 153 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง อันเงียบสงบและสวยงาม กลางอำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยมีจำนวนห้องพัก 123 ห้อง
สำหรับชื่อที่มาของโรงแรม ข้อมูลจาก “นิตยสารแพรว Wedding” ระบุว่า “ดารา” สื่อความหมาย 3 อย่าง คือ ความหมายแรก เป็นส่วนหนึ่งในพระนามของเจ้าดารารัศมี พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาอย่างมาก
ความหมายที่สอง สืบเนื่องจากการวางตำแหน่งอาคารในลักษณะของจักรราศีตามความเชื่อล้านนา คือ 1 ประตู ได้แก่ประตูทางเข้าทางเดียว คือ ประตูไชยะดาราฯ 3 จอง คืออาคารหลัก 3 หลังที่ตั้งตระหง่านบริการแขกทุกคน 7 หนอง คือหนองน้ำเดิมที่เคยมีอยู่เดิมก่อนก่อสร้างบวกสระว่ายน้ำที่ขุดขึ้นใหม่และ 12 หอ สื่อถึงอาคารต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายกันเป็นรูปนกตามแผนที่โรงแรม เหตุที่ต้องเป็นนกเพราะชาวล้านนานับถือเจ้าผู้ครองนครว่าเป็นเจ้าแห่งท้องฟ้าภายในโรงแรมจึงมีการประดับประดารูปนกมากมายแทบจะทุกจุด โดยเฉพาะนกยูง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์อันเป็นศูนย์กลางในทางดาราศาสตร์
เชื่อมโยงมาถึงความหมายที่สาม วิธีการออกแบบที่ใช้ดวงดาวเป็นโลโก้ของโรงแรม ส่วน “เทวี” มาจากความนิยมนับถือสตรีสูงศักดิ์ในสังคมล้านนาว่าเป็นตัวแทนของความดีงามและเกื้อกูลกัน
อย่างไรก็ตาม ก็มีดราม่าตั้งแต่ช่วงก่อสร้าง เนื่องจากถูกนักวิชาการล้านนาออกมาต่อต้าน กรณีจำลองโบราณสถานและสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์เข้าไปไว้ในโรงแรม แต่ภายหลังเปิดกิจการ โรงแรมก็ได้รับการตอบรับอย่างดี จนกลายเป็นโรงแรมดังระดับโลก รวมทั้งก่อนเปิดให้บริการในปี 2547 ยังมีการเซ็น MOU กับ “แมนดาริน กรุ๊ป” บริษัทด้านโรงแรมระดับโลก มาบริหารดาราเทวีเป็นระยะเวลา 15 ปี
ต่อมาในปี 2558 สุเชฏฐ์ สุวรรณมงคล ตัดสินใจขายกิจการทั้งหมดให้แก่ “นายแพทย์ วิชัย ถาวรวัฒนยงค์” ประธานกรรมการ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) โดย IFEC ได้เข้าซื้อหุ้นจากกลุ่มโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ 100% พร้อมหนี้ รวมมูลค่าการซื้อทั้งหมด 2,520 ล้านบาท
หลังจากนั้นไม่นาน ธุรกิจก็เริ่มประสบปัญหา ทั้งต้นทุนพนักงานที่สูงมาก ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมที่ไม่ผ่านผลกระทบสิ่งแวดล้อมในบางส่วน ก่อจะประสบกับวิกฤตร้ายแรงสุด คือ ช่วงโควิด
ในช่วงต้นปี 2563 หลังได้รับผลกระทบจากโควิดโรงแรมได้แจ้งปิดกิจการให้บริการชั่วคราว โดยในเดือน มิ.ย. 2563 โรงแรมได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ก่อนที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ทำให้โรงแรมต้องประกาศปลดพนักงาน และปิดกิจการและเข้าสู่กระบวนการล้มละลายในท้ายที่สุด ถือเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าในเชียงใหม่รายแรกที่ประกาศปิดกิจการ
โดยในปี 2568 โรงแรมกลับมาเปิดกิจกรรมแรกในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ชื่อ “กาดดาราเทวี เชียงใหม่” จัดทุกปลายเดือน แต่โรงแรมยังมีสถานะปิดทำการ และอยู่ระหว่างการจัดการทรัพย์สินจากกระบวนการล้มละลาย
จนกระทั่งล่าสุด โรงแรมเป็นข่าวดังอีกครั้ง เมื่อเวลา 02.00 น.ของวันที่ 23 เมษายน 2568 เกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ บริเวณเรือนไม้ด้านหน้าที่คาดว่าจะเป็นส่วนของการให้บริการสปา