ถือเป็นอีกหนึ่งทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ อันร้อนแรงบนสังคมโซเชียลบ้านเราต่อกรณี “ทราย สก๊อต” ที่แม้จะถูกปลดออกจากหน้าที่ แต่ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ที่ทำมาหากินกับท้องทะเลไทยในพื้นที่ได้อย่างใหญ่หลวง
“ทราย สก๊อต” หรือ “สิรณัฐ ภิรมย์ภักดี” เป็นหนุ่มลูกครึ่งไทย-สก๊อตแลนด์ ทายาทสิงห์รุ่น 4 หลานชายของจำนง ภิรมย์ภักดี ประธานบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ด้านแอนิเมชันจากสหรัฐอเมริกา
ทราย สก๊อต สร้างชื่อจากการเป็นเจ้าของสถิติว่ายน้ำทะเลข้ามเกาะโดยไม่ใช่เครื่องช่วยชีวิตรวดเดียว 30 กิโลเมตร จนได้รับฉายาว่า “อควาแมนเมืองไทย” ที่ถือเป็นอีกหนึ่งอินฟลูคนดังด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลของเมืองไทย
ทราย สก๊อต ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ซึ่งเขาถูกยกให้เป็นนักอนุรักษ์ทะเลไทยรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม ไม่ว่าจะเป็น เป็นลูกคนรวย เก่ง มีการศึกษาดี ภาษาอังกฤษเยี่ยม และเชี่ยวชาญในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียล
จากนั้นทรายได้ออกปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ด้านการอนุรักษ์ และ การสื่อกลางด้านการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ คอยแนะนำนักท่องเที่ยวที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบ ไม่ว่าการเก็บหอยไปเป็นที่ระลึก การเหยียบปะการัง การใช้ครีมกันแดด ที่เป็นอันตรายต่อปะการัง
รวมถึงการใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ของอุทยานฯ อย่างเคร่งครัด จัดการกับพวกที่ทำผิดกฎหมาย อย่างเช่น ห้ามไม่ให้เรือบรรทุกนักท่องเที่ยวทิ้งสมอเรือสร้างความเสียหายแก่ปะการัง ห้ามกลุ่มทัวร์ที่นำนักท่องเที่ยวดำน้ำให้อาหารเต่าทะเล ตักเตือนนักท่องเที่ยวที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ หรือบางครั้งหนักหน่อยคือ มีการเสพกัญชา เป็นต้น
การทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ผ่อนปรน ยอมหักไม่ยอมงอ มีแต่ขาวกับดำ ไม่มีเทา โดยมีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์ทะเลไทย แม้จะทำให้เขาได้ใจจากคนรักทะเลและชาวเน็ตจำนวนมากไปเต็ม ๆ แต่อีกมุมหนึ่งกลับสร้างความขุ่นเคือง ไม่พอใจให้กับคนที่เสียประโยชน์ หรือเจ็บแค้นจากการกระทำดังกล่าวของทราย
นอกจากนี้การที่ทราย สก๊อต โดนบริษัทเรือแห่งหนึ่งฟ้องร้อง ทั้งคดีอาญาและหมิ่นประมาท จากปมคลิปเผยแพร่ข้อมูลเท็จโยงภาพเรือให้อาหารสัตว์ทะเล ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา บวกกับจุดพีกคือเคส “หนี ห่าว” ที่ทรายเข้าไปตักเตือนและเชิญนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จงใจเหยียดเจ้าหน้าที่ชาวไทยออกจากพื้นที่
สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกที่ไม่พอใจหนุ่ม ทราย สก๊อต อาทิ บริษัททัวร์ ผู้ให้บริการเรือ ไกด์นำเที่ยว นักอนุรักษ์บางคน เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บางคน หรือแม้กระทั่งพวกที่ (แอบ) หมั่นไส้เป็นการส่วนตัว ได้ทำการตอบโต้โจมตีในโลกโซเชียล ถึงการทำหน้าที่ของทรายว่าเกินเบอร์ ล้ำเส้น ลุแก่อำนาจ รวมถึงประเด็นอื่น ๆ อาทิ
-คนขับเรือนำเที่ยวในทะเลกระบี่ที่ออกมาโต้ว่า ที่ผ่านมาพวกตนช่วยอนุรักษ์ทะเลมาตลอด แต่ทำกันเงียบ ๆ จึงไม่มีคนเห็น เพราะไม่เน้นคอนเทนต์เหมือนกับทราย
-เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บางคนที่ไม่ประสงค์ออกนาม รายงานถึงกรมอุทยานฯ เกี่ยวกับทราย สก๊อต (ซึ่งหลายคนเรียกว่าเป็นรายงานการจับผิดทราย) ใน 6 หัวข้อ ที่สรุปความได้ดังนี้
1.อ้างตัวเป็นที่ปรึกษาอธิบดีฯ ขอใช้รถ-เรือของอุทยานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า กระทบต่อภารกิจประจำ 2.ใช้ทีมงานต่างชาติ-ถ่ายทำโดยไม่ขออนุญาต แต่เอาไปลงเฉพาะในช่องตนเอง ไม่เคยส่งให้กรมอุทยานฯ 3.ตักเตือนคนอื่นด้วยถ้อยคำที่ดูเหยียดหยาม ไม่ว่าจะเป็น การเตือนนักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบการ
4.ไม่มีคุณวุฒิหรือผลงานด้านทะเลที่ชัดเจน 5.ทำคอนเทนต์โดยไม่ได้ร่วมภารกิจจริงจังตั้งแต่ต้นจนจบ 6.ทำกิจกรรมเหมือนสนองความต้องการตนเอง รวมถึงทรายมีข้อจำกัดในเรื่องอาหารการกิน เช่น ไม่กินอาหารทะเล และดื่มแต่น้ำแร่
-หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ติงการทำงานของทรายว่า ไม่ได้เข้ามาปรึกษาหารือใดๆ หรือแจ้งกำหนดการอะไร เพียงแต่มาขอใช้เรือ และกัปตันเรือของอุทยานฯ เท่านั้น ที่เหลือเขาตัดสินใจเองคนเดียว ส่วนการทำคอนเทนต์ จะมีการจ้างทีมงานมาเอง สร้างความอึดอัดใจในการทำงานของ จนท. เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่ตั้งใจทำงาน แต่กลับถูกเหมารวมว่า ละเลยหน้าที่ ทำให้เสียกำลังใจ
กับเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ทราย สก๊อต ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชน ในรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ว่า
...ผมไม่เคยล้ำเส้นทุกอย่าง มันมีกฎทุกอย่างอยู่แล้ว ผมแค่ทำทุกอย่างถูกต้อง เพราะผมชอบความสมบูรณ์แบบ ผมไม่ได้เอาแต่ใจ ระบบมันดีอยู่แล้ว คุณแค่ไม่ใช้มัน ถ้าเจอเหตุการณ์แบบในคลิปหนีห่าวอีก ผมก็จะทำแบบเดิม หรืออาจมากกว่าเดิม...
..ผมไม่อยากเป็นไม้กันหมาที่แค่รับรายงานจากชาวบ้านว่าต้องการได้รับความช่วยเหลืออะไร รายงานไปก็ไม่ได้รับการแก้ไข กลายเป็นว่าถูกตำหนิจากทั้งเจ้าหน้าที่และคนในพื้นที่...
...ปะการังมันไม่เหลืออะไรเลย 80% มันตายหมด ถ้าเขารักทะเลจริงมันจะไม่เป็นแบบนี้ เขาอยู่ในพื้นที่มานานกว่าผม ผมเพิ่งเกิดมาเกือบ 30 ปี เขาอยู่มา 60 ปี แล้วทำไมเรื่องที่ผมพูดมันเหมือนเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา ในเมื่ออุทยานมันอยู่มาก่อนที่ผมเกิดด้วยซ้ำ เรื่องที่ผมพูดมันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คนที่อยู่สมควรรู้อยู่แล้ว...
...ที่ไม่กินอาหารทะเล เพราะว่าสัตว์ทะเลเป็นสิ่งที่ผมรัก ผมเลยไม่อยากไปทำร้ายเขา เวลาลงพื้นที่ผมจะกินแค่ผัดผัก ไข่ต้ม และซอสแม็กกี้ ส่วนเรื่องดื่มน้ำแร่ไม่เป็นความจริง ทางอุทยานฯ มีรังน้ำเตรียมไว้ให้แล้ว และการดื่มน้ำแร่ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นการสร้างคาร์บอนให้กับธรรมชาจิ ผมจะดื่มไปทำไม...
ส่วนเรื่องที่หนุ่มทรายถูกฟ้องหมิ่นประมาทจากเจ้าของเรือที่ตนได้ลงคลิปให้อาหารเต่าทะเลไป โดยในคลิปนั้นมีบางช่วงถ่ายติดเรือที่มีชื่อผู้ผลิตเรือด้วย ซึ่งทางเจ้าของเรือดังกล่าวบอกว่า ตนเป็นเพียงผู้ผลิตเรือ ไม่ได้ทำบริษัททัวร์
ทรายเปิดเผยว่า เมื่อทราบเรื่องก็ลบคลิปส่วนนั้นทันที และได้แจงกลับประเด็นนี้ว่า เจตนาของตนคือต้องการสื่อเรื่องการให้อาหารเต่า ซึ่งการไปให้แบบนั้นมันจะเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของเต่าที่หาอาหารเองตามธรรมชาติ แต่พอไปให้อาหารเขา ก็อาจทำให้เต่าเรียนรู้ว่าการเข้าหาคนแล้วจะได้อาหาร และเมื่อเต่าว่ายเข้าหาคนมากขึ้นก็อาจเสี่ยงต่อการถูกใบพัดเรือจนเป็นอันตรายได้
รวมถึงหนุ่มทรายยังบอกอีกว่า เชื่อว่าคนที่ได้ดูคลิปไม่มีคนสนใจเรื่องชื่อที่ติดบนเรือหรอก ทุกคนล้วนโฟกัสกับเรื่องให้อาหารเต่ามากกว่า
อย่างไรก็ดีจากเหตุการณ์ดราม่า ทราย สก๊อต สุดท้ายก็ทำให้เขาถูก นาย “อรรถพล เจริญชันษา” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปลดออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาอธิบดีฯ เป็นข่าวโด่งดัง เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 โดย อธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุว่า ทราย สก๊อต มีประพฤติไม่เหมาะสม เตือนแล้วไม่แก้ไขปรับปรุง
หลังข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกไปบนโลกโซเชียลมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยชาวเน็ตส่วนใหญ่ ต่างแสดงความคิดเห็นว่า ปลด “อธิบดีกรมอุทยานฯ” ดีกว่าปลด “ทราย สก๊อต” พร้อมกับติดแฮชแทค #saveทราย #คืนทรายให้ทะเล ว่อนโซเชียล
สำหรับกรณีดราม่า ทราย สก๊อต ที่เป็นหนึ่งในประเด็นร้อนแรงบนโลกโซเชียล กับเรื่องราวของหนุ่มนักอนุรักษ์ที่ต่อสู้เพื่อทะเลไทยแบบไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม จนกลายเป็นขวัญใจคนรักทะเลและชาวเน็ตจำนวนมาก แต่เขากลับโดนผู้ประกอบการในพื้นที่ส่วนหนึ่งต่อต้านขับไล่ โดนเจ้าหน้าที่อุทยานฯ บางคนโจมตีเรื่องการทำงาน โดนนักอนุรักษ์บางคนต่อต้าน และโดนใครบางคนข่มขู่ จนสุดท้ายทรายถูกปลดออกจากตำแหน่ง
งานนี้นอกจากสังคมจะกังขาว่า ทรายบังเอิญไปเหยียบตีนใคร หรือไปขัดผลประโยชน์ของใครหรือเปล่า? แล้วการที่เขาตะโกนแฉความเละเทะของอุทยานทางทะเล และเผยให้เห็นถึงความมักง่ายเอาแต่ได้ของผู้ประกอบการส่วนหนึ่ง ก็จำเป็นที่พวกเขาเหล่านั้นต้องรับไปปรับปรุงแก้ไข เพราะที่ผ่านมาก่อนหน้านั้นไม่นานก็มีข่าวเรื่องของอุทยานฯแห่งหนึ่งร่วมมือกับผู้ประกอบการกระทำทุจริตจนเป็นข่าวโด่งดังมาแล้ว
ขณะที่ตัวทรายเองก็จำเป็นต้องแก้ไขข้อบกพร่องบางเรื่องของตัวเองที่อาจเป็นสาเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ไม่หวังดีนำมาโจมตี (แต่ต้องไม่สูญเสียในหลักการ) เพื่อให้เดินหน้ายืนหยัดในเส้นทางนี้ต่อไปได้อย่างยาวไกล
เพราะนี่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า คนอย่างทราย สก๊อต (หรือนักต่อสู่คนอื่น ๆ) แม้จะตั้งใจทุ่มเทต่อสู้เพื่อท้องทะเลไทยอย่างเต็มที่ แต่ว่าการทำถูกต้องของอาจไม่เป็นที่ถูกใจใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้สูญเสียผลประโยชน์ทั้งหลายที่มุ่งแต่กอบโกยหากินกับทะเลไทยด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่สนว่าทรัพยากรธรรมชาติจะฉิบหายขนาดไหนก็ตาม