เปลวไฟจากดินประสิวหรือดินปืนพวยพุ่งเป็นประกายออกจาก “หุ่นควาย” ขนาดราวท่อนแขน เสียง “ซู่” จากแรงระเบิด ชวนลุ้นระทึกไปพร้อมกับจังหวะที่หุ่นควายพุ่งไปอย่างรวดเร็ว แม้เป็นเวลาเพียงไม่กี่นาที แต่ก็สร้างความสนุกตื่นเต้นให้แก่ผู้ชม สำหรับการละเล่นที่มีเพียงแห่งเดียวในไทยที่มีชื่อเรียกว่า “ควายเพลิง”
“ควายเพลิง หรือชนควายเพลิง”
การละเล่นพื้นบ้านของชาวจันทบุรีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ใช้หุ่นควายทำจากไม้ประกอบรูปร่างเป็นลักษณะควายที่เขา สี่ขา และลำตัว โดยด้านท้ายหรือบริเวณก้นควายนั้น เป็นช่องว่างลักษณะกระบอกเพื่อใช้สำหรับอัดดินปืนเข้าไป
กติกาการละเล่นชนิดนี้ เป็นการอัดดินปืนเข้าไปในตัวควายแล้วจุดระเบิด เพื่อให้หุ่นควายขับเคลื่อนวิ่งไปตามเส้นลวดที่ผูกรั้งไว้เป็นสนามแข่งขัน โดยหุ่นควายมีสองฝั่ง เรียกว่า ควายดำ กับ ควายเผือก (แต่เป็นสีชมพูอ่อน) ใช้การจุดชนวนระเบิดเพื่อให้หุ่นควายวิ่งไปชนกัน
ความสนุกคือการระเบิดของดินปืน ทำให้หุ่นควายพุ่งเข้าชนกันไปมาแล้วแต่สูตรของระเบิดที่ผสมไว้ หุ่นควายทั้งสองตัวจะผลักดันกันไปมาข้ามเขตของอีกฝั่ง มีทั้งช่วงที่ระเบิดจนพุ่งไป มีช่วงหยุดเหมือนเป็นการหลอกอีกฝั่งต่อสู้ว่าหมดแรง
การตัดสินแพ้ชนะ พิจารณาจากควายเพลิงฝ่ายใดสามารถข้ามไปหยุดที่อีกฝั่งได้ ไม่ว่าควายจะระเบิดหรือไม่ก็ตาม ถือว่าชนะไปเลย สร้างความสนุกสนาน ลุ้นระทึกตื่นเต้นให้แก่ผู้ชม
การละเล่นควายเพลิงของชาวจันทบุรี นับว่ามีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่มีการรื้อฟื้นกลับมาราว 15 ปีที่แล้ว โดยแต่เดิมมีการทำควายเพลิงเพื่อสาธิตไม่กี่แห่ง เช่น วัดทองทั่ว วัดโยธานิมิต วัดเกาะขวาง และวัดเกาะตะเคียน แต่จะมีแข่งขันกันเป็นประจำทุกปีที่วัดทองทั่ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งการจัดแข่งขันต้องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เนื่องจากถือเป็นกิจกรรมที่มีความอันตราย ดินประสิวต้องมีอัตราส่วนผสมแล้วแต่สูตรดินปืนของแต่ละทีม ซึ่งต้องมีความเชี่ยวชาญ ในช่วงที่ทำการสาธิต หรือการแข่งขัน จึงมีระยะที่ปลอดภัยในการชม ควรออกมาห่างๆประมาณ 3 เมตร
“พระครูจารุเขมากร” เจ้าอาวาสวัดทองทั่ว กล่าวว่า ปัจจุบันการละเล่นควายเพลิง หลงเหลือเพียงแห่งเดียวที่วัดทองทั่ว ซึ่งในปี พ.ศ.2568 นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดจันทบุรี เตรียมจัดงาน “เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์จันทบุรี 2568” โดยหนึ่งในกิจกรรมก็มีการจัดภายในวัดแห่งนี้ด้วย ชื่องาน “ควายเพลิง เริงสงกรานต์ ตำนานวัดทองทั่ว” ระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน 2568
ไฮไลต์อย่างการแข่งขันการละเล่นควายเพลิง ต้องอดใจรอในเวลาประมาณ 20.00 น. เพื่อให้เกิดความตื่นเต้น จากเปลวไฟที่เห็นชัดในเวลากลางคืนนั่นเอง
การละเล่นพื้นบ้านนี้ ถือเป็นการละเล่นหาชมได้ยากหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่ง ททท.สำนักงานจันทบุรี ยกระดับการจัดงานและสืบสานประเพณีเพื่อเป็นการอนุรักษ์ และต่อยอดกิจกรรมภายใต้แนวคิดย้อนวันวานจันทบูร
นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจสามารถแวะไปเที่ยวชมการละเล่นหนึ่งเดียวในประเทศไทยได้ระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน 2568 ณ วัดทองทั่ว ต.คลองนารายณ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี
กิจกรรมเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์จันทบุรี
สำหรับเทศกาลสงกรานต์จังหวัดจันทบุรีในปี พ.ศ. 2568 นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจันทบุรี จัดกิจกรรมไฮไลต์ไว้ทั้งหมด 3 งาน โดยรณรงค์ให้เป็นสงกรานต์ปลอดภัย และสนับสนุนให้แต่งกายผ้าไทยออกมาเล่นสงกรานต์ ได้แก่
1.งาน “อาบน้ำพระจันทร์ สงกรานต์ราตรี วิถีจันท์” ครั้งที่ 2
วันที่ 12-13 เมษายน 2568 ณ เวทีลานกีฬาคนรักจันท์ เทศบาลเมืองจันทบุรี
กิจกรรมภายในงาน ดังนี้ ช่วงเช้าวันที่ 12 เมษายน 2568 พิธีกวนข้าวทิพย์ ขบวนแห่งสงกรานต์และพระพุทธรูปสำคัญ ส่วนในช่วงค่ำ จะกิจกรรมดนตรี DJ อุโมงค์น้ำการเล่นเวฟและสาดน้ำกับบอลลูนพระจันทร์ ที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดจันทบุรี ตั้ฃแต่เวลา 18.00 น.ของวันที่ 12 เมษายน และวันที่ 13 เมษายน ตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืน
2.งาน “ควายเพลิงเริงสงกรานต์ ตำนานวัดทองทั่ว”
วันที่ 13-17 เมษายน 2568 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป ณ วัดทองทั่ว ต.คลองนารายณ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี โดยมีกิจกรรมภายในงาน ดังนี้ การแข่งขันประชันควายเพลิง (เริ่มเวลา 20.00 น.), สรงน้ำพระ ทำบุญ เกื้อหนุนชีวี ก่อพระเจดีย์ทราย ถวายพุทธบูชา, ประดับไฟ บูชาศรัทธาเรืองรอง, ชิมอาหารพื้นถิ่น ย้อนวันวาน ณ ตลาดจันท์เจ้าขา หาของกินอร่อย ของกินโบราณจากชุมชนคนทองทั่ว, สาธิตการทำขนมหวาน สารพัดทอง ของหวานจันทบูร, ชวนแต่งชุดไทย ย้อนยุค สมัยคุณปู่ คุณย่าวัยหนุ่ม วัยสาว มาถ่ายรูปสวย
3.งานมหาสงกรานต์ตะปอน ตำนานแห่รอยพระพุทธบาทผ้า 400 ปี”
วันที่ วันที่ 13-15 เมษายน 2568 ณ วัดตะปอนน้อย อ.ขลุง จ.จันทบุรี และวันที่ 16-17 เมษายน 2568 ณ วัดตะปอนใหญ่ อ.ขลุง จ.จันทบุรี ชมพิธีแห่ผ้าพระบาทเก่าแก่ขึ้นบนหลังเกวียน และการชักเย่อเกวียนเพื่อชิงผ้าพระบาทนำไปบูชาในหมู่บ้านของผู้ชนะ