xs
xsm
sm
md
lg

“ประเพณีแห่พญายม” บางพระ จ.ชลบุรี หนึ่งเดียวในโลก ปล่อยทุกข์โศกลงทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


ประเพณีแห่พญายม หนึ่งเดียวในโลก ปล่อยทุกข์โศกลงทะเล ที่ ต.บางพระ ชลบุรี
ช่วงเทศกาลสงกรานต์ จังหวัดชลบุรีนอกจากจะมีประเพณีชื่อดังอันเป็นเอกลักษณ์อย่างประเพณี “วันไหล” ที่จัดขึ้นหลังวันสงกรานต์ในหลายพื้นที่แล้ว ก็ยังมี “ประเพณีแห่พญายม” ของชาวตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา ที่ถูกยกให้เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกที่จัดขึ้นในช่วงหลังวันสงกรานต์ ซึ่งมีความแปลกและมีเอกลักษณ์ไม่น้อยเลย

แห่พญายมเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับความเชื่อของชาวบางพระ ที่มีข้อมูลระบุว่าจัดขึ้นมากว่า 120 ปีแล้ว ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2442 ในสมัยนั้นบางพระยังเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรี ก่อนที่ต่อมาในปี พ.ศ.2460 จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นตำบลบางพระขึ้นอยู่กับอำเภอศรีราชามาจนถึงปัจจุบัน

บางพระชุมชนริมทะเล จ.ชลบุรี
ชาวบางพระในสมัยนั้นมีอาชีพหลักคือการทำการประมงพื้นบ้าน ด้วยเรือแจวขนาดเล็กโดยจะออกเรือเลาะเลียบชายฝั่งไปหา กุ้ง หอย ปู ปลา ทำให้ยามมีคลื่นลมแรงมักจะเกิดอุบัติเหตุสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินกันบ่อยครั้ง ประกอบกับวันหนึ่งพื้นที่บางพระได้เกิดโรคมาลาเรียและไข้เลือดออกระบาดหนัก ทำให้ชาวบ้านบางพระเจ็บป่วยล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ชนิดที่ไม่มีหนทางใดที่จะรักษาได้

จนกระทั่งมีชาวบ้านคนหนึ่งฝันว่า การที่จะช่วยนำพาให้ทุกคนรอดปลอดภัยได้ ต้องสร้างหุ่นแทนองค์พยายมขึ้นมา แล้วจัดพิธีเซ่นไหว้บวงสรวง ก่อนนำท่านแห่รอบหมู่บ้านเป็นการสะเดาะเคราะห์ โดยให้ชาวบ้านทุกคนมารวมตัวกันกลางลานหมู่บ้านเพื่อทำพิธีขอขมาลาโทษ จากนั้นให้นำหุ่นแทนองค์พญายมไปลอยลงสู่ทะเลให้ไกลที่สุด

เมื่อชาวบ้านได้ลองปฏิบัติตาม ปรากฏผลเป็นจริงดังว่า โรคภัยไข้เจ็บคลี่คลายหายไปจากหมู่บ้านบางพระ และทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข

ผู้ร่วมงานตั้งจิตอธิษฐานต่อองค์พญายม
และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาชาวบ้านบางพระได้ก่อเกิดความศรัทธาเลื่อมใสต่อองค์พญายม จึงร่วมกันจัดงานประเพณี “แห่พญายม” ขึ้น และจัดสืบต่อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับการปั้นหุ่นพญายม ในระยะแรก ๆ มีการปั้นกันที่บ้านกำนันเป๊ะ นางหลา บัวเขียว โดยนำวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ใช้ไม้ไผ่ทำโครง ขึ้นรูปร่างด้วยฟางข้าว นำถุงปูนมาตกแต่งทำเครื่องทรงอย่างกษัตริย์ แต่งแต้มด้วยดินหม้อ ดินสอพอง ดวงตาทำด้วยลูกหมากสุกสีแดงเพื่อให้ดูน่าเกรงขาม มือขวาถือบ่วงบาศ มือซ้ายถือไม้เท้ายมทัณฑ์ ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นเสลี่ยงสำหรับหามหุ่นพญายมเพื่อนำไปลอยลงสู่ทะเล

พิธีบวงสรวงองค์พญายม
จากนั้นประเพณีแห่พญายมก็ได้รับการสืบสานปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นเอกลักษณ์คู่ชุมชนบางพระมาจนถึงปัจจุบัน โดยแต่ละปีจะมีการออกแบบหุ่นพญายมให้มีความแปลกแตกต่างกันออกไป แต่ก็ยังคงไว้ตามความเชื่อดั้งเดิมควบคู่ไปกับการจัดงานประเพณีอย่างยิ่งใหญ่ มีขบวนแห่และรถแห่ใหญ่โต พร้อมการจัดงานสงกรานต์บางพระอย่างคึกคักสนุกสนาน จนถูกยกให้เป็นงานสงกรานต์วันไหลบางพระไปดดยปริยาย

ปัจจุบันประเพณีแห่พญายม สงกรานต์บางพระ มีกำหนดจัดขึ้นหลังวันสงกรานต์ในช่วงวันที่ 17-18 เมษายนของทุกปี โดยในวันที่ 17 เมษายน ชาวบ้านจะมารวมตัวกัน เพื่ออัญเชิญองค์พญายมไปทำพิธีเบิกเนตรและทอดผ้าป่า

ขบวนแห่พญายมหนึ่งในไฮไลต์ของงาน
จากนั้นรุ่งขึ้นวันที่ 18 เมษายน ในช่วงบ่ายจะมีขบวนแห่องค์พญายมอย่างสวยงาม คึกคัก ระหว่างทางจะมีประชาชนมาร่วมสรงน้ำพระพุทธรูป พร้อมตั้งจิตอธิษฐานฝากทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งไม่ดีต่าง ๆ ไปกับองค์พญายม

ครั้นในช่วงเย็นจะมีการทำพิธีบูชาองค์พญายม พร้อมด้วยอาหารเครื่องเซ่นคาวหวาน จากนั้นช่วงเวลาก่อนตะวันจะลับขอบฟ้า บรรดาตัวแทนพิธีจะช่วยกันหามเสลี่ยงที่ประทับองค์พญายมลงบนแพลอยลงสู่ทะเล เพื่อนำท่านไปลอยออกสู่ทะเล ถือเป็นอันเสร็จพิธี

ผู้ร่วมงานตั้งจิตอธิษฐานต่อองค์พญายม
สำหรับประเพณีแห่พญายมบางพระปีนี้ มีรายละเอียดการจัดงานเบื้องต้น ดังนี้

ประเพณีแห่พญายม (สงกรานต์บางพระ) ประจำปี 2568 จัดขึ้นในวันที่ 17 - 18 เมษายน 2568 ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ชายทะลบางพระ

ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ ได้แก่

วันที่ 17 เมษายน 2568

- กราบขอพรผู้ใหญ่เนื่องในวันสงกรานต์
- แข่งขันหมากรุก หมากฮอส
- แข่งขันยิงหนังสติ๊ก



วันที่ 18 เมษายน 2568

- ขบวนแห่องค์พญายม
- ขบวนแห่หลวงปู่ฉิ่ง หลวงปู่กัง หลวงปู่บู๊
- พิธีบวงสรวงสักการะองค์พญายม
- พิธีอัญเชิญองค์พญายมลงสู่ทะเล


ประชาชนมาร่วมส่งหุ่นพญายมลอยสู่ทะเล
สำหรับประเพณีแห่พญายมหนึ่งเดียวในโลกนั้น ชาวบ้านบางพระเชื่อกันมาแต่อดีตที่เริ่มจัดงานว่า การนำหุ่นพญายมลอยลงสู่ทะเลนั้น เป็นการ ปล่อยทุกข์ ปล่อยโศก ปล่อยความยากลำบาก โรคภัยไข้เจ็บ และอุปสรรคอันตรายต่าง ๆ ให้ลอยหายไปกับคลื่นทะเล

นอกจากนี้ชาวบ้านบางพระส่วนใหญ่ยังเชื่อกันว่า การระลึกบูชาองค์พญายมก่อให้เกิดอานิสงค์สำคัญ คือความเป็นสิริมงคลในด้านของการต่ออายุให้ยืนยาวอีกด้วย

ชาวบางพระเชื่อว่าการลอยหุ่นพญายมลงทะเลคือการลอยทุกข์โศก

ปล่อยทุกข์โศกลงสู๋ทะเลกับประเพณีแห่พญายมของชาวบางพระ

ประเพณีแห่พญายมเปรียบดังวันไหลของชาวบางพระ
###############


หมายเหตุ : ภาพประกอบ จาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)




กำลังโหลดความคิดเห็น