xs
xsm
sm
md
lg

เยือนวัดเก่าแก่ "วัดชัยภูมิการาม" สัมผัสมนต์ขลังแห่งศิลปะ-ตำนานเหรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากเอ่ยถึงเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี หลายคนอาจนึกถึงถนนคนเดินริมน้ำโขงยามเย็น หรือวิวพระอาทิตย์ตกดินสุดโรแมนติก แต่มีอีกหนึ่งสถานที่ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ทางประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณที่น่าค้นหา นั่นคือ "วัดชัยภูมิการาม" วัดเก่าแก่ที่แฝงไว้ด้วยตำนานและศิลปะอันงดงามอย่าง “เหรา” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดที่น้อยคนนักจะรู้จัก

วัดชัยภูมิการาม หรือ วัดกลาง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตําบลเขมราฐ อําเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เดิมชื่อว่า "วัดชัยภูมิ" สันนิษฐานว่า สร้างเมื่อประมาณปี 2317 ตั้งอยู่ในเขตเมืองเขมราษฎร์ธานีซึ่งเป็นเมืองหน้าด่าน เป็นวัดที่เก่าแก่และเป็นที่เคารพของชาวบ้านในเมืองเขมราฐอีกแห่งหนึ่ง


โดยสันนิษฐานว่ารับเอาวัฒนธรรมพุทธศาสนามาจากเวียงจันทน์ หลวงพระบาง ช่วงเวลาการสร้างวัดเป็นช่วงการครองราชย์ของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมาธิราชแห่งลาวราชอาณาจักรล้านช้าง ตรงกับไทยในสมัย พระเจ้าประสาททอง พระเทพราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. 2180-2237 บ้านกงพะเนียงก็รับเอาวัฒนธรรมมาสร้างวัดเช่นกัน นับจากวัดกลางเป็นวัดที่เก่าแก่แต่โบราณ ในสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าให้ตั้งบ้านกงพะเนียงขึ้น เป็นเมืองชื่อ "เมืองเขมราษฎร์ธานี" ขึ้นกับกรุงเทพมหานคร


พร้อมกันนั้นได้ตั้งให้อุปราช (ก่ำ) เป็นเจ้าเมืองคนแรกในปี พ.ศ.2357 และเมืองเขมราษฎร์ธานีได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเขมราฐในภายหลัง "วัดชัยภูมิ" ก็ยังไดัรับการบูรณะอุปถัมภ์ท่านเจ้าเมืองเจ้าคณะเมือง และเจ้าแขวงเจ้าคณะอําเกอ ตามลําดับ และเป็นสํานักเรียนพระปริยัติธรรมที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ ๓ ญาท่านสา เจ้าคณะเมืองได้เข้าเฝ้าในรัชกาลที่ ๓ ที่กรุงเทพได้รับพระราชทานไปรดเกล้าตั้งชื่อว่า "วัดชัยภูมิการาม"




อุโบสถ หรือ สิม สร้างในสมัยพระครูเขมรัฐฐานานุรักษ์ (ญาพานสี) ประมาณปี พ.ศ. 2440 เป็น อุโบสถแบบมหาอุต ก่ออิฐถือปูนโบราณ ศิลปะช่างสกุลญวนพื้นถิ่นอีสาน มีหน้าต่าง 10 ช่อง หลังคา 3 ชั้นที่มีรูปแบบเรียบง่าย เป็นที่ประดิษฐาน "พระสิทธิมงคล" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ศิลปะล้านช้าง บันไดประดับรูปปั้นเหรา ซึ่งมีลักษณะเรียบงายไม่มีลวดลาย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ "เหรา วัดกลาง" ศาลาโรงธรรม สร้างในคราวเดียวกันกับอุโบสถสร็จ พ.ศ.2444 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีหน้าต่าง 10 ช่องประตู 5 ช่องผนัง ภายในมีภาพเขียนสีฝุ่นเกี่ยวกับพทธประวัติ พระมาลัย เป็นต้น




สำหรับเหรา (เห-รา) หรือ มกร เป็นสัตว์ในตํานานป่าหิมพานต์ ซึ่งเฝ้าเชิงเขาพระสุเมร ไม่ให้ใครขึ้นไปรบกวนเหล่าทวยเทพต่างๆ และสิ่งศักดิสิทธิ์ คติความเชื่อส่งผ่านจากคติฮินดู ที่นิยมสร้างรูปปั้น เหรา เฝ้าทางขึ้นอาคาร สิ่งก่อสร้าง ที่สมมติว่าเป็นเขาพระสุเมรุ สู่คติพุทธ ซึ่งในล้านนา ล้านช้าง และลุ่มนําโขง ซึ่งนิยมปั้นเหรา ไว้ที่บันไดขึ้นสิม หรืออุโบสถ


แต่ที่พบส่วนมากจะเป็นเหรา คล้าย พญานาค ที่งดงามอลังการ เหรา วัดกลาง มี 5 หงอน ไม่มีเกล็ด เท้าด้านหลังเหยียบปลา มีลักษณะสวยงามแปลกตา ปั้นด้วยปูนโบราณ ฝีมือช่างพื้นเมือง ปั้นขั้นแบบรียบง่าย ตัดทอนในสิ่งที่ไม่จําเป็นออกเหลือเพียงความงามที่บริสุทธิ์ ไม่มีเกล็ด หรือ ปลวกนกอย่างช่างหลวง แต่สร้างด้วยความจริงใจ และศรัทธาในพระพทธศาสนา เป็นความงามอีกรูปแบบหนึ่งที่หาได้ยากในปัจจุบัน ทางพุทธศาสนาตัวเหราจะเหมือนอุปาทาน ความยึดติด ความลุ่มหลง ส่วนพญานาค จะหมายถึง ความมีชีวิต ร่างกาย จิตใจของเรา โดยเป็นคําสอนได้ว่าการไม่ยอมแพ้ให้กิเลสของความชั่วกลืนกินตัวเราได้ทั้งหมด ซึ่งบอกเป็นนัยได้ว่าให้คนที่มาที่โบสถ์หรือมาที่วัดให้ละทั้ง ความทุกข์ ทิ้งความยึดติด ทิ้งความลุ่มหลงของตนเองเอาไว้ภายนอกโบสถ์ เพื่อที่จะได้ขึ้นไปรับเอาความสุข ความสงบร่มเย็น และปล่อยวาง


ส่วนศาลาการเปรียญหรือศาลาโรงธรรมวัดชัยภูมิการาม ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมศิลปะพื้นบ้านที่วาดโดยช่างศิลป์ในสมัยก่อน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ผลของการทำความดีความชั่ว เป็นต้น มีมากกว่า 20 ภาพ


การมาเยือนวัดชัยภูมิการาม นอกจากจะได้ชมงานศิลป์โบราณแล้ว ยังได้ซึมซับบรรยากาศที่สงบ เรียบง่าย และอบอุ่นของวิถีชุมชน โดยเฉพาะในช่วงวันพระหรือเทศกาลสำคัญ ที่วัดจะเต็มไปด้วยกิจกรรมบุญแบบพื้นบ้าน ทั้งการแห่เทียน การฟังธรรม และการทำบุญตักบาตรแบบดั้งเดิม


การเดินทางจากตัวเมืองอุบลฯ มายังวัดชัยภูมิการาม ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงโดยรถยนต์ ขับเลียบแม่น้ำโขงไปเรื่อย ๆ ผ่านทุ่งนาและภูเขา วิวระหว่างทางนั้นสวยงามไม่แพ้ปลายทาง ใครที่ชื่นชอบการเดินทางแบบสโลว์ไลฟ์ ที่นี่คือจุดหมายที่ตอบโจทย์


"วัดชัยภูมิการาม" ไม่ใช่แค่วัดเก่า แต่เป็นสถานที่ที่เก็บรักษาความทรงจำ ความเชื่อ และความงามของวัฒนธรรมอีสานเอาไว้ได้อย่างแนบเนียน หากคุณมีโอกาสได้เดินทางมายังเขมราฐ อย่าลืมแวะมาสัมผัสพลังแห่ง “เหรา” และปล่อยใจให้สงบไปกับมนต์เสน่ห์ของวัดแห่งนี้

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น