xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินไหวใหญ่ไม่อาจทำอะไร “พระธาตุอินทร์แขวน” สิ่งศักดิ์สิทธิ์-ธรรมชาติมหัศจรรย์แห่งเมียนมาได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


แผ่นดินไหวใหญ่เมื่อ 28 มี.ค. 68 ในเมียนมา ไม่อาจทำอะไรพระธาตุอินทร์แขวนได้
พระธาตุอินทร์แขวน นอกจากจะเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญสูงสุด หรือ “เบญจมหาบูชาสถาน” ของประเทศเมียนมาแล้ว ยังถูกยกให้เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของเมียนมา ซึ่งจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมาที่ระดับความแรง 8.2 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำความมหัศจรรย์ของพระธาตุศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ยิ่งนัก

โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ดังกล่าวแม้จะทำให้ยอดของพระธาตุอินทร์แขวนสั่นไหวไปตามความรุนแรงจนกลายเป็นคลิปไวรัลบนโลกโซเชียล แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อองค์พระธาตุอินทร์แขวนที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาอันน่าทึ่ง สมกับตำนานความเชื่อเรื่องพระอินทร์แขวนหินไว้บนภูเขาอันลือลั่น

พระธาตุอินทร์แขวน 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญสูงสุดของเมียนมา
พระธาตุอินทร์แขวน หรือที่คนพม่าและคนมอญเรียกว่า “ไจก์ทิโย” ตั้งอยู่ในเมือง “ไจก์โถ่” รัฐมอญ ประเทศเมียนมา บนยอดเขาพวงลวง ณ ระดับความสูง 3,615 ฟุต จากระดับน้ำทะเล ปัจจุบันนอกจากการนั่งรถขึ้นเขาสูงชันอันเลี้ยวลดคดเคี้ยวแล้ว ยังสามารถนั่งกระเช้าขึ้นสู่บนยอดเขาพวงลวงได้อีกทางหนึ่ง

พระธาตุอินทร์แขวนมีตำนานเรื่องเล่าที่มีเค้าโครงเรื่องหลักคล้าย ๆ กัน อยู่หลายตำนาน โดยตำนานที่มีการพูดถึงกันอย่างแพร่หลายนั้น เล่าขานว่า

...ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ประทานพระเกศาแก่ฤๅษี ซึ่งเหล่าฤๅษีต่างนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์ต่างๆ แต่มีฤๅษีองค์หนึ่ง (หลายข้อมูลระบุว่าชื่อ “ฤๅษีติสสะ”) กลับนำพระเกศาไปซ่อนไว้ในมวยผม ครั้นเมื่อถึงคราวต้องละสังขาร ฤๅษีองค์นี้จึงอธิษฐานว่าจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายกับศีรษะของตน พระอินทร์จึงมาช่วยค้นหาก้อนหิน แล้วค้นพบก้อนหินรูปลักษณะดังกล่าวจากใต้ท้องมหาสมุทร พระอินทร์จึงนำมาแขวนไว้บนภูเขาหิน อันเป็นที่มาของ “พระธาตุอินทร์แขวน” อันลือลั่น...


พระธาตุอินทร์แขวน พระธาตุประจำตัวคนเกิดปีจอ
ก้อนหิน (ทา) สีทองอร่ามองค์พระธาตุอินทร์แขวนที่มีการสร้างเจดีย์ขนาดเล็กด้านบน มีความสูงประมาณ 25 ฟุต (7.6 เมตร) มีเส้นรอบวง 50 ฟุต (15 เมตร)

หินยักษ์ก้อนนี้มีน้ำหนักหลายร้อยตัน ตั้งอยู่บนริมผาหินธรรมชาติที่เปรียบเสมือนฐานของพระธาตุ ในลักษณะหมิ่นเหม่ท้าทายแรงดึงดูดของโลกจนดูเหมือนจะตกมิตกแหล่ ทั้งยังมีส่วนหนึ่งของก้อนหินยื่นล้ำไปในอากาศแบบไม่มีอะไรรองรับ จนดูเหมือนจะตกกลิ้งลงมาทุกขณะ แต่ที่ผ่านมาก็อนหินใหญ่ก็ยังไม่เคยมีการเคลื่อนแต่อย่างใด รวมถึงในเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 ที่ผ่านมาด้วย

พระธาตุอินทร์แขวนตั้งอย่างหมิ่นเหม่ท้าทายแรงดึงดูดโลก
สำหรับปรากฏการณ์ธรรมชาติอันสุดทึ่งของก้อนหินยักษ์พระธาตุอินทร์แขวน ที่ผ่านมาได้มีผู้รู้ให้ข้อมูลในทางวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยากันอย่างแพร่หลาย และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยหนึ่งในข้อมูลที่ได้รับการเผยแพร่อ้างอิงกันอย่างกว้างขวาง เป็นของ ดร.บัญชา พนาจรัญสวัสดิ์ ที่ตั้งข้อสันนิษฐาน สรุปความว่า...

...เมื่อผิวโลกมีการเคลื่อนตัว ก้อนหินพระธาตุอินทร์แขวนอาจเคลื่อนหล่นลงมา แล้วบังเอิญมาติดคาตั้งตระหง่านอยู่ริมเพิงผาของยอดเขาพวงลวง ซึ่งเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องเพราะมี “จุดศูนย์ถ่วง” หรือ “จุดรวมมวล” อยู่บนหน้าผามากกว่าส่วนที่ยื่นออกไป และจะคงอยู่เช่นนั้นตลอดไป หากไม่มีเหตุการณ์อะไรมาทำให้จุดดังกล่าวเคลื่อนไปจากเดิม...

ศรัทธาจากชาวพม่าที่มีต่อพระธาตุอินทร์แขวน
ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ที่เลื่องลือไกลบวกกับการเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่ามหัศจรรย์ ทำให้พระธาตุอินทร์แขวนถูกยกย่องให้เป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญสูงสุดของพม่า หรือ “เบญจมหาบูชาสถาน” ซึ่งเชื่อกันว่าใครได้มากราบสักการะองค์พระอินทร์แขวนจะได้บุญกุศลแรงกล้า ยิ่งหากใครได้กราบไหว้ 3 ครั้ง(3 รอบ) ขึ้นไป จะได้รับอานิสงส์ผลบุญที่สุดวิเศษยิ่งนัก

นอกจากนี้ตามคติความเชื่อเรื่องการไหว้ประธาตุประจำปีเกิด (ปีนักษัตร) ของชาวล้านนาโบราณได้เปรียบพระธาตุอินทร์แขวนเป็นดังองค์สมมุติแทน “พระเจดีย์จุฬามณี” หรือ “พระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี” ที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำตัวคนเกิดปีจอ (ปีหมา)

ศรัทธาจากชาวพม่าที่มีต่อพระธาตุอินทร์แขวน
ขณะที่ในปัจจุบันด้วยชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุอินทร์แขวนแห่งเมืองไจก์โถ่ ในประเทศเมียนมา ได้แผ่อิทธิพลมาสู่เมืองไทย ทำให้บ้านเรามีการสร้างพระธาตุอินทร์แขวนจำลองขึ้นกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น “พระพุทธบาทพระธาตุอินทร์แขวน” หรือ “พระธาตุอินทร์แขวนลำพูน” จ.ลำพูน, “พระธาตุอินทร์แขวนมหาโพธิสัมฤทธิ์” แห่งพุทธอุทยานดอยผาสวรรค์ จ.แพร่, พระธาตุอินทร์แขวนจำลอง วัดสมานรัตนารามจ.ฉะเชิงเทรา, พระธาตุอินทร์แขวนจำลอง วัดถ้ำผาแด่นจ.สกลนคร และ พระธาตุอินทร์แขวนจำลอง วัดสิเหร่จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

สำหรับผู้มีจิตศรัทธา หากไม่สามารถเดินทางไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวนองค์จริงแท้ที่ประเทศเมียนมาได้ ก็สามารถไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวนจำลองที่สะดวกต่อการเดินทางในบ้านเราได้

พระธาตุอินทร์แขวนจำลอง พุทธอุทยานดอยผาสวรรค์ จ.แพร่
##################################

ประเทศเมียนมาหรือพม่ามี 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญสูงสุด หรือ 5
มหาสถานแห่งศรัทธา หรือ “เบญจมหาบูชาสถาน” ได้แก่ 1. เจดีย์ชเวดากอง
เมืองย่างกุ้ง 2. พระธาตุอินทร์แขวน ไจก์ทิโย เมืองไจก์โถ่ 3.
เจดีย์ชเวมอดอร์ (เจดีย์มุเตา) เมืองหงสาวดี 4. เจดีย์ชเวซิกอง เมืองพุกาม
และ 5. พระมหามัยมุนี เมืองมัณฑะเลย์


##################################

หมายเหตุ : ภาพพระธาตุอินทร์แขวน เป็นภาพก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568

ศรัทธาจากชาวพม่าที่มีต่อพระธาตุอินทร์แขวน




กำลังโหลดความคิดเห็น