xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดศาลเจ้าโรงทอง (ตลาดเก่าวิเศษชัยชาญ) อ่างทอง ท่องเที่ยวตลาดย้อนยุค ชิมขนมไทยหายาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรอกเล็กๆทางเดินกว้างราวสองเมตร ขนาบด้วยห้องแถวไม้แบบโบราณกลิ่นอายไทย-จีนปลูกเรียงติดกันอย่างเป็นระเบียบ มีร้านค้าหลากหลายคละกันซึ่งคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ทั้งพ่อค้าแม่ขาย คนในชุมชนที่มาจับจ่าย รวมทั้งเหล่านักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นที่เดินเมียงมองหาสินค้าอันเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

บรรยากาศภายในตลาด
ประวัติของตลาดเก่าแห่งอ่างทอง
ตลาดแห่งนี้ คือ “ตลาดศาลเจ้าโรงทอง” หรือ ตลาดเก่าวิเศษชัยชาญ อีกหนึ่งจุดหมายท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดอ่างทอง เป็นตลาดที่มีความเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ผสมผสานทั้งเรื่องวิถีชีวิตและอาหารการกิน ด้วยพื้นฐานการเป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีที่อยู่ติดริมแม่น้ำน้อย ว่ากันว่า ชาวชุมชนตั้งรกรากกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไม่ไกลจากแม่น้ำ ตลาดจึงเคยเป็นศูนย์การค้าขายของจังหวัดอ่างทองในอดีต เพราะสมัยก่อนผู้คนใช้เส้นทางคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก ทั้งยังเป็นเส้นทางเดินทัพ ทำให้เกิดชุมชนและย่านการค้า ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “บ้านไผ่จำศีล" แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ

บรรยากาศภายในตลาด
เมื่อเริ่มมีความเป็นชุมชนอันเกิดขึ้นจากคณะอั้งยี่ซึ่งนำโดย “สิ่งฮะ แซ่ฉั่ว” อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และก่อสร้างศาลเจ้าพ่อกวนอูไว้เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน โดยมีโรงทำทองรูปพรรณที่มีชื่อเสียง ภายหลังจึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ตลาดศาลเจ้าโรงทอง” ราวช่วงปี พ.ศ.2420

ตลาดศาลเจ้าโรงทองมีศาลเจ้าพ่อกวนอู เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชน และยังมีศาลเจ้าตี่จู๋เอี๊ย ศาลเจ้าพ่อเล้ง (เจ้าพ่อโรงกระเบื้อง) และศาลเจ้าแม่แก่นจันทน์ โดยชาวชุมชนเล่าว่าบรรพบุรุษได้กล่าวไว้ ถ้าลูกหลานย้ายไปหาที่ทำกินที่ไหน ให้นำห่อดินของตลาดศาลเจ้าโรงทองไปด้วย จะได้มีความเจริญรุ่งเรือง

เตาอั้งโล่แบบโบราณ
สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวคู่เมืองวิเศษชัยชาญ
เหตุการณ์ไม่คาดฝันในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2548 ก็ทำให้มีจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะเกิดเหตุอัคคีภัยครั้งใหญ่ทำให้ตลาดเก่าแก่แทบจะสูญสิ้นไป แต่ชาวบ้านก็ได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันฟื้นฟูอัตลักษณ์ขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีวิศวกร สถาปนิกร่วมออกแบบวางผังตลาดใหม่ให้สวยงาม พร้อมทั้งยังคงอนุรักษ์รูปทรงวิถีชีวิตตลาดโบราณไว้


ความตั้งใจดังกล่าว เป็นผลให้ “ตลาดศาลเจ้าโรงทอง” เป็นหนึ่งในอาคารที่ได้รับเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ให้ได้รับพระราชทาน “รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2550” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น)

ต่อมาจังหวัดอ่างทอง ได้เปิดตัวตลาดยกสถานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ด้านการอนุรักษ์วิถีชีวิตชาววิเศษชัยชาญ และปัจจุบันก็ได้รับคัดเลือกจากจังหวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยใช้ชื่อ "ตลาด 100 ปี ศาลเจ้าโรงทอง"

ขนมนานาชนิด
จุดขาย “ขนมไทยโบราณ”
ภายในตลาด มีสินค้าหลากหลายประเภท ทั้งร้านขายของแบบตลาดสด ร้านขายทอง ร้านยาโบราณ เครื่องจักสาน ฯลฯ แต่สิ่งที่โดดเด่น และดึงดูดเงินในกระเป๋านักท่องเที่ยวได้มากที่สุด ต้องยกให้กับบรรดาขนมไทยนานาชนิด ที่มีทั้งขนมคุ้นหูคุ้นตา รวมทั้งขนมหายากอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

ขนมครกหน้ากุ้ง สูตรโบราณ
ขนมไทยพื้นบ้านที่หารับประทานได้ยาก เช่น ขนมขี้ควาย ขนมโสมนัส ขนมครกโบราณหน้ากุ้ง ขนมบ้าบิ่น ขนมดอกดิน เป็นต้น

แต่ไฮไลต์ของขนมในตลาด ต้องยกให้กับ “ขนมเกสรลำเจียก” ซึ่งเป็นขนมที่ได้รับคัดเลือกติดในรายการ 1 เมนูต่อ 1 จังหวัด ของอ่างทอง และถือได้ว่าเป็นขนมพื้นบ้านที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดยที่มาของชื่อ เพราะคล้ายดอกลำเจียก ที่มีสีสันสวยงาม

การทำขนมเกสรลำเจียก
ประวัติของขนมไทยโบราณอันเป็นเอกลักษณ์ของอ่างทอง สันนิษฐานว่าเริ่มเผยแพร่เข้ามาในวิเศษชัยชาญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ นับเป็นหนึ่งในขนมที่อยู่ในกาพย์พระราชนิพนธ์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ความว่า

“ลำเจียกชื่อขนม นึกโฉมฉมหอมชวยโชย ไกลกลิ่นดิ้นแดโดย โหยให้หาบุหงางาม”

การทำขนมเกสรลำเจียก
กล่าวกันว่า สตรีชาววิเศษชัยชาญล่องเรือไปค้าขายที่บางกอกในสมัยนั้นได้ไปรู้จักกับแม่ครัวที่ทำอาหารอยู่ในวัง ด้วยความสนิทสนมกันจึงได้สูตรขนมชาววังดังกล่าวมา และมีการทำกันในเฉพาะที่วิเศษชัยชาญ ที่ยังคงสืบทอดกรรมวิธีการทำขนมเกสรลำเจียกมาอย่างไม่ขาดสาย

ขนมมีรสชาติหวานกลมกล่อม ทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำกะทิผ่านการอบควันเทียน นำไปร่อนผ่านตะแกรงลงในกระทะร้อนๆ เป็นแผ่นบาง ไส้ทำมาจากมะพร้าวอ่อน มีกลิ่นหอมจากน้ำใบเตย กินเปล่าๆ หรือกินคู่กับเครื่องดื่มก็เข้ากัน โดยถือเป็นขนมประจำท้องถิ่นที่หารับประทานได้ยาก

ขนมเกสรลำเจียก
ตลาดศาลเจ้าโรงทอง
ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง
เปิดทุกวัน 8.00-18.00 น.

ขนมเกสรลำเจียก
ส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น