xs
xsm
sm
md
lg

“รถคอกหมู” สุโขทัยยังอยู่ วิ่งได้ตามเงื่อนไขใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขนส่งสุโขทัยแจงดราม่า ยกเลิกต่อทะเบียน “รถโดยสารคอกหมู” ปิดตำนานหนึ่งในเอกลักษณ์สุโขทัย ระบุรถดังกล่าวยังวิ่งได้ภายใต้เงื่อนไขใหม่ แชสซี (คัสซี) ไม่ถึง 40 ปี สามารถต่อทะเบียนวิ่งให้บริการได้ตามปกติ ส่วนแชสซีเกิน 40 ปี ให้ต่อทะเบียนรูปแบบอื่น

จากกรณีข่าวลือสะพัดโลกโซเชียล จนกลายเป็นดราม่าประเด็นร้อนว่า สำนักงานขนส่งจังหวัดสุโขทัย จะยกเลิกการต่อทะเบียนให้กับ “รถโดยสารคอกหมู” หรือ “รถคอกหมู” หรือ “รถสองแถวไม้” ที่เป็น Soft Power และเอกลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย มายาวนานกว่า 88 ปี โดยปีนี้ 2568 จะเป็นปีสุดท้ายที่รถสองแถวไม้ หรือรถคอกหมูในตำนาน จะสามารถวิ่งให้บริการประชาชน-นักท่องเที่ยว ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นายประเสริฐ สุวรินทร์ธนากุล ขนส่งจังหวัดสุโขทัย ได้ออกมาชี้แจงกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ว่า ตามที่มีข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ขนส่งจังหวัดสุโขทัยประกาศยกเลิกการต่อทะเบียนรถโดยสารคอกหมูหรือรถโดยสารสองแถวไม้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัยมายาวนานถึง 88 ปี ในปี 2568 จะเป็นปีสุดท้ายที่รถโดยสารสองแถวหรือรถคอกหมูในตำนาน จะสามารถวิ่งให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นั้น

ขนส่งจังหวัดสุโขทัย ขอเรียนว่า คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ในการประชุมครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 ได้มีมติอนุมัติให้กำหนดอายุการใช้งานสูงสุดของรถโดยสารประจำทางหมวด 3 และหมวด 4 ส่วนภูมิภาค ระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร กำหนดอายุการใช้งานสูงสุดของโครงคัสซี (แชสซี) ต้องไม่เกิน 40 ปี โดยให้รถโดยสารประจำทางที่บรรจุในเส้นทางที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไว้แล้ว ถ้าอายุโครงคัสซีเหลือไม่ถึง 10 ปี หรือมีอายุโครงคัสซีเกินกว่าที่กำหนดให้ใช้งานต่อไปอีก 10 ปี ซึ่งการกำหนดอายุการใช้งานสูงสุดของรถโดยสารประจำทางให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2558 เป็นต้นไป


ส่งผลให้ในปี 2568 รถโดยสารคอกหมูหรือรถโดยสารสองแถวในเส้นทางหมวด 3 สายที่ 668 พิษณุโลก - กงไกรลาศ และเส้นทางหมวด 4 จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีอายุการใช้งานของโครงคัสซีเกิน 40 ปี ไม่สามารถต่อทะเบียนรถได้ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าของรถสามารถนำรถมาจดทะเบียนเป็นรถโดยสารไม่ประจำทาง รถโดยสารส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางในเส้นทางหมวด 1 ซึ่งต้องมีอายุการใช้งานของโครงคัสซีไม่เกิน 50 ปี และรถบรรทุกส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 หรือนำรถโดยสารคอกหมูที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม มาจดทะเบียนเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ต่อไปได้

ทั้งนี้ การกำหนดอายุการใช้งานของโครงคัสซีรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง และเป็นไปตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางต่อไป

อย่างไรก็ดีรถโดยสารที่มีอายุโครงคัสซีไม่ถึง 40 ปี ยังคงสามารถให้บริการประชาชน และนักท่องเที่ยวในการเดินทางได้ปกติ

ภาพ : สำนักงานขนส่งจังหวัดสุโขทัย
สำหรับแนวทางการนำรถโดยสารคอกหมูซึ่งมีอายุโครงคัสซีเกิน 40 ปี มาใช้งาน เจ้าของรถสามารถนำรถมาจดทะเบียนได้ ดังนี้ (อ้างอิงจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย)

1. รถโดยสารไม่ประจำทาง (30)
2. รถโดยสารส่วนบุคคล (40)
3. รถโดยสารประจำทางในเส้นทางหมวด 1 (ซึ่งต้องมีอายุการใช้งานของโครงคัสซีไม่เกิน 50 ปี)
4. รถบรรทุกส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (80)
5. รถโดยสารคอกหมูที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม มาจดทะเบียนเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522

ทั้งนี้ การกำหนดอายุการใช้งานของโครงคัสซีรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง และเป็นไปตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางต่อไป สำหรับรถโดยสารที่มีอายุโครงคัสซีไม่ถึง 40 ปี ยังคงสามารถให้บริการประชาชน และนักท่องเที่ยวในการเดินทางได้ปกติ รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 5561 0151 กลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งจังหวัดสุโขทัย

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย
สำหรับรถโดยสารคอกหมู หรือรถคอกหมู หรือรถสองแถวไม้ เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย มีมายาวนานกว่า 88 ปี โดยรถโดยสารประจำทางคันแรกของเมืองสุโขทัย เจ้าของคือ “แป๊ะเซี่ยงเชย แซ่โง้ว” วิ่งรับส่งผู้โดยสารระหว่าง อ.เมืองสุโขทัย กับ อ.กงไกรลาศ เมื่อปี พ.ศ. 2480 ถนนสิงหวัฒน์เพิ่งจะสร้าง สมัยนั้นยังไม่เรียกรถคอกหมู แต่เพิ่งมาเรียกกันภายหลังตามลักษณะตัวรถ ที่มีไม้กั้นเป็นคอกเหมือนคอกหมู

ประกอบกับสมัยก่อนเคยมีรถโดยสารจาก จ.แพร่ วิ่งรับ-ส่งมาถึงที่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย โครงตัวถังเป็นไม้สักทรงสี่เหลี่ยมคล้ายคอกหมู มีที่ขึ้นด้านข้าง ชาวบ้านเรียกกันว่ารถคอกหมู ต่อมาจึงถูกใช้เรียกกับรถโดยสารของสุโขทัยด้วย เพราะมีทรงคล้ายคอกหมูเหมือนกัน เป็นที่มาของคำว่า “รถคอกหมู” จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัยไปในที่สุด




กำลังโหลดความคิดเห็น