ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1935 เจ้าหมานามว่า “ฮาจิ” ได้สิ้นลมหายใจจากไป แต่ทว่าเรื่องราวของสุนัขตัวนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในตำนานแห่งความรัก-ความกตัญญูของสุนัขที่มีต่อเจ้านาย จนชาวญี่ปุ่นสร้างรูปปั้นเพื่อรำลึกถึง เป็นแลนด์มาร์กคู่เมืองโตเกียว
“ฮาจิโกะ” (Hachiko) สุนัขกตัญญูแห่งสถานีชิบูย่า
ว่ากันว่าเจ้าหมา “ฮาจิ” หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า “ฮาจิโกะ” เป็นสุนัขพันธุ์อาคิตะ เกิดที่ฟาร์มเมืองโอดาเตะ จังหวัดอาคิตะ ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ.1923 เป็นสุนัขตัวโปรดที่ได้รับการเลี้ยงดูจากศาสตราจารย์ “ฮิเดซาบุโระ อูเอโนะ” อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล (มหาวิทยาลัยโตเกียวในปัจจุบัน)
กิจวัตรประจำวันของฮาจิ คือ การไปรอรับศาสตราจารย์อูเอโนะ ซึ่งเดินทางโดยสารด้วยรถไฟที่สถานีชิบูย่า ผู้คนละแวกนั้นก็จะเห็นภาพเจ้าหมาสุดน่ารักที่มารอเจ้านายหลังเลิกงานได้ถูกที่และยังตรงเวลาเสมออีกด้วย ซึ่งก็เป็นแบบนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 1925 ที่ชีวิตของเจ้าหมาตัวน้อยก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
ในวันดังกล่าว ศาสตราจารย์อูเอโนะ มีภาวะเลือดออกในสมองขณะบรรยายในมหาวิทยาลัย และถึงแก่กรรม แต่สุนัขผู้ซื่อสัตย์ไม่อาจรับรู้การจากไปของเจ้านายได้ เจ้าฮาจิ จึงยังปรากฏตัวที่สถานีชิบูย่าทุกวัน เพื่อรอเจ้านายอันเป็นที่รักไม่เคยเปลี่ยนไปไม่ว่าจะฝนตกแดดออกอากาศหนาวเหน็บ เป็นเวลาราว 10 ปี ด้วยความหวังว่าเจ้านายจะกลับมาหาในสักวัน
และสุดท้าย สุนัขกตัญญูแห่งสถานีชิบูย่าก็จากไปในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1935
เรื่องราวดังกล่าวยังเป็นแรงบันดาลใจสู่ภาพยนตร์ฮอลลีวูด เรื่อง "Hachi: A Dog's Tale”(2009) ซึ่งนำแสดงโดยพระเอกดังยุค 90 อย่าง "ริชาร์ด เกียร์”
ตามหา “ฮาจิโกะ” ในกรุงโตเกียว
เรื่องราวความรักและความกตัญญูของฮาจิ ได้รับการยกย่องจากชาวญี่ปุ่นว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์จึงมีการสร้างรูปปั้น “ฮาจิโกะ” เอาไว้บริเวณหน้าสถานีรถไฟชิบูย่า
โดยรูปปั้นที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการสร้างครั้งที่สอง ทดแทนรูปปั้นดั้งเดิมซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1934 และถูกถอดออกไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยรูปปั้นฮาจิโกะ ได้กลายเป็นแลนด์มาร์กดังในย่านชิบูย่าที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแวะมาเช็กอิน
ต่อมาในวาระครบรอบ 80 ปี การจากไปของฮาจิ ก็ได้มีการสร้างรูปปั้นทองเหลืองอีกจุด เป็นรูปปั้น “ฮาจิพบกับ ศ.อูเอะโนะ" โดยถูกนำไปวางตั้ง และเปิดให้สาธารณชนเข้าชมอย่างเป็นทางการ ณ พื้นที่ของบัณฑิตวิทยาลัยด้านการเกษตรและชีววิทยาศาสตร์/ภาควิชาการเกษตรกรรมแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว เพื่อสื่อถึงว่าทั้งคู่ได้พบกันแล้ว