“พระธาตุพนม” เป็นหนึ่งในพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งของสยามประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครพนมและชาวอีสานแล้ว ยังเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศ รวมถึงพี่น้องชาวลาวที่อยู่อีกฟากฝั่งของแม่น้ำโขงด้วย
พระธาตุพนม ประดิษฐานอยู่ภายใน วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ตามตำนานอุรังคธาตุ กล่าวไว้ว่า พระธาตุพนมสร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรราว พ.ศ. ที่ 8 บนภูกำพร้าที่ตั้งตระหง่านโดดเด่นริมฝั่งโขง ซึ่งครั้งหนึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จมาโปรดสัตว์ในบริเวณนี้ โดยพระมหากัสสปะเถระ พระอรหันต์ 500 รูป และเหล่าบรรดาท้าวพระยาเมืองต่าง ๆ ผู้ร่วมกันสร้างพระธาตุพนม ได้นำ “พระอุรังคธาตุ” (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ในองค์พระธาตุให้ผู้คนได้กราบสักการะบูชาเป็นดังตัวแทนของพระพุทธองค์
ด้วยความความศักดิ์สิทธิ์ที่เลื่องลือขจรไกล ทำให้ชาวล้านนาโบราณบรรจุพระธาตุพนมไว้ในเส้นทางไหว้พระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตร เป็นพระธาตุประจำตัวคนเกิด “ปีวอก” หรือ “ปีลิง” รวมถึงเป็นพระธาตุประจำตัวของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ ตามความเชื่อเรื่องการไหว้พระธาตุประจำวันเกิดของจังหวัดนครพนม
ดังนั้นใครที่เกิดปีวอก หรือเกิดวันอาทิตย์หากได้มาสักการะองค์พระธาตุพนมก็จะได้รับอานิสงส์มงคลสูงล้นในชีวิต
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าใครได้มาไหว้พระธาตุพนมครบ 7 ครั้ง ถือเป็นลูกพระธาตุ นับเป็นสิริมงคลสูงสุดของชีวิต อย่างไรก็ดีหากใครได้มาไหว้พระธาตุองค์นี้แม้เพียงสักครั้งก็ถือเป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว
สำหรับลักษณะงานศิลปกรรมของพระธาตุพนมนั้นได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะขอม จาม และทวารวดี ที่ผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัวเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความงดงามเป็นเอกอุ โดยเฉพาะในส่วนลวดลายที่องค์เรือนธาตุ (สมัยโบราณ) นั้น ตามตำนานระบุว่านี่เป็นฝีมือการตกแต่งที่รังสรรค์โดยพระอินทร์และเหล่าเทวดา
พระธาตุพนมมีอีกหนึ่งบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญซึ่งผู้สูงอายุหลาย ๆ คนยังจำเหตุการณ์กันได้ คือ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 พระธาตุพนมองค์ดั้งเดิมได้พังถล่มลงมาเนื่องจากมีฝนตกหนัก พายุพัดโหมกระหน่ำ บวกกับความเก่าแก่ขององค์พระธาตุ นำความเศร้าเสียใจใหญ่หลวงมาสู่พุทธศาสนิกชนชาวไทย แต่ด้วยแรงศรัทธา องค์พระธาตุพนมก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522
พระธาตุพนมองค์ปัจจุบันมีลักษณะและรูปทรงที่แตกต่างออกไปจากองค์ดั้งเดิม (ช่วงก่อนพังถล่ม) มีลักษณะเด่นด้วยรูปทรงคล้ายกลีบบัวสี่กลีบที่ยังตูม เรียก “บัวเหลี่ยม” ประดับด้วยลวดลายประติมากรรมศิลปะทวารวดี
ฐานองค์พระธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.6 เมตร มียอดเป็นฉัตรทองคำ ที่กำแพงแก้วชั้นนอกรอบองค์พระธาตุมีงานประติมากรรมเรื่องราวจากสุภาษิต คำพังเพย และสำนวนไทย ถือเป็นอันซีนที่น่าสนใจที่หลาย ๆ คนมักมองข้ามไป
ทุก ๆ ปี จังหวัดนครพนมจะมีการจัดงานประเพณีนมัสการพระธาตุพนมขึ้น ในช่วงวันขึ้น 8 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 (ไทย) อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งงานประจำปีที่สำคัญของจังหวัดนครพนม
สถูปอิฐพระธาตุพนมองค์เดิม
พระธาตุพนมนอกจากจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองนครพนมแล้ว ยังเป็นแลนด์มาร์กและสถานที่ท่องยอดนิยมอันดับต้น ๆ ของนครพนม ซึ่งวันนี้ได้ทางจังหวัดมีการต่อยอดจัดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ “พาสายมู ดูกะละแมโบราณนครพนม ตามรอยขนมแห่งศรัทธา สู่มรดกภูมิปัญญาแห่งเมืองธาตุพนม” ที่เป็นการท่องเที่ยวสัมผัสนครพนมมุมใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
กิจกรรมนี้เปิดประเดิมด้วยการไปกราบสักการะพระธาตุพนม ที่วัดพระธาตุพนมเอาฤกษ์เอาชัยเสริมสิริมงคลให้ชีวิต จากนั้นเราไปชม “สถูปอิฐพระธาตุพนมองค์เดิม” ที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำหน้าวัดพระธาตุพนม (ห่างองค์พระธาตุพนมประมาณ 200 เมตร) ซึ่งจะมีสะพานนาค 5 เศียรศิลปะขอมโบราณนำทางเข้าสู่องค์สถูป
สถูปอิฐองค์นี้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2535 แล้วเสร็จปี พ.ศ.2541 ตัวสถูปมีลักษณะทรงสี่เหลี่ยมมีส่วนยอดแหลมทรงโอคว่ำซึ่งสร้างตามลักษณะของพระธาตุพนมยุคแรก ๆ
ภายในสถูปได้เก็บรักษาเศษอิฐเศษปูนของพระธาตุพนมองค์เดิมที่เคยพังทลายลงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 รวมถึงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ พระพุทธรูป อัญมณี และวัตถุมงคลอื่น ๆ ไว้อีกเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันรอบ ๆ องค์สถูปอิฐได้มีโครงการสร้าง “องค์พญาสัตตนาคาทั้ง 7” สีสันต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามตำนานความเชื่อในเรื่องของ “พญานาคระดับภุมมเทวา” 7 ตน ที่พระอินทร์ได้บัญชาให้มาทำหน้าที่เฝ้าพิทักษ์ปกปักรักษาองค์พระธาตุพนม
วันนี้ (ต้นปี 2568) ประติมากรรมองค์พญาสัตตนาคาทั้ง 7 สร้างเสร็จไปแล้ว 4 ตน แต่ละตนล้วนต่างมีสรีระงดงามวิจิตร มีลวดลายประณีตละเอียด แม้ดูอ่อนช้อยแต่ก็แฝงไปด้วยพลังอันน่าเกรงขาม ซึ่งหลังจากนี้จะมีการดำเนินการสร้างพญานาคตนที่ 5,6,7 ต่อไป
สำหรับสถูปอิฐพระธาตุพนมองค์เดิมถือเป็นอันซีนนครพนมที่หลาย ๆ คนยังไม่ค่อยรู้จัก แต่นี่นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญเชื่อมโยงกับองค์พระธาตุพนม ซึ่งหากใครที่ไปกราบไหว้องค์พระธาตุพนม ไม่ควรพลาดการไปสักการะสถูปอิฐองค์นี้ด้วยประการทั้งปวง
กะละแมโบราณนครพนม
กะละแมโบราณนครพนม หรือกะละแมสูตรโบราณของนครพนม ถูกยกให้เป็นหนึ่งในขนมแห่งศรัทธาของจังหวัดนครพนม ในอดีตเมื่อมีงานบุญหรืองานประเพณีต่าง ๆ ชาวธาตุพนมจะทำขนมเลี้ยงผู้มาร่วมงานบุญ โดยจะมีการกวนขนมที่เรียกว่า “กวนข้าวทิพย์” ซึ่งใช้ข้าวมากวนกับน้ำตาล และจะให้หญิงสาวบริสุทธิ์เป็นผู้กวนข้าวทิพย์
จากนั้นมรดกวัฒนธรรมนี้ได้ตกผลึกกลายเป็นภูมิปัญญาการทำ “กะละแมโบราณ” ซึ่งนอกจากจะเป็นขนมสำคัญที่ใช้ในพิธีสักการะบูชาองค์พระธาตุพนมแล้ว วันนี้กะละแมโบราณ ยังเป็น Soft Power สำคัญด้านอาหารของนครพนม เป็นขนม-ของฝากขึ้นชื่อของจังหวัด ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมนูอาหารถิ่นจังหวัดนครพนม จากโครงการ 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น “รสชาติ...ที่หายไป The Lost Taste” ในปี พ.ศ. 2567 ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
กะละแมโบราณนครพนมมีจุดเด่นคือ รสชาติอร่อย เหนียวนุ่ม ไม่หวานมาก กินเพลินปาก ที่สำคัญคือ ต้องห่อแบบดั้งเดิมด้วยใบตองธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการรีดด้วย “เตารีดถ่าน” อันสุดคลาสสิก
สำหรับโปรแกรมเที่ยวสายมู ดูกะละแมโบราณฯ จะมีการพาไปทำกิจกรรม เรียนรู้วิถีการทำกะละแมโบราณในแบบฉบับของคนธาตุพนมตามฐานต่าง ๆ อย่างเช่น การกวนกะละแม การรีดใบตอง การห่อใบตอง จากร้านกะละแมชื่อดัง หรือแหล่งผลิตกะละแมขึ้นชื่อของจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ ร้านกะละแมทูลใจ, ร้านตุ๊กตากะละแมโบราณ, แหล่งเรียนรู้ครูน้อยกะละแมกะทิสด กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบรรจุภัณฑ์ใบตองบ้านโคกสว่างพัฒนา (บ้านทำใบตองแม่ต๋อ) และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรก้าวหน้าธาตุพนม
นับเป็นกิจกรรมที่สนุกเพลิดเพลิน ได้ทั้งอรรถรสและได้รับรสชาติความอร่อยของกะละแมโบราณไปแบบเต็มอิ่ม
สตรีทอาร์ต ธาตุพนม
“สตรีทอาร์ต ธาตุพนม” (Street Art Thatphanom) เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ “ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาธาตุพนม” (That City of Art) ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนกำแพงเก่ามาเล่าใหม่” เพื่อเพิ่มสีสันและพื้นที่สร้างสรรค์ ให้กับชุมชนเมืองธาตุพนม รวมถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวจุดเช็กอินแห่งใหม่เชื่อมโยงกับองค์พระธาตุพนม
โดยศิลปินได้หยิบยกเรื่องราวอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตริมฝั่งโขง อาหารการกิน ชาติพันธุ์ ความเชื่อเรื่องพญานาค และศรัทธาที่มีต่อองค์พระธาตุพนม มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะบนกำแพงอันสวยงามและหลากหลายสีสันตามสไตล์ลายเซ็นต์และความถนัดของศิลปินแต่ละคน (เบื้องต้นมี 10 คน)
สำหรับจุดเช็กอินสตรีตอาร์ตธาตุพนมในวันนี้ หลัก ๆ มีอยู่ 4 จุด ด้วยกัน คือ 1.ถนนริมโขงบริเวณจุดตรวจธาตุพนม ด่านตรวจคนเข้าเมืองธาตุพนม 2.ถนนวัฒนธรรมอำเภอธาตุพนม บริเวณพื้นที่ว่าง ข้างร้าน Shabuku ชาบูกู ตรงนี้เป็นจุดใหญ่มีหลายภาพ (และเป็นจุดเช็กอินในเส้นทางเที่ยวสายมู ดูกะละแมโบราณฯ) 3.ถนนพนมพนารักษ์ 7 (ซอยอุดมเศรษฐกิจ) และ 4. กำแพงตึกแถวข้างร้าน“Dripcolors Art Space”
และนี่ก็คือกิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นมนต์เสน่ห์สีสันใหม่ของจังหวัดนครพนม ที่มีองค์พระธาตุพนมเป็นศูนย์กลาง ซึ่งด้วยความเก่าแก่ทรงคุณค่าและมีความสำคัญในหลากหลายมิติ ทำให้วันนี้พระธาตุพนมได้รับการขึ้นบัญชีรายการมรดกโลกเบื้องต้น เมื่อปี พ.ศ.2560 ซึ่งคนไทยต้องช่วยกันส่งแรงเชียร์ให้ได้มรดกโลกโดยเร็ววัน
###############################
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครพนม โทร. 042 513 490