xs
xsm
sm
md
lg

“พระธาตุพนม” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้ำค่าแดนอีสาน รอวันสู่มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


พระธาตุพนมหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของเมืองไทย ที่กำลังเดินหน้าสู่มรดกโลก
"พระธาตุพนม" เป็นหนึ่งในพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งของสยามประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครพนมและชาวอีสานแล้ว ยังเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศ รวมถึงพี่น้องชาวลาวที่อยู่อีกฟากฝั่งของแม่น้ำโขงด้วย

พระธาตุพนม ถือเป็นพระธาตุที่ถูกระบุว่าเก่าแก่ที่สุดในภาคอีสาน ประดิษฐานอยู่ภายใน วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

ตามตำนานอุรังคธาตุ กล่าวไว้ว่า พระธาตุพนมสร้างขึ้นในในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรช่วงที่กำลังเจริญรุ่งเรืองราว พ.ศ. 8 บนภูกำพร้าที่ตั้งตระหง่านโดดเด่นริมแม่น้ำโขง ซึ่งครั้งหนึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จมาโปรดสัตว์ในบริเวณนี้ โดยพระมหากัสสปะเถระ พระอรหันต์ 500 รูป และ 5 ท้าวพญานครผู้ครองเมือง พระยาเมืองต่าง ๆ ผู้ร่วมกันสร้างพระธาตุพนม ได้นำ "พระอุรังคธาตุ" (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ในองค์พระธาตุให้ผู้คนได้กราบสักการะบูชาเป็นดังตัวแทนของพระพุทธองค์

พระธาตุพนมเป็นพระธาตุที่เก่าแก่ที่สุดในภาคอีสาน
ด้วยความความศักดิ์สิทธิ์ที่เลื่องลือขจรไกล ทำให้ชาวล้านนาโบราณบรรจุพระธาตุพนมไว้ในเส้นทางไหว้พระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตร ตามคติความเชื่อเรื่องการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด โดยพระธาตุพนมเป็นพระธาตุประจำตัวคนเกิดปีลิง

ขณะที่ทางจังหวัดนครพนมเองก็มีความเชื่อในเรื่องของการไหว้ 7 พระธาตุประจำวันเกิด (อาทิตย์-เสาร์) โดยพระธาตุพนมเป็นพระธาตุประจำของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ ดังนั้นใครที่เกิดปีลิง หรือเกิดวันอาทิตย์หากได้มาสักการะองค์พระธาตุพนมก็จะได้รับอานิสงส์มงคลสูงล้นในชีวิต

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าใครได้มาไหว้พระธาตุพนมครบ 7 ครั้ง ถือเป็นลูกพระธาตุ นับเป็นสิริมงคลสูงสุดของชีวิต อย่างไรก็ดีหากใครได้มาไหว้พระธาตุองค์นี้แม้เพียงสักครั้งก็ถือเป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว

พระธาตุพนมเป็นพระธาตุประจำตัวคนเกิดปีลิง
สำหรับลักษณะงานศิลปกรรมของพระธาตุพนมนั้นได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะขอม จาม และทวารวดี ที่ผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัวเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความงดงามเป็นเอกอุ โดยเฉพาะในส่วนลวดลายที่องค์เรือนธาตุ (สมัยโบราณ) นั้น ตามตำนานระบุว่านี่เป็นฝีมือการตกแต่งที่รังสรรค์โดยพระอินทร์และเหล่าเทวดา นอกจากนี้ก็ยังมีแผ่นอิฐที่จำหลักลวดลายเป็นภาพกษัตริย์โบราณ ฝีมือช่างพื้นบ้าน ศิลปะสมัยทวารวดี ในราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 อันสุดคลาสสิก

พระธาตุพนมมีอีกหนึ่งบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญซึ่งผู้สูงอายุหลาย ๆ คนยังจำเหตุการณ์กันได้ คือ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 พระธาตุพนมองค์ดั้งเดิมได้พังถล่มลงมาเนื่องจากมีฝนตกหนัก พายุพัดโหมกระหน่ำ บวกกับความเก่าแก่ขององค์พระธาตุ นำความเศร้าเสียใจใหญ่หลวงมาสู่พุทธศาสนิกชนชาวไทย แต่ด้วยแรงศรัทธา องค์พระธาตุพนมก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522

พระธาตุพนมเป็นพระธาตุประจำของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์
พระธาตุพนมองค์ปัจจุบันมีลักษณะและรูปทรงที่แตกต่างออกไปจากองค์ดั้งเดิม (ช่วงก่อนพังถล่ม) มีลักษณะเด่นด้วยรูปทรงคล้ายกลีบบัวสี่กลีบที่ยังตูม เรียก "บัวเหลี่ยม" ประดับด้วยลวดลายประติมากรรมศิลปะทวารวดี ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.6 เมตร มียอดเป็นฉัตรทองคำ ที่กำแพงแก้วชั้นนอกรอบองค์พระธาตุมีงานประติมากรรมเรื่องราวจากสุภาษิต คำพังเพย และสำนวนไทย ถือเป็นอันซีนที่น่าสนใจที่หลาย ๆ คนมักมองข้ามไป

ส่วนพระธาตุพนมรูปทรงดั้งเดิมก่อนพังถล่มนั้นเป็นทรงเดียวกับพระธาตุเรณูที่ก่อสร้างขึ้นตามลักษณะของพระธาตุพนมองค์ดั้งเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2461 เพียงแต่ว่าย่อส่วนลงมา

หลวงพ่อมารวิชัยศาสดา
ภายในวัดพระธาตุพนมยังมีสิ่งน่าสนใจอื่น ๆ อีก อาทิ พระอุโบสถภายในมี “พระองค์แสนศาสดา” เป็นพระประธาน, “พระอุปคุต” อีกหนึ่งพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจังหวัดนครพนม และ “หลวงพ่อมารวิชัยศาสดา” ที่เคยเป็นพระประธานประจำหอพระแก้ว แต่จากเหตุการณ์พระธาตุพนมถล่ม ทำให้หอพระแก้วพังเสียหาย จึงเหลือแต่องค์หลวงพ่อมารวิชัยศาสดา ประดิษฐานกลางแจ้งอยู่หน้าองค์พระธาตุพนมมาจนถึงทุกวันนี้

"เสาอินทขิล" ที่ทำจากศิลา ซึ่งท้าวพระยาทั้ง 5 ผู้ร่วมกันสร้างองค์พระธาตุพนมนำมาจากที่ต่าง ๆ แล้วปักตั้งไว้บริเวณรอบองค์พระธาตุทั้ง 4 มุม เพื่อเป็นดังสัญลักษณ์ของพื้นที่เขตแดนทางศาสนา และ "พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุพนม” ที่จัดแสดงโบราณวัตถุเก่าแก่ที่เคยบรรจุอยู่ในพระธาตุพนมองค์เดิม รวมถึงผอบสำริดเก่าที่เคยบรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า

สถูปอิฐพระธาตุพนมองค์เดิม
นอกจากนี้ยังมี “สถูปอิฐพระธาตุพนมองค์เดิม” ที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำหน้าวัดพระธาตุพนม ห่างจากองค์พระธาตุพนมประมาณ 200 เมตร ซึ่งเป็นสถูปที่ใช้เก็บรักษาเศษอิฐเศษปูนของพระธาตุพนมองค์เดิมที่เคยพังทลายลงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 รวมถึงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ พระพุทธรูป อัญมณี และวัตถุมงคลอื่น ๆ ไว้อีกเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันรอบ ๆ องค์สถูปอิฐได้มีโครงการสร้าง “องค์พญาสัตตนาคาทั้ง 7” สีสันต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามตำนานความเชื่อในเรื่องของ “พญานาคระดับภุมมเทวา” 7 ตน ที่พระอินทร์ได้บัญชาให้มาทำหน้าที่เฝ้าพิทักษ์ปกปักรักษาองค์พระธาตุพนม โดยสร้างพญานาคเสร็จไปแล้ว 4 ตน

พิธีอัญเชิญพระอุป งานนมัสการพระธาตุพนม ปี 68 (ภาพจาก : เพจ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร)
สถูปอิฐพระธาตุพนมองค์เดิมถือเป็นอันซีนนครพนมที่หลาย ๆ คนยังไม่ค่อยรู้จัก แต่นี่นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญเชื่อมโยงกับองค์พระธาตุพนม ซึ่งหากใครที่ไปกราบไหว้องค์พระธาตุพนม ไม่ควรพลาดการไปสักการะสถูปอิฐองค์นี้ด้วยประการทั้งปวง

ทุก ๆ ปี จังหวัดนครพนมจะมีการจัดงานประเพณี “นมัสการพระธาตุพนม” ขึ้น ในช่วงวันขึ้น 8 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ไทย อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งงานประจำปีที่สำคัญของจังหวัดนครพนม โดยปีนี้งานประเพณี “นมัสการพระธาตุพนม ประจำปี 2568” จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2568 ณ วัดพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ นำโดย พิธีอัญเชิญพระอุปคุต ในวันเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ ร่วมด้วยการตักบาตรข้าวเหนียว แห่กองบุญถวายพระธาตุ ถวายผ้าห่มพระธาตุพนม พิธีเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุพนม การรำบูชาพระธาตุพนม พิธีถวายข้าวพีชภาคและการเสียค่าหัวชมและการแสดง แสง สี เสียง เป็นต้น

ปัจจุบันพระธาตุพนมได้รับบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของทะเบียนมรดกโลก
ด้วยความเก่าแก่ทรงคุณค่าและมีความสำคัญในหลากหลายมิติ ทำให้วันนี้ “พระธาตุพนม และสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง” ได้รับบรรจุไว้ใน“บัญชีรายชื่อเบื้องต้น” ของทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ.2560

โดยมีคุณสมบัติของการที่จะเป็นมรดกโลกในหลัก 3 เกณฑ์ คือ

1.เป็นตัวแทนที่แสดงถึงผลงานชิ้นเอกที่ทำขึ้นด้วยอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ของมนุษย์

2.เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมอนุสรณ์สถาน ประติมากรรม ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องหรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์

3.มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่มีความสำคัญหรือความโดดเด่นในประวัติศาสตร์

ดังนั้นคนไทยเราคงต้องช่วยกันส่งแรงเชียร์แรงใจให้ได้มรดกโลกโดยเร็ววัน

วัดพระธาตุพนม




กำลังโหลดความคิดเห็น