สุดเศร้า “เสือโคร่งพุเตย” ที่เป็นเหยื่อจากการติดบ่วงดักสัตว์ในพื้นที่นอกเขต อช.พุเตย เสียชีวิตระหว่างการรักษาที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สัตวแพทย์ชันสูตรพบติดเชื้อหลายระบบ
เฟซบุ๊กเพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า
เสือโคร่งเพศเมียที่ได้รับบาดเจ็บจากการติดบ่วงดักสัตว์นอกเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย เสียชีวิตระหว่างการรักษาที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลพบร่างไร้วิญญาณในคอกกักที่ใช้รักษา แม้ก่อนหน้านี้จะมีอาการปกติ ทั้งการกินอาหารและการขับถ่าย
น.ส.อังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลพบเสือโคร่งเสียชีวิตในคอกกักที่ใช้รักษา แม้ก่อนหน้านี้จะมีอาการปกติ ทั้งการกินอาหารและการขับถ่าย หลังตรวจสอบร่างกายภายนอกเบื้องต้นไม่พบร่องรอยการทำร้ายจากสัตว์มีพิษที่อาจหลงเข้ามาในคอกกัก จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือจากผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า และผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เพื่อส่งสัตวแพทย์มาดำเนินการชันสูตรซากหาสาเหตุการตาย
โดยเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.30 น. น.ส.พิมพ์ชนก สรงมงคล สัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ พร้อมเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ทำการชันสูตรซาก พบว่าเป็นเสือโคร่งเพศเมีย อายุไม่ต่ำกว่า 2 ปี สภาพซากภายนอกบางส่วนมีการย่อยสลาย มีบาดแผลบริเวณข้อเท้าและอุ้งเท้าขวาจากการติดบ่วงดักสัตว์ และพบรูขนาด 2 เซนติเมตรที่เท้าหลังขวา
ผลการผ่าชันสูตรพบการอักเสบในหลายระบบ ได้แก่ บาดแผลที่ขาหน้าขวามีการอักเสบและเนื้อตาย หลอดลมอักเสบเป็นบริเวณกว้างและมีน้ำอักเสบ ถุงหุ้มหัวใจมีน้ำอักเสบปริมาณมากพร้อมการอักเสบของเนื้อเยื่อหัวใจ ไตมีอาการบวมโตและอักเสบรวมถึงเยื่อหุ้มไต นอกจากนี้ยังพบเศษฟางในกระเพาะอาหารน้ำหนัก 250 กรัม และปรสิตในทางเดินอาหาร ส่วนอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ม้าม ตับ และลำไส้ไม่พบรอยโรค แต่บางส่วนเกิดการเน่าสลาย
ทีมสัตวแพทย์ได้เก็บตัวอย่างเลือด ชิ้นเนื้ออวัยวะภายใน และปรสิต ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันสาเหตุการตาย โดยเบื้องต้นคาดว่าเสียชีวิตจากการทำงานผิดปกติของหัวใจและไตอันเนื่องมาจากภาวะการอักเสบ ขณะนี้ได้แช่ซากไว้เพื่อรอดำเนินการทำลายตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า และค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์ป่า พ.ศ. 2565
ทั้งนี้ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้นำหลักฐานไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.ลานสัก เนื่องจากเป็นของกลางที่ยึดมาจาก สภ.องค์พระ ตามบันทึกการแจ้งความที่ 4/2568 ลงวันที่ 12 มกราคม 2568 โดยมี ร.ต.อ.มงคล รัตนบุรัมย์ เป็นพนักงานสอบสวน
สำหรับเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงภัยร้ายจากการวางกับดักสัตว์ป่าหรือบ่วงที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะเสือโคร่งซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่เป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ซึ่งถือเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่า แม้จะได้รับการช่วยเหลือและรักษาอย่างเต็มที่ แต่ภาวะแทรกซ้อนจากบาดแผลก็นำไปสู่การสูญเสียในที่สุด
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline