xs
xsm
sm
md
lg

“โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี” ยลสถาปัตยกรรมสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กาญจนบุรี” เมืองแห่งประวัติศาสตร์และธรรมชาติที่งดงาม นอกจากสะพานข้ามแม่น้ำแควและอุทยานแห่งชาติอันเลื่องชื่อแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสถานที่ที่ซ่อนตัวอยู่ที่นี่ นั่นคือ “โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี” โรงงานกระดาษเก่าแก่ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต แม้กาลเวลาจะล่วงเลยไป แต่ความงดงามของสถาปัตยกรรมและเรื่องราวในอดีตยังคงอยู่ ที่นี่จึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเมื่อมาเยือน

“โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี” อีกหนึ่งจุดเช็คอินยอดฮิตของเมืองกาญจน์ อาคารเก่าแก่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีความโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมอันงดงาม แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแต่เสน่ห์ของตัวอาคารยังไม่จางหายไปตามกาลเวลา กลายเป็นจุดถ่ายรูปของสายชอบแชะ อยากได้รูปสไตล์วินเทจไม่ควรพลาด


โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ตั้งอยู่ในตัวเมืองกาญจนบุรี แต่เดิมโรงงานแห่งนี้ใช้ชื่อ “โรงงานทำกระดาษทหารกาญจนบุรี” สรุปความจากข้อความในแผ่นศิลาที่ใช้ในพิธีฝังศิลาฤกษ์ (ฝังรากติก)อาคารโรงงานกระดาษ ได้ความว่า นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) กับนายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ได้ร่วมกันคิดสร้างโรงงานผลิตกระดาษขึ้นที่เมืองกาญจนบุรี ตั้งแต่พ.ศ. 2476 เจ้าหน้าที่กรมแผนที่ ได้ดำเนินการตลอดมาจนถึง วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2479 จึงได้ประกอบพิธีฝังศิลาจารึก


โดยเหตุผลที่เลือกพื้นที่จังหวัดกาญจนบรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีไม้ไผ่อุดมสมบูรณ์ และใช้เป็นวัตถุดิบในการทำกระดาษ รวมถึงมีแม่น้าเป็นเส้นทางขนส่งไม้ไผ่ได้สะดวก การก่อสร้างและดำเนินกิจการ แรกเริ่มบริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น (สยาม) จำกัด (ปัจจุบันคือบริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จํากัด (มหาชน) Christiani&Nielsen
(Thai)Public Company Limited)


การออกแบบก่อสร้างเริมท่าสัญญาในปี พ.ศ. 2478 ส่วนการก่อสร้างอาคารโรงงานอาคารประกอบต่างๆ และการติดตั้งเครื่องจักรนั้น แบ่งแยกออกเป็นหลายส่วนซึ่งมีทั้งบริษัท บุคคล กรมยุทธโยธาทหารบก และแผนกท่ากระดาษเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างในแต่ละส่วน


สำหรับเครื่องจักร บริษัท กระดาษสยาม จํากัด สั่งซื้อจากต่างประเทศ และมีการตรวจรับเครื่องจักร เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2481 ทดลองผลิตกระดาษเป็นผลสำเร็จ และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2481 ซึ่งเป็นวันปฐมฤกษ์ “ว่าไทยได้มีเครื่องทำเยื่อกระดาษและทำกระดาษใช้ได้เองแล้ว” โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน


ต่อมาในปีพ.ศ. 2530 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้ยกเลิกกิจการโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี และเห็นชอบให้ บริษัท อุตสาหกรรมกระดาษศิริศักดิ์ จํากัด เป็นผู้ประมูลชื้อโรงงาน อาคารสิ่งปลูกสร้าง และให้กระทรวงการคลังดำเนินการเกี่ยวกับการจัดให้เช่าที่ดินราชพัสดุ โดยให้ระบุวัตถุประสงค์ของการให้เช่าที่ดินไว้ในสัญญาว่า "เพื่อการดำเนินกิจการโรงงานกระดาษเท่านั้น” และครบกำหนดสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560




กลุ่มอาคารหลักของโรงงานกระดาษแห่งนี้ มีการออกแบบและวางผังอาคารตามหน้าที่การใช้งานต่อเนื่องกันในแต่ละขั้นตอนกระบวนการผลิตกระดาษ กล่าวคือ กลุ่มอาคารที่เกี่ยวกับระบบสูบน้ำ การกรองน้ำ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ใกล้กับแม่น้ำแม่กลอง ถัดมาเป็นกลุ่มอาคารที่ผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีหน้าที่ผลิตไอน้ำเพื่อใช้ในการต้มเยื่อไม้สำหรับใช้ในขั้นตอนการผลิตกระดาษ และผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับเครื่องจักรในโรงงาน


ส่วนกลุ่มอาคารโรงงานตั้งอยู่ตรงกลาง โดยอาคารกลุ่มนี้ มีขนาดใหญ่ที่สุด มีหน้าที่ใช้งานตั้งแต่การผลิตขั้นต้น คือ โรงทำเยื่อจนถึงอุตสาหกรรมกระดาษขั้นกลางทั้งระบบ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมเยื่อ ขั้นตอนการผลิตกระดาษจนสิ้นสุดกระบวนการที่การตกแต่งผลผลิต และการแปรรูปซึ่งบรรจุกระดาษในหีบห่อเพื่อส่งจําหน่าย




ส่วนอาคารสำนักงาน ที่เชื่อมต่อกับตัวโรงงานอยู่อีกฟากหนึ่งทางด้านทิศตะวันออกของกลุ่มอาคารรวมถึงส่วนซ่อมบํารุงด้วย กลุ่มอาคารที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มอาคารที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในกระบวนการผลิตกระดาษ เช่น โรงทำโซดากลับคืน โรงคลอรีนเก่า โรงคลอรีนใหม่ โรงแยกเกลือ อาคารเหล่านี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือติดอยู่กับอาคารโรงงาน


ภายในอาคารที่อยู่ในกระบวนการผลิตกระดาษแต่ละหลัง มีเครื่องจักรที่จําเป็นตามกระบวนการผลิตกระดาษ มีการนําเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ เช่น เครื่องทำเยื่อทำกระดาษ ของบริษัทฟอยท์ เครื่องทำไฟฟ้าและมอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องทำคลอรีนของบริษัทซีเมนต์ซุคเกิต หม้อน้ำและเครื่องประกอบของบริษัทโบร์สิก และเครื่องทำโซดากลับคืนของบริษัท แวกเก็นลีน แอนฮิบเนอร์




ถือได้ว่ากลุ่มอาคารโรงงานกระดาษและสิ่งปลูกสร้างของโรงงานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติการอุตสาหกรรมในประเทศไทย เนื่องจากก่อตั้งเป็นโรงงานกระดาษแห่งแรกของประเทศไทย ที่ผลิตเยื่อกระดาษเอง มีความทันสมัยมากในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้งานในการผลิตได้ด้วยตนเอง มีกระบวนการผลิตกระดาษที่ทันสมัย ใช้เครื่องจักรจากต่างประเทศ กลุ่มอาคารในพื้นที่นี้จึงเป็นประจักษ์พยานอันแสดงถึงการพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมหนัก และการค้าขนาดใหญ่ รวมไปถึงความเข้มแข็งของประเทศที่พัฒนาไปสู่การเป็นผู้ผลิต


สำหรับโครงสร้างอาคารโรงงานกระดาษ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาทรงจั่ว ใช้หน้าต่างกระจกเป็นช่องแสง มีทั้งอาคารชั้นเดียวและหลายชั้น การออกแบบรูปทรงอาคารให้ช่วงเสากว้าง ในส่วนของอาคารอื่นยังออกแบบให้กลมกลืนเช่นเดียวกัน อาคารที่มีเอกลักษณ์อีกหลังหนึ่ง คือ โรงหลอมโซดา การออกแบบอาคารมีความชับซ้อนกว่าอาคารอื่น มีชั้นหอคอย และมีส่วนประกอบภายนอก คือ ปล่องไฟขนาดใหญ่ ที่มีความสูงมากในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถือได้ว่าโรงงานกระดาษเป็นโรงงานขนาดใหญ่และมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ทันสมัยในช่วงเวลาดังกล่าว หมู่อาคารโรงงานเป็นตัวแทนการวางผัง และเป็นตัวแทนกลุ่มอาคารอุตสาหกรรมที่ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบโมเดิร์นยุคเริ่มแรกในประเทศไทย ซึ่งเน้นความเกลี้ยงเกลา เรียบง่ายและให้ประโยชน์ใช้สอย

โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ตั้งอยู่ที่ 218/11-12 ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี กาญจนบุรี



สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น