“ถนนเจริญกรุง” นับเป็นถนนสายแรกแบบตะวันตกของกรุงเทพฯ เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 (เสร็จในปี พ.ศ. 2407)
ในยุคนั้น ชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ในสยามมากขึ้น มีการก่อสร้างโบสถ์คริสต์ โรงพยาบาล โรงเรียนตามแบบตะวันตก และห้างร้านต่างๆขึ้นมากมาย โดยสาเหตุของการสร้างถนนสายแรกนี้ มาจากการที่รัชกาลที่ ๔ ทรงรับฎีกาจากชาวยุโรปที่เข้ามาตั้งรกรากในแผ่นดินสยามสมัยนั้นว่า “ชาวยุโรปเคยขี่ม้า เที่ยวตากอากาศ ได้ความสบายไม่มีไข้ เข้ามาอยู่กรุงเทพมหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่ม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนืองๆ”
เมื่อได้ทราบความในหนังสือแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให เจ้าพระยาทบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองควบคุมการก่อสร้างถนนเจริญกรุงช่วงคูเมืองตอนในถึงถนนตก เจ้าพระยายมราช(ครุฑ) เป็นแม่กองในการก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใน ระหว่างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็กบน) พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เป็นนายงาน
การสร้างถนนสายนี้นับเป็นถนนสายแรกที่ใช้วิทยาการตะวันตก โดยมีนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ ต้นสกุล “เศวตศิลา” ซึ่งตอนนั้นเป็นรองกงสุลอังกฤษและร่ำเรียนมาทางวิศวกรรมโยธา มาช่วยสำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังให้
เมื่อสร้างถนนสายนี้เสร็จใหม่ๆ ยังไม่ได้พระราชทานชื่อ จึงเรียกกันทั่วไปว่า “ถนนใหม่” ชาวตะวันตกเรียกกันว่า “นิวโรด” (New Road) ต่อมาจึงพระราชทานนามว่า “ถนนเจริญกรุง”
ในพระราชปรารถเรื่องถนนเจริญกรุง ในรัชกาลที่ ๔ กล่าวถึงว่า “...ชาวต่างประเทศเข้าชื่อกันขอให้ทำขึ้น เพื่อจะใช้ม้า ใช้รถให้สบาย ให้ถูกลมเย็นเส้นสายเหยียดยืดสบายดี...” โดยสร้างเป็นถนนถมดินและทรายอัดแน่น ปูพื้นผิวถนนด้วยอิฐ ผิวการจราจรแบ่งเป็นสองแนว
ครั้นเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ.2407 กลับปรากฏว่า “...คนใช้ม้าทั้งไทย ทั้งชาวนอกประเทศกี่คน ใช้รถอยู่กี่เล่ม ใช้ก็ไม่เต็มสนน ใช้อยู่แต่ข้างหนึ่ง ก็ส่วนสนนอีกข้างหนึ่ง ก็ทิ้งตั้งเปล่าอยู่ ไม่มีใครเดินม้าเดินรถ เดินเท้า...ครึ่งหนึ่งของสนน เพราะไม่มีคนเดิน คนใช้ก็ยับไปเสียก่อน หากว่าปีนี้ ไม่มีฝน ถ้าฝนชุกก็เห็นจะยับไปมาก ฤาหญ้าก็จะขึ้นรกอยู่ค่างหนทาง...”
ความกังวลพระทัยนั้น เป็นผลต่อมาเมื่อถนนเจริญกรุงชำรุดลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ประกาศแผ่พระราชกุศลซ่อมแซมถนน ต่อพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชสำนักฝ่ายหน้า ฝ่ายในส่วนพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคล ที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดในจำนวนปีมะเส็งบริจาคทรัพย์นั้นเพื่อการซ่อมแซมถนนทั่วพระนคร
ต่อมาเมื่อบ้านเมืองมีความเจริญมากขึ้น ถนนเจริญกรุงจึงเป็นเส้นทางสำคัญสายหนึ่งที่เชื่อมพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนในออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยในสมัยหลังได้มีการขยายผิวการจราจรและเทคอนกรีตและลาดยางพื้นผิวการจราจรเพื่อการงานเป็นเส้นทางคมนาคมสืบมาถึงปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง: กรมศิลปากร, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)