เจ้าหน้าที่อุทยานฯหมู่เกาะสุรินทร์ และนักท่องเที่ยวร่วมกันปล่อยลูกเต่ากระกลับคืนสู่ทะเลที่เกาะสุรินทร์จำนวน 125 ตัว หลังแม่เต่าวางไข่จนครบกำหนดฟักไข่ออกมาเป็นลูกเต่าน้อยสุดน่ารัก โดยไข่เต่าทะเลรังนี้มีทั้งหมด 132 ฟอง ไข่เสีย 5 ฟอง และตาย 2 ตัว
นายเกรียงไกร เพาะเจริญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา
ตนได้นำเจ้าหน้าที่อุทยานฯ พร้อมกับนักท่องเที่ยว ร่วมกันปล่อยลูกเต่ากระกลับคืนสู่ท้องทะเล จำนวน 125 ตัว บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ มส.3 อ่าวช่องขาด
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้เฝ้าระวังและติดตามการฟักไข่ของเต่าทะเลที่แม่เต่าได้ขึ้นมาวางไข่ไว้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 จนกระทั่งถึงเช้าวันที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 08.05 น. พบว่าทรายบริเวณหลุมฟักไข่เกิดการยุบตัวลงอย่างชัดเจน จึงเฝ้าติดตามและสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด จนถึงเวลา 17.10 น. พบว่ามีการยุบตัวลงของทรายเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการปาดทรายบริเวณผิวหน้าของหลุมฟักไข่ออก ปรากฏว่าพบลูกเต่ากระจำนวนหนึ่งรอขึ้นจากหลุมฟักไข่ และพากันดันขึ้นมาในเวลาต่อมา จึงได้ทยอยปล่อยลูกเต่ากระที่ฟักออกทั้งหมดลงทะเลจำนวน 125 ตัว ทุกตัวมีสภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยไข่เต่าทะเลรังนี้มีทั้งหมด 132 ฟอง ไข่เสีย 5 ฟอง และตาย 2 ตัว โดยไข่เต่ากระรังนี้มีระยะเวลาการฟัก 62 วัน
สำหรับ เต่ากระ หรือ เต่าปากเหยี่ยว ชื่อภาษาอังกฤษ ; Hawksbill sea turtle มีจะงอยปากค่อนข้างแหลมงุ้มคล้ายปากเหยี่ยว เกล็ดบนส่วนหัว ตอนหน้า มี 2 คู่ มีเกล็ดกลางหลัง จำนวน 5 เกล็ด เกล็ดหลังแถวข้างคู่แรกสุดไม่ติดกับเกล็ดขอบคอ มีจำนวน 4 คู่ ลักษณะเด่นชัดคือ เกล็ดบนกระดองมีลวดลายริ้วใสสวยงาม และลักษณะเกล็ดซ้อนกันเห็นได้ชัดเจน แต่เมื่อโตเต็มวัยลักษณะการซ้อนกันของเกล็ดสังเกตได้ยากกว่าวัยอ่อน
ลูกเต่ากระแรกเกิดไปจนถึงเต่ากระวัยรุ่นมีสันแหลมตามความยาวกระดอง 3 แถว มีเล็บที่ขาหน้าและหลังข้างละ 2 อันและค่อยๆ หายไปเมื่อโตขึ้น โตเต็มที่ยาว 95 ซม. หนัก 60 กก. ต่ากระเป็น 1 ใน 7 สายพันธุ์ของเต่าทะเลและเป็นหนึ่งในสัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลก เต่ากระมีชื่อเสียงในเรื่องกระดองที่มีลวดลายสวยงามซึ่งมีแผ่นกระดูกที่ทับซ้อนกันเหมือนกระเบื้องบนหลังคา
ปัจจุบันเต่ากระเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงในทุกช่วงของวงจรชีวิต ตั้งแต่เป็นไข่จนถึงวัยโต ผลกระทบร่วมกันของมลภาวะ การลักลอบล่าสัตว์ การพันกันของตาข่ายจับปลา การสูญเสียชายหาดที่ทำรัง และสภาพอากาศที่อุ่นขึ้น ทำให้เต่ากระใกล้สูญพันธุ์
##################
โดย : อโนทัย งานดี