สสธวท. ร่วมกับ ททท. และ องค์กรภาคีเครือข่าย ชวนร่วมฉลองเปิด “ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษาฯ” 2 แลนด์มาร์กแห่งใหม่บนถนนเจริญกรุง โดยซุ้มประตู “วชิรสถิต ๗๒ พรรษา” สะพานดำรงสถิต เป็น “หัวมังกร” ส่วนซุ้มประตู “วชิรธำรง ๗๒ พรรษา” ห้าแยกหมอมี เป็น “ท้ายมังกร” ซึ่งในหลวงและพระราชินี จะเสด็จฯ เปิดซุ้มประตูทั้ง 2 แห่ง ในวันที่ 25 ม.ค. 68 เวลา 17.00 น.
สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ (สสธวท) ผนึกกำลังภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จัดสร้าง “ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗” 2 แห่งบนถนนเจริญกรุง กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ซุ้มประตู “วชิรสถิต ๗๒ พรรษา” บริเวณสะพานดำรงสถิต และ ซุ้มประตู “วชิรธำรง ๗๒ พรรษา” บริเวณห้าแยกหมอมี เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายใต้แนวคิด“เบญจกตัญญุตา บารมีแห่งมังกรสยาม”
คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธาน สสธวท เปิดเผยว่า ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษาฯ 2 แลนด์มาร์คใหม่ บนถนนเจริญกรุง มีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระบรมราชสมภพในปีมังกร 2.ปี 2567 ตรงกับปีนักษัตรมังกร 3.มังกร หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน 4.พระคณาจารย์จีน ธรรมวชิรานุวัตร (เย็นงี้) เจ้าอาวาส วัดมังกรกมลาวาส เป็นที่ปรึกษา และ 5.ถนนเจริญกรุง เป็นถนนสายแรกของประเทศไทย ถือว่าเป็นถนนสายมังกร ฉะนั้นเราจึงได้ครบ 5 มังกรที่จะถวายพระมหาจักรพรรดิของเรา
ฃนอกจากนี้ คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล เผยถึงเหตุผลว่าทำไมต้องมีซุ้มประตู 2 แห่ง ตอนแรกเล็งพื้นที่ตรงบริเวณ ห้าแยกหมอมี เพราะคิดว่าเหมาะสมที่สุด แต่ได้รับคำแนะนำจากพระคณาจารย์จีน ธรรมวชิรานุวัตร (เย็นงี้) เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาสว่า มีหัวมังกรต้องมีท้ายมังกรจึงจะครบ โดยเฉพาะตรงที่บริเวณ ห้าแยกหมอมี ซึ่ง 5 แยก ก็เหมือน 5 เล็บมังกร และมังกร 5 เล็บ มีความหมายว่า” จักรพรรดิ” การนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อ สวนหัวมังกรอยู่ที่สะพานดำรงสถิต นามว่า “วชิรสถิต ๗๒ พรรษา” หมายถึง ซุ้มประตูนี้เป็นเอกลักษณ์แสดงถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุยั่งยืน 72 พรรษา ส่วนที่ห้าแยกหมอมีพระราชทานนามว่า “วชิรธำรง ๗๒ พรรษา” หมายถึง ซุ้มประตูนี้เป็นเอกลักษณ์จารึกการเทิดทูนของพสกนิกรขาวไทยในอภิมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
“ความยิ่งใหญ่ของโครงการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษาฯ สัญลักษณ์แห่งความกตัญญู และความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งความเจริญที่มีชาวไทยเชื้อสายจีนผู้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถจัดสร้างสำเร็จเรียบร้อยได้ระยะเวลาเพียง 8 เดือน ด้วยพระบารมีและบุญญาธิการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้การดำเนินงานทุกขั้นนตอนผ่านไปได้อย่างราบรื่น พร้อมด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอีกหนึ่งวาระสำคัญเนื่องจากความสัมพันธ์ไทย-จีนในปี 2568 จะครบ 50 ปี รัฐบาล สาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้แสดงออกถึงมิตรภาพความสัมพันธ์ทางการทูต ด้วยการได้มอบประติมากรรมมงคลจากหินฮั่นไป๋หวี่ (หินอ่อนหยกสีขาว) ซึ่งเป็นหินชนิดพิเศษของจีน ที่ใช้เฉพาะในพระบรมมหาราชวังจีนเท่านั้น รังสรรค์โดยศิลปินชาวจีน แกะสลักเป็นรูปช้าง สิงโต เป็นตัวแทนประเทศไทยและจีน และกลอง เพื่อประดิษฐานที่ฐานเสาซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ด้วย” คุณหญิงณัฐิกา กล่าว
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ความสำคัญของ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษาฯ เป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูกตเวที และความจงรักภักดีของชาวไทย นอกจากนี้ ททท. ยังเห็นความสำคัญ ที่จะต้องสร้างเสริมให้ “ซุ้มประตูวชิรสถิต ๗๒ พรรษา” และ “วชิรธำรง ๗๒ พรรษา” ทั้งสองแห่งนี้ เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่บนถนนเจริญกรุง เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกภูมิภาคทั่วโลก อีกทั้งยังเชื่อว่าแลนด์มาร์กทั้งสองแห่งนี้จะมีเรื่องราวเป็นที่น่าดึงดูดนักท่องเที่ยวให้สนใจเลือกประเทศไทยเป็นหนึ่งในสถานที่ต้องมาเที่ยวให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต
“จริงๆ แล้ว ถนนเจริญกรุงเคยมีบทบาทสำคัญทางด้านการค้าระหว่างประเทศในรัชสมัยเมือ เมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน การมีซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติทั้งสองแห่งนี้บนถนนเจริญกรุงจะเป็นการกฟื้นฟูความสำคัญ และบทบาทของถนนเจริญกรุงให้กลับมาเป็นที่รุ่งโรจน์เฟื่องฟูอีกครั้ง และจะสอดคล้องความสำคัญและยิ่งใหญ่ของถนนเยาวราชที่มีความสำคัญและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน” ผู้ว่า ททท. กล่าว
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่มีโอกาสร่วมดำเนินงานจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษาฯ จำนวน 2 ซุ้มประตู อันเป็นมิ่งมงคลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกคนปลื้มปีติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ หอการค้าไทยก่อตั้งขึ้นมา 92 ปี สมัยก่อนชาวจีนอพยพเข้ามาในประเทศไทย ก่อร่างสร้างตัว ประกอบธุรกิจการค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของไทย ทำให้คนไทยที่ทำภาคเกษตร รู้จักการทำมาค้าขาย นำมาสู่การจัดตั้งหอการค้าในแต่ละจังหวัด ก่อนจะรวมกันเป็นหอการค้าไทย ถือเป็นองค์กรภาคเอกชนและภาคธุรกิจของคนไทยที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ โดยดำเนินงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนปฏิบัติตามพระราชประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม และสนองงานตามแนวพระราชดำริในหลวง
“หอการค้าไทยปัจจุบันมีสมาชิกมากถึง 156,000 ราย ประกอบด้วยหอการค้าไทยทุกจังหวัด สมาคมการค้า 174 แห่ง และหอการค้าต่างประเทศอีก 40 ประเทศ พร้อมด้วยเครือข่ายภาคธุรกิจทั่วประเทศ รวมทั้งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษาฯ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศ แสดงออกถึงความจงภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ผู้เป็นศูนย์รวมใจของชาวไทยทั้งชาติ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคง ร่มเย็น ภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นายสนั่น กล่าว
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน ในนามองค์กรชาวไทย เชื้อสายจีนในประเทศไทยกล่าวว่า หอการค้าไทย-จีน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2453 จากสมาชิกหลักสิบเป็นหลักล้าน ล้วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ไทยทุกยุคทุกสมัย โดยบทบาทของหอการค้าไทย-จีน มุ่งตอบสนองความต้องการของชาวจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ควบคู่การดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ ให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการศึกษา การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม จนกระทั่งการบริจาคช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยธรรมชาติและภัยพิบัติในประเทศไทย กาลเวลาผ่านมาจวบจนถึงปัจจุบันกว่า 115 ปี นายณรงค์ศักดิ์กล่าว
นายชิม ชินวิริยกุล นายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ในนามองค์กรชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย กล่าวว่าหอการค้าไทย-จีน มั่นคงภายใต้ร่มพระบารมี เป็นศูนย์รวมของนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน ชาวจีนโพ้นทะเล และนักธุรกิจชาวจีนที่มาทำการค้าการลงทุนในไทย ที่อพยพถิ่นฐานเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีบทบาทในฐานะสะพานเชื่อมความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศไทยและจีนในทุกมิติ โดยเฉพาะการค้าการลงทุน
ดร.กิตติ อิทธิภากร ประธานสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทยในนามองค์กรชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย กล่าวเสริมว่า หอการค้าไทย-จีน น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ตลอดจนเคารพเทิดทูนพระบรมวงศานุวงศ์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องในโอกาสมหามงคล 72 พรรษา ชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศต่างมีความปลื้มปีติ ทั้งพ่อค้าไทยจีนที่มาตั้งแต่รุ่นแรกๆ จนถึงนักธุรกิจรุ่นใหม่ ผนึกกำลังร่วมสนับสนุนการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูต่อแผ่นดิน ปรากฏชั่วลูกชั่วหลาน เหนือสิ่งอื่นใดเป็นสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่แสดงความจงรักภักดีต่อในหลวง ศูนย์รวมใจพสกนิกรทุกเชื้อชาติในประเทศไทย
สำหรับพิธีเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษาฯ ทางคณะกรรมการผู้จัดทำโครงการฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดซุ้มประตู “วชิรสถิต ๗๒ พรรษา” บริเวณสะพานดำรงสถิต และ ซุ้มประตู “วชิรธำรง ๗๒ พรรษา” บริเวณห้าแยกหมอมี จึงใคร่ขอเรียนเชิญพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศและชาวไทยเชื้อสายจีน ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ ในวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2568 เวลา 17.00 น. ณ ถนนเจริญกรุง กรุงเทพมหานคร
พร้อมกันนี้ทางผู้จัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษาฯ ยัง เชิญชวนประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้มีส่วนร่วมจารึกประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ครั้งสำคัญ ด้วยการลงนามผ่านช่องทาง https://www.thaichamber.org/donation รวมพลังชูแลนด์มาร์ก “ซุ้มประตูมังกร” ถนนสายใยแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย-จีนอันล้ำค่า หนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ของไทยให้ดังไกลไปทั่วโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวมงคล เปิดศักราชใหม่ เสริมพลัง รับความเฮง ในเทศกาลตรุษจีนปีมะเส็ง 2568