ภาพบรรยากาศจากเมืองไซตามะ ชาวญี่ปุ่นเยี่ยมชมและเลือกซื้อตุ๊กตาดารุมะที่ตลาดดารุมะในจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น สำหรับตลาดแห่งนี้เป็นงานประเพณีดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นที่เน้นจำหน่ายตุ๊กตาดารุมะ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ ความมานะอุตสาหะ และความสำเร็จ มักจัดขึ้นช่วงเริ่มต้นปีใหม่
ทั้งนี้ ชาวญี่ปุ่น มักซื้อตุ๊กตาดารุมะในช่วงต้นปีใหม่ ด้วยความเชื่อว่าตุ๊กตาเหล่านี้จะช่วยให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา แม้ปัจจุบันมีหลากหลายสีสัน แต่สีแดงก็เป็นสีดั้งเดิม และยอดนิยม เป็นสีมงคลสำหรับชาวญี่ปุ่น สื่อแทนความโชคดีและความสำเร็จรุ่งเรือง รวมทั้งความปลอดภัยให้ครอบครัว
นอกจากบริเวณรอบๆศาลเจ้าแล้ว ตุ๊กตาดารุมะก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปในญี่ปุ่น
ที่มาของตุ๊กตาดารุมะ
มาจาก “Bodhidharma” หรือ พระโพธิธรรม ซึ่งชาวญี่ปุ่นมักเรียกท่านว่า ดารุมะ หรือ ดารุมะ ไดชิ ท่านเป็นพระภิกษุอินเดียในพุทธศตวรรษที่ 5-6 ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้งพุทธศาสนานิกายเซน และการทำสมาธิแบบนั่งที่เรียกว่าซาเซ็น (Zazen)
ตำนานเล่าว่า พระโพธิธรรมบำเพ็ญเพียรสมาธิลึกเป็นเวลายาวนานถึง 9 ปี โดยลืมตามองผนังที่ว่างเปล่า และหลับตาลงเพียงครั้งเดียว ท่านโกรธตัวเองที่ทำลายความอุตสาหะจนตัดเปลือกตาของตัวเองออก นอกจากสูญเสียเปลือกตาไปแล้ว แขนและขาของพระโพธิธรรมก็ลีบไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อีกหลายปี คงไว้แต่จิตวิญญาณที่ปราศจากความกลัวใดๆ ตุ๊กตาดารุมะ จึงเป็นตุ๊กตาที่มีดวงตาเปิดกว้างและรูปร่างที่ไร้แขนขา สื่อแทนพระโพธิธรรมตามตำนานที่เล่าขานกันมา
กำเนิดตุ๊กตาดารุมะ
จากตำนานพระโพธิธรรม ว่ากันว่าราวศตวรรษที่ 17 ชาวนาในเมืองทาคาซากิ (Takasaki) จังหวัดกุมมะ (Gunma) ได้ทำรูปปั้นรุ่นแรก เพื่อเป็นเครื่องรางขอพร โดยเชื่อว่าตุ๊กตาจะนำมาซึ่งผลผลิตที่ดี และการขายตุ๊กตาเหล่านี้ก็เป็นช่องทางหนึ่งในการหารายได้เสริมในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ แล้วอีกไม่กี่สิบปีหลังจากนั้น วัฒนธรรมความเชื่อเรื่องตุ๊กตาดารุมะขอพรเพื่อความโชคดี ก็ได้แผ่ขยายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น
ตุ๊กตาดารุมะ มีลักษณะด้านในกลวง ทรงกลม วาดมีหนวดเครา ซึ่งจำลองตามตำนานพระโพธิธรรม โดยแรกเริ่มนั้นเป็นสีแดง (ตามสีจีวรของพระโพธิธรรม) อีกด้านหนึ่งก็เพราะความเชื่อเรื่องสีแดงขับไล่ภูตผีปีศาจ รวมถึงโรคร้ายต่างๆ แต่ปัจจุบันมีหลายสีสันตามความเชื่อ
ธรรมเนียมการขอพรและการบูชา
จุดเด่นอย่างหนึ่งของตุ๊กตาดารุมะ คือ ไม่มีดวงตา เป็นพื้นที่สีขาวเว้นไว้ สำหรับธรรมเนียมการขอพร
เมื่อไม่มีลูกตาดำ ทำให้ผู้ซื้อขอพรเสร็จแล้ว ก็ค่อยแต้มสีดำลงไปข้างซ้าย เมื่อคำอธิษฐานที่ตั้งใจไว้สมหวัง จึงค่อยแต้มดวงตาสีดำข้างขวาลงไป นัยเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ จากนั้นก็นำไปประดับบูชาในตำแหน่งที่เหมาะสม เก็บไว้เป็นเครื่องรางสิ่งมงคล
อย่างไรก็ตาม มีธรรมเนียมว่าเมื่อครบ 1 ปีแล้ว ไม่ว่าคำอธิษฐานจะสมปรารถนาหรือไม่ก็ตาม ผู้ซื้อจะนำตุ๊กตาไปคืนที่วัดหรือศาลเจ้า หรือนำไปเผาตามเทศกาลประจำปีที่จัดขึ้น แม้แต่การส่งให้ไปรษณีย์ที่มีบริการจัดการให้ โดยไม่ควรทิ้งถังขยะ
ส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline