นักท่องเที่ยวแห่เที่ยวเกาะสุรินทร์อย่างคึกคักช่วงวันหยุดยาวเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568 โดยบนเกาะมีไฮไลต์ อย่างเช่น อ่าวช่องขาด อ่าวแม่ยาย อ่าวสุเทพ และหมู่บ้านมอแกน รวมถึงอันซีนอย่างนกชาปีไหน นกเฉพาะถิ่นที่หายากพบไม่กี่แห่งในเมืองไทย
บรรยากาศของการท่องเที่ยวทางทะเลของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลส่งท้ายปีเก่า 2567 ต้อนรับปีใหม่ 2568 เต็มไปด้วยความคึกคักเป็นอย่างมาก โดยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2567 มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางลงเรือสปีดโบ๊ทจากท่าเรือต่าง ๆ แห่เข้ามาท่องเที่ยวชมความสวยงามของท้องทะเลหมู่เกาะสินทร์ ที่มีทั้งหาดทรายขาวน้ำทะเลสวยใส ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งบนเกาะและใต้ท้องทะเล
หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามัน ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา อยู่ห่างจากฝั่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ 70 กิโลเมตร เป็นหมู่เกาะที่อยู่ติดกับเขตชายแดนไทย-พม่า หมู่เกาะแห่งนี้ถูกค้นพบโดย "พระยาสุรินทราชา" (นกยูง วิเศษกุล) เทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางมาสำรวจทะเลฝั่งอันดามัน จึงตั้งชื่อว่า “หมู่เกาะสุรินทร์”
หมู่เกาะสุรินทร์ มีพื้นที่อุทยานฯ รวมทั้งสิ้น 88,282 ไร่ หรือ 141.25 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะ ได้แก่ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี (เกาะสต๊อค) เกาะไข่ (เกาะตอรินลา) และเกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) รวมถึง “กองหินริเชริว” ที่ถูกรวมเข้ามาในปี 2550
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เป็นแหล่งปะการังน้ำตื้นขนาดใหญ่และอุดมสมบูรณ์ในอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย เนื่องจากมีการเรียงตัวของเกาะที่อยู่ในกลุ่มอ่าวขนาดใหญ่ สามารถกำบังคลื่นลมได้ดีทำให้เกิดแนวปะการังริมชายฝั่งรอบเกาะเป็นจำนวนมาก
สำหรับเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ 2 เกาะใหญ่ของอุทยานฯ ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กันคล้ายเกาะแฝด มีน้ำทะเลตื้น ๆ กว้างประมาณ 200 เมตร เรียกว่า “อ่าวช่องขาด” กั้นอยู่ ในช่วงน้ำลงเต็มที่มีลักษณะเหมือนทะเลแหวกสามารถเดินข้ามไป-มาระหว่างเกาะได้
บนเกาะสุรินทร์ ยังมี อ่าวแม่ยาย อ่าวไม้งาม และอ่าวสุเทพ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่มีความสวยงามทั้งหาดทรายชายทะเลและโลกใต้ทะเล
จากปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลงวันละ 4 ครั้ง และระดับสูงสุดและต่ำสุดต่างกันถึง 3 เมตร บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ ทำให้มีกระแสน้ำเลียบชายฝั่งที่หมุนเวียนรวดเร็วและแรง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพใต้ท้องทะเลที่หลากหลาย นอกจากปลาเล็ก ๆ สวยงามในกลุ่มปะการังแล้ว บริเวณเกาะสุรินทร์ ยังมีโอกาสพบสัตว์ขนาดใหญ่อย่างฉลามวาฬ และเต่าทะเลอีกด้วย
นอกจากนี้เกาะสุรินทร์ ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าขนาดเล็ก รวมทั้งนกต่าง ๆ ที่มีมากกว่า 80 ชนิด นำโดย “นกชาปีไหน” ซึ่งเป็นนกเฉพาะถิ่นที่หายากพบไม่กี่แห่งในเมืองไทย ที่ถือเป็นอันซีนของเกาะสุรินทร์
ขณะที่สิ่งที่เป็นไฮไลต์น่าสนใจมากที่สุดในหมู่เกาะสุรินทร์ คือ "หมู่บ้านมอแกน" ประมาณ 400 คน บริเวณชายหาดอ่าวบอนใหญ่ของหมู่เกาะสุรินทร์ใต้
ชาวมอแกน เป็นกลุ่มชุมชนชาวเลที่ได้รับฉายาว่า “ยิปซีแห่งท้องทะเล” โดยชาวมอแกนเกาะสุรินทร์ ถือเป็นชาวเลกลุ่มสุดท้ายในเมืองไทยที่ยังดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม พวกเขาจะสร้างกระท่อมยกเสาสูง ทำประมงเป็นหลักและทำของที่ระลึกขายให้นักท่องเที่ยว บางส่วนเป็นลูกจ้างช่วยงานภายในอุทยานฯ
สำหรับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จะเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม-15 พฤษภาคม ของทุกปี โดยนักท่องเที่ยวสามารถไปเที่ยวได้ทั้งแบบไปเช้า-เย็นกลับ และแบบพักค้างคืนบนเกาะซึ่งทางอุทยานฯมีทั้งบ้านพัก เต็นท์ และร้านอาหาร ให้บริการ
###########
ภาพ : อโนทัย งานดี