xs
xsm
sm
md
lg

ไหว้ “นบพระปฏิมา ๙ นครามหามงคล 2568” เสริมมงคลรับปีใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เนื่องในเทศกาลปีใหม่ พุทธศักราช 2568 กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดกิจกรรมพิเศษสักการะพระพุทธรูปที่กอปรด้วยพุทธศิลป์อันงดงาม มีประวัติความเป็นมาจากนครโบราณต่าง ๆ ของไทย โดยมีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เป็นพระประธาน พร้อมด้วยพระพุทธรูปอีก 9 องค์ ที่จัดแสดงและสงวนรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวน 4 องค์ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี จำนวน 3 องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี จำนวน 1 องค์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา จำนวน 1 องค์ มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ถึงวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ.2568


โดยพระพุทธรูปทั้ง 10 องค์ ประกอบด้วย

1. พระพุทธสิหิงค์
พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ประทับขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลาแสดงปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริยังพระนครหลวงโบราณหลายแห่ง นับแต่สุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ตราบเท่าถึงกรุงรัตนโกสินทร์


2. พระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบ พระวรกายเพรียวบาง และชายสังฆาฏิเป็นแถบเล็กยาวพาดพระอังสาเหนือพระนาภี ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่งกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย พระพุทธรูปองค์นี้ มีประวัติระบุว่าชาวกะเหรี่ยงขุดได้จึงนำมาถวายครูบาเจ้าศรีวิชัย ครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จประพาสมณฑลพายัพ พ.ศ. ๒๔๖๔ ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


3. พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม 2 พระหัตถ์
พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องแสดงปางประทานอภัย 2 พระหัตถ์ พระองค์นี้จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลพบุรี ที่สืบเนื่องมาจากพระพุทธรูปในศิลปะเขมรโบราณแบบบายน รูปแบบพระพุทธรูปลักษณะดังกล่าวพบมากในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะที่ “เมืองลพบุรี” ในเวลาต่อมากลุ่มชนชั้นปกครองของเมืองลพบุรีที่ปัจจุบันรู้จักกันในนาม “ราชวงศ์อู่ทอง” ได้รวมอำนาจเข้ากับราชวงศ์สุพรรณภูมิสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อพุทธศักราช 1893


4. พระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย จากพุทธศิลป์แสดงความคาบเกี่ยวกับพระพุทธรูปในช่วงปลายของศิลปะลพบุรี พบมากบริเวณเมืองโบราณก่อนสมัยอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท จนในอดีตขนานนามพระพุทธรูปกลุ่มนี้ว่า “พระเมืองสรรค์” เมื่อภายหลังการสถาปนาอาณาจักรอยุธยา เมืองสรรคบุรีจึงกลายเป็นเมืองสำคัญในฐานะเมืองลูกหลวงและเมืองหน้าด่าน


5. พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย
พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย พุทธลักษณะพระพักตร์รูปไข่ มีพระรัศมีเป็นเปลวเพลิง ครองจีวรห่มคลุมเรียบไม่มีริ้วและจีวรแนบพระวรกาย อันเป็นรูปแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย บริเวณส่วนฐานด้านหลังของพระพุทธรูปมีจารึกอักษรไทยภาษาไทยสมัยรัตนโกสินทร์ว่า “วัดกะพังทอง เมืองโสกโขไทย” ดังนั้นสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้ถูกเคลื่อนย้ายมาจากวัดตระพังทอง ภายในเมืองเก่าสุโขทัย


6. พระพิมพ์ลีลาในซุ้มเรือนแก้ว (พระกำแพงศอก)
พระพิมพ์เนื้อชินรูปพระพุทธเจ้าในอิริยาบถลีลาภายในเรือนแก้ว พระพิมพ์แบบนี้พบมากในกรุพระปรางค์วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี จึงสันนิษฐานว่าน่าจะได้จากกรุนี้เช่นกัน และนิยมเรียกกันทั่วไปว่า "พระกำแพงศอก" ตามขนาดของพระพิมพ์ที่ค่อนข้างใหญ่ จึงไม่สามารถพกติดตัวได้ มักบูซาที่บ้านเรือน โดยมีความเชื่อถือว่าเป็นพระพิมพ์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถป้องกันอัคคีภัยได้


7. พระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย พุทธศิลปะของพระพุทธรูปองค์นี้นักวิชาการเรียกว่า “ศิลปะแบบอู่ทอง” ด้วยเชื่อว่ารูปแบบศิลปะนี้เกิดขึ้นในช่วงของรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง และจำแนกออกเป็น 3 รุ่น สำหรับวัดราชบูรณะสถานที่พบพระพุทธรูปองค์นี้นั้น สร้างขึ้นโดยพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) จากการขุดค้นภายในกรุพระปรางค์ พบพระพุทธรูปศิลปะต่างๆ จำนวนมาก โดยพระพุทธรูปในกลุ่มศิลปะแบบอู่ทองรุ่นที่ 3 พบมากที่สุดจำนวนกว่า 356 องค์


8. พระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยสกุลช่างนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปกลุ่มที่ได้รับรูปแบบมาจากพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรสมัยอยุธยาตอนกลาง (พุทธศตวรรษที่ 21-ต้นพุทธศตวรรษที่ 23) ซึ่งมีแรงบันดาลใจและรูปแบบจากพระพุทธสิหิงค์ หรือพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร ศิลปะล้านนา ตามตำนานระบุว่าเมื่อพระพุทธสิหิงค์เชิญมาจากประเทศศรีลังกาเคยพักประดิษฐานที่นครศรีธรรมราชก่อนอัญเชิญไปเมืองสุโขทัย


9. พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย 2 พระหัตถ์
พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องน้อย ตามประวัติกล่าวว่าได้มาจากพื้นที่มณฑลพิษณุโลก ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๕ ประกอบด้วยเมืองพิจิตร เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย และเมืองพิษณุโลก โดยมีเมืองเอกคือเมืองพิษณุโลก สำหรับเมืองพิษณุโลกเดิมมีนามว่า “สองแคว” เรียกตามสภาพภูมิศาสตร์ที่มีลำน้ำสองสายบรรจบกันบริเวณพื้นที่ทิศเหนือนอกตัวเมืองพิษณุโลก คือแม่น้ำน่าน (แควใหญ่) และแม่น้ำแควน้อย


10. พระชัยเมืองนครราชสีมา
พระพุทธรูปปางมารวิชัยบนพระวรกายโดยรอบปรากฎมีจารึกพระคาถาอักษรขอม คติการสร้างพระชัยประจำตัวแม่ทัพยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณ เพื่อคุ้มครองป้องกันภัย นอกจากนี้ยังพบการสร้างพระชัยสำหรับเมืองเพื่อเป็นมิ่งขวัญและสวัสดิมงคล ดังตัวอย่าง พระชัยเมืองนครราชสีมา เมืองหน้าด่านสำคัญที่ป้องกันข้าศึกจากทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ



สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น