เรือนไม้สักสีน้ำตาลเข้ม ยกใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินขอ (กระเบื้องดินเผามุงหลังคาเรือนของชาวล้านนา) งามสะดุดสายตาตามลักษณะของสถาปัตยกรรมล้านนาแบบเรือนคู่ ตระหง่านเด่นอยู่ท่ามกลางความร่มรื่นเขียวขจีของแมกไม้ ดึงดูดให้ผู้มาเยือนอยากเดินเข้าไปสำรวจสถานที่อันเปรียบดั่งแหล่งรวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองน่าน ที่มีชื่อว่า “โฮงเจ้าฟองคำ”
ประวัติ และความสำคัญ “โฮงเจ้าฟองคำ"
เมืองน่าน จุดหมายปลายทางที่รุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์จากมรดกในท้องถิ่น นับเป็นหนึ่งในจังหวัดของไทยที่หลายภาคส่วนกำลังช่วยกันผลักดันสู่เป้าหมายการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (The UNESCO Creative Cities Network) ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในปี พ.ศ. 2568
นอกจากวัดวาอารามทรงคุณค่าในย่านเมืองเก่า "โฮงเจ้าฟองคำ" เรือนไทยไม้สักอายุเก่าแก่นับศตวรรษก็นับเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเรียนรู้วัฒนธรรมที่สำคัญของเมืองน่าน ที่มีองค์ประกอบของคุณค่าในด้านมรดกสถาปัตยกรรม หัตถกรรม และศิลปะพื้นบ้าน เปรียบได้กับพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่เปิดกว้างรอต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคน
เรือนไม้เก่าอายุนับร้อยปีแห่งนี้ ซ่อนตัวอย่างเงียบสงบในชุมชนสุมนเทวราช เขตเทศบาลเมืองน่าน คำว่า "โฮง" เป็นภาษาพื้นเมืองล้านนา หมายถึง เรือนพักอาศัยของเจ้านาย ส่วน “ฟองคำ” คือ ชื่อเฉพาะซึ่งมีที่มาจาก “เจ้าฟองคำ”
ย้อนประวัติในยุคแรก เดิมเรือนไม้ตั้งอยู่บริเวณหลังวัดพระเกิด เป็นคุ้มหรือบ้านของ “เจ้าศรีตุมมา" (หลานเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 61) ตั้งอยู่ติดกับคุ้มแก้วซึ่งเป็นที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครน่านในเวียงเหนือ เมื่อเจ้าอนันตวรฤทธิเดช (เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 62) ย้ายกลับมายังเมืองน่าน ปัจจุบันคุ้มแก้วถูกทิ้งร้างไป
หลังจากนั้นเป็นเจ้าบุญยืน (ธิดาองค์สุดท้ายของเจ้าศรีตุมมากับเจ้ามโน) ได้ย้ายโฮงลงมาสร้างในสถานที่ปัจจุบัน และตกทอดมาสู่ “เจ้าฟองคำ" (ธิดาของเจ้าบุญยืนกับเจ้าอินต๊ะ) โดยทุกวันนี้ ทายาทผู้ดูแล คือ “ภัทราภรณ์ ปราบริปู” ธิดาของเจ้าฟองคำ ที่สืบสานเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษในการอนุรักษ์เรือนไทยล้านนาไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษา
สถาปัตยกรรมล้านนาดั้งเดิม
สถาปัตยกรรมล้านนาที่เป็นเอกลักษณ์ของโฮงเจ้าฟองคำ ตัวเรือนสร้างด้วยไม้สักยกพื้นสูง โครงสร้างเรือนไม้แบบล้านนาโบราณ เป็นเรือนไม้ 4 หลังติดต่อกัน มีระเบียง หรือชานเดินหากันได้ แบ่งเป็นห้องต่างๆ ทั้งห้องนอน ห้องรับแขก ห้องครัว บันไดทางขึ้นบ้านอยู่ด้านหน้า หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด (หรือไม้เกล็ด) ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 ได้มีการรื้อและสร้างขึ้นใหม่ โดยใช้กระเบื้องดินขอ (ดินเผาล้านนา) มาทดแทน
แต่เดิมไม้ที่ถูกนำมาเป็นวัสดุสร้างตัวบ้านเป็นไม้สักที่ทำการผ่า และซ้อมถากด้วยขวานและมีด ในสมัยนั้นยังไม่มีเลื่อยขนาดใหญ่ ดังนั้น การประกอบตัวเรือนจึงไม่ได้ใช้ตะปู แต่จะใช้วิธีเจาะไม้และเข้าไม้ โดยใช้สลักไม้ ซึ่งจะสามารถมองเห็นร่องรอยที่มีเหลืออยู่ในส่วนต่างๆของตัวบ้าน
พิพิธภัณฑ์ชุมชน และประโยชน์ใช้สอย
พื้นที่ชั้นบน ซึ่งเป็นที่พักอาศัยไม่ได้ใช้เพื่อการพักอาศัยโดยตรง แต่เป็นการเก็บรักษาเรื่องราวในอดีตไว้ราวกับสมัยที่เจ้าของบ้านยุคแรกยังมีชีวิตอยู่ สามารถเดินชมได้ไม่ว่าจะเป็นห้องพระ ห้องนอน โรงครัว ลานรับแขก ที่ดูแลรักษาอย่างดีสะอาดสะอ้าน เสมือนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจัดแสดงวิถีชีวิตในอดีต
รวมทั้งจัดแสดงโบราณวัตถุที่มีคุณค่า เช่น เครื่องเรือน เครื่องใช้ เครื่องเงิน ผ้าทอ ภาพถ่ายเก่าๆ ธนบัตรหายาก เหรียญโบราณ กลองมโหระทึกสำริด ดาบโบราณ ผ้าทอ ฯลฯ
พื้นที่ชั้นล่างที่เป็นใต้ถุนโล่ง เปิดให้เป็นพื้นที่สาธิตการทอผ้า การปั่นฝ้าย การปักผ้าหน้าหมอน เป็นต้น มีกี่ทอผ้าเรียงราย พร้อมทั้งมีจุดจำหน่ายผ้าทอ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของลวดลายน้ำไหลของเมืองน่าน ทั้งยังเป็นจุดที่ใช้จัดกิจกรรม นั่งฟังการบรรยายข้อมูลต่างๆของบ้าน ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของเมืองน่าน
รางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม
คุณค่าของ “โฮงเจ้าฟองคำ” ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวบ้านโบราณ หรือพิพิธภัณฑ์ชุมชน แต่ยังโดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรม และการอนุรักษ์ จึงได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทบ้านพักอาศัย (คุ้มเจ้า) ในปี พ.ศ. 2555 จากกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับอีกครั้ง ประเภท อาคารเคหะสถานและบ้านเรือนเอกชน ในปี พ.ศ. 2559
โฮงเจ้าฟองคำ
ตั้งอยู่ที่ถนนสุมนเทวราช ซอย 2 ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
เปิด 09.00-17.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์และอังคาร) ค่าเข้าชม 30 บาท
สอบถามข้อมูล โทร. 0 5471 0537 หรือ 08 9560 6988
นอกจากการเที่ยวชมแบบนักท่องเที่ยวโดยทั่วไปแล้ว สามารถติดต่อเพื่อเข้าชมแบบหมู่คณะ หรือใช้จัดกิจกรรมเวิร์กชอปด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น การทอผ้า การทำผ้ามัดย้อม กิจกรรมทำอาหารสูตรโบราณของโฮงเจ้าฟองคำ ตลอดจนใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงรับรองขององค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ
ส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline