เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สำหรับ "Dior Gold House" (ดิออร์โกลด์เฮาส์) Pop-Up Store สุดหรูแห่งแรกของเมืองไทยของแบรนด์แฟชั่นระดับโลก ตระหง่านอยู่ระหว่างเซนทรัลชิดลม - เซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ ที่จำลองภายนอกอาคารจากร้านสาขาหลักในกรุงปารีส ใช้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมเลขที่ 30 ถนนมองแตญ ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านดิออร์แห่งแรก
โดยเรื่องซึ่งเป็นไวรัลกล่าวถึงเป็นจำนวนมาก คือ มีการนำ “เสื่อจันทบูร” งานหัตถศิลป์ทรงคุณค่าของจังหวัดจันทบุรี เป็นส่วนหนึ่งของ "Dior Gold House” ครั้งนี้ด้วย
เรื่องนี้ “ศรัณย์ เย็นปัญญา” นักออกแบบ และนักเล่าเรื่อง ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมสำคัญของสีสัน โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว (Saran Yen Panya) ในประเด็นนี้อย่างภูมิใจ โดยระบุว่า
ใครจะไปคิดไปฝัน ว่าการนั่งรถตู้สุ่มๆ ไปคุยกับคุณลุงคุณป้า นักทอเสื่อ ทั้งภาคกลาง ตะวันออก อีสาน จะทำให้วันนึง ได้ทำงานกับ Dior
ป้าจุ (มือทอเสื่ออันดับต้นๆของผม) เคยเล่าให้ผมฟังว่า เด็กๆที่จันทบุรีน่ะนะ โตมาก็ทอเสื่อเป็นกันหมดน่ะแหล่ะ แต่เค้าก็ไม่มานั่งทำหรอกนะ เพราะว่า มันร้อน มันช้า แล้วเงินก็ไม่รู้ว่ามันจะมาเมื่อไหร่ - นู่นนน ไปเข้าแถวสมัครงานร้านสะดวกซื้อกันหมด
เรื่องที่แกเล่าเมื่อเจ็ดแปดปีที่แล้ว สถิตย์ อยู่ในหัวผม เป็นคำถามว่า “นี่รึเปล่าวะ…ต้นเหตุของภูมิปัญญา งานช่างฝีมือท้องถิ่น ที่มันกำลังค่อยๆเลือนหาย …. เพราะว่า ที่สหกรณ์ ไม่ได้ติดแอร์!?”
(หยอกครับ)
ผมกับหุ้นส่วน ก็ค่อยๆ ทดลองผิด ลองถูก กับการใช้วัสดุ จำพวกเสื่อทอจากชุมชนกันมาจนถึงทุกวันนี้ แต่สิ่งหนึ่ง ที่ค่อนข้างคิดว่า Master ขึ้นมาเองได้ประมาณนึงแล้ว คือ “การปักเสื่อ” และ ”เอามาใช้แทนผ้าบุเฟอร์นิเจอร์“ - ที่เท่าที่ดูตอนนี้ ก็ยังมีแต่ตูนี่แหล่ะ
ปกติ เสื่อมันเป็นวัตถุที่เอาวางไว้กับพื้น กับดิน ปูบนแคร่ครับ ไม่มีใครทะลึ่ง เอามาทำงานปักแพงๆ ทับลงไปหรอก …. แต่ ชีวิตสอนให้เรารู้ไว้ว่า คนทะลึ่ง บนโลกนี้ มีเสมอ
ใน Dior Cafe ที่ Dior Gold House ท่ามกลางผนังไม้ไผ่จักสานของพี่ กรกต อารมย์ดี ที่เต็มไปด้วยความวิจิตรแบบพีคคคคคคคๆๆๆๆๆๆ แบบ ค ควาย และไม้ยมก ล้านตัวนั้น
มีโต๊ะเก้าอี้ ที่ทำจากผม และ ความพยายามจะทำอะไรทะลึ่งๆ กับเสื่อจากจันทบุรีของป้าจุ แทรกตัวอยู่ด้วยครับ
(ซึ่งแกน่าจะติดแอร์ให้สหกรณ์ได้แล้ว จากออเดอร์นี้ แต่คิดว่าปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่ความเย็นอย่างเดียว)
เสื่อที่สั่งป้าจุไป มันดูเหมือนเสื่อเรียบๆ ธรรมดานะครับ แต่จริงๆ ถ้าซูมดู จะรู้ว่ามันไม่ธรรมดา เพราะมันถูกออกแบบมา ให้คุยกับลายปักของ Dior โดยเฉพาะครับ
ไม่พอ เก้าอี้นี้ ทีม Dior เค้ายังไว้วางใจในความทะลึ่ง ให้ตีความ เก้าอี้ สุด Iconic ของ Maison อย่าง Medallion Chair ที่เป็นเก้าอี้ ที่ มิสเตอร์ คริสเตียน ดิออร์ เลือกใช้วางให้แขกในงานแฟชั่นโชว์ของเขาเสมอ - และ ปัจจุบันนี้ มีดีไซน์เนอร์ดังๆ ระดับโลก ได้ตีความ Medallion Chair ไปแล้วหลายสิบคน ตั้งแต่ Phillip Stark, Nendo ยันไปจน India Madavi และ ผมภูมิใจมาก ที่จะได้พูดว่า เวอร์ชั่น Siamese Medallion นี้ ก็ถูก ถักทอ กลึง หุ้ม ปัก ราวกับเสื้อ กูตูร์ ด้วยฝีมือคนไทยล้วนๆ ทุกอณูครับ
หวังว่า เด็กๆ ที่จันทบุรี ได้เห็นโปรเจคนี้ แล้วจะรู้สึกว่าการเป็นนักทอเสื่อ มันก็คูลไม่เบาเหมือนกันครับ
ทางด้านแฟนเพจ “เสื่อกกจันทบูร by จุไรรัตน์” โพสต์ในประเด็นนี้เช่นกัน โดยระบุว่า
เป็นความรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจและตื้นตันใจอย่างยิ่งที่เห็น เสื่อจันทบูร ซึ่งเป็นงานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าของไทย ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยถูกเลือกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งร้าน Dior แบรนด์แฟชั่นระดับโลก
การที่นักออกแบบระดับประเทศมองเห็นความงดงามในเสื่อจันทบูร ไม่เพียงแค่สะท้อนถึงความละเอียดอ่อนและคุณค่าของงานฝีมือไทย แต่ยังเป็นการยกระดับวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก เสื่อจันทบูรที่ทอด้วยความตั้งใจและฝีมืออันประณีต ถูกนำมาผสานกับความหรูหราและความร่วมสมัยของ Dior ได้อย่างลงตัว
นี่ไม่ใช่เพียงความสำเร็จของผู้สร้างสรรค์งานฝีมือท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงมรดกวัฒนธรรมไทยกับวงการแฟชั่นระดับโลก เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ผสมผสานความงดงามของภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้ากับความล้ำสมัยอย่างมีเอกลักษณ์ ขอบคุณ Dior ที่ทำให้ “เสื่อจันทบูร” ได้เฉิดฉายในเวทีระดับโลก และขอบคุณคนไทยทุกคนที่ช่วยรักษามรดกนี้ให้คงอยู่จนถึงวันนี้
มาย ภาคภูมิ และ อาโป ณัฐวิญญ์ DIOR House Ambassador ประจำประเทศไทย