ตามมาอีกเรื่องน่ายินดี ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน "เคบายา" เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ประจำปี 2567 โดยเป็นมรดกวัฒนธรรมร่วม 5 ชาติ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 (The nineteenth session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage: IGC-ICH) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลา ประมาณ 11.40 น. (เวลาท้องถิ่น) สาธารณรัฐปารากวัย หรือตรงกับวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลาประมาณ 20.40 น. (เวลาประเทศไทย) ยูเนสโก มีมติรับรองให้ Kebaya : knowledge, skills, tradition and practices หรือ เคบายา : ความรู้ ทักษะ ประเพณี และการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการเสนอร่วม 5 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity: RL) ประจำปี 2567 อีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ “เคบายา” เครื่องแต่งกายอันสง่างามของทางใต้ ได้รับการขึ้นทะเบียนในปีเดียวกันต่อจาก “ต้มยำกุ้ง” ถือเป็นรายการมรดกวัฒนธรรมฯ ลำดับที่ 6 ของประเทศไทย ต่อจากรายการ โขน นวดไทย โนรา สงกรานต์ และต้มยำกุ้ง
รมว.วธ. กล่าวว่า ในการเสนอ เคบายา รายการมรดกวัฒนธรรมร่วม 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน เกิดจากแนวคิดนำโดยประเทศมาเลเซีย ได้มีการประสานงานเมื่อต้นปี พ.ศ. 2565 กับประเทศบรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำเอกสารขอขึ้นทะเบียน โดยได้รับความยินยอมจากชุมชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งชุมชนผู้ปฏิบัติและผู้แทนจากประเทศผู้เสนอรายการทั้ง 5 ประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ณ พอร์ตดิกสัน รัฐเนกรีเซมบีลัน ประเทศมาเลเซีย โดยได้แลกเปลี่ยนและเสนอมาตรการส่งเสริมและรักษา จัดทำและสนับสนุนข้อมูลตามเอกสารแบบฟอร์มขอขึ้นทะเบียน หลังจากนั้น ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ณ กรุงจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย และการประชุมออนไลน์ โดยประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ เพื่อร่วมกันจัดทำเอกสารขอขึ้นทะเบียนให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนยื่นเสนอต่อยูเนสโกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 เพื่อเข้าวาระการพิจารณาปี 2567
รมว.วธ. กล่าวอีกว่า เคบายา เป็นเสื้อผ่าหน้า มีลักษณะเด่นคือการประดับด้วยงานปักและลูกไม้ที่ประณีตและสวมด้วยตัวยึด สามารถสวมใส่คู่กับโสร่งหรือผ้าท่อนล่างที่เข้าชุดกัน เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวัน ในโอกาสทั่วไป รวมถึงในโอกาสที่เป็นทางการและงานเทศกาลต่าง ๆ ความรู้ ทักษะ ประเพณีและการปฏิบัติเกี่ยวกับเคบายา มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้หญิงทุกวัย ทุกพื้นที่ และทุกศาสนาจากชุมชนต่าง ๆ ในหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศบรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และภาคใต้ของประเทศไทย เคบายา จึงสะท้อนถึงประวัติศาสตร์และประเพณีที่มีร่วมกันของภูมิภาค ตลอดจนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีส่วนสนับสนุนในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การศึกษาที่มีคุณภาพ ความเสมอภาคทางเพศ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม รวมทั้งสันติภาพและความสมานฉันท์ในสังคม เคบายา ยังเป็นรายการที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมและชุมชนที่หลากหลายเข้าด้วยกัน ส่งเสริมความเคารพซึ่งกันและกัน และมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านต่างๆ
รมว.วธ. ยังเปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ พิจารณาของยูเนสโก ในครั้งนี้ ยังได้แสดงการชมเชยรัฐภาคีในการจัดเตรียมเอกสารและวิดีโอนำเสนอมาอย่างดี ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการเสนอรายการมรดกร่วม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในการสร้างสันติภาพและความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างชุมชน กลุ่มคน และปัจเจกบุคคลจากแต่ละรัฐภาคี การขึ้นทะเบียนมรดกร่วมนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากความภาคภูมิใจแล้ว ยังนำมาซึ่งความสามัคคี ความรับผิดชอบร่วมกัน และความมุ่งมั่นในการร่วมมือที่จะส่งเสริมและรักษามรดกวัฒนธรรมในระดับภูมิภาค และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จทางประวัติศาสตร์นี้ ประเทศผู้เสนอรายการทั้ง 5 ประเทศ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมคู่ขนาน ได้แก่ นิทรรศการและการแสดงแฟชั่นชุด เคบายา ในช่วงระหว่างการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ครั้งที่ 19 นี้ ณ นครอซุนซิออน สาธารณัฐปารากวัย ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมรดกร่วมและความเกี่ยวข้องกับสังคมร่วมสมัยให้กับประชาชนทั่วไป ยังเป็นโอกาสให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมต่าง ๆ และร่วมกันพยายามส่งเสริม รักษาและสืบทอด เคบายา ให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป
รมว.กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงวัฒนธรรม มีแผนในการส่งเสริมและต่อยอดมรดกวัฒนธรรม หลังจากยูเนสโก ขึ้นทะเบียน ต้มยำกุ้ง - เคบายา แล้ว ด้วยการขับเคลื่อน Soft power ด้านอาหาร และ ด้านแฟชั่น ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม จะนำเศรษฐกิจทางวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร เกม รายการโทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์ ให้สอดแทรกเนื้อหา ต้มยำกุ้ง เพื่อสร้างกระแสความนิยมในวงกว้าง และบูรณาการกับภาคธุรกิจ-การท่องเที่ยว ในการนำ ต้มยำกุ้ง เป็นเมนูหลัก เมนูอาหารต้องชิม เมื่อมาเที่ยวเมืองไทย บรรจุลงในโปรแกรมการท่องเที่ยว และเป็นเมนูอาหารที่ต้องระบุไว้ในรายการอาหารขึ้นโต๊ะผู้นำ รวมทั้งผู้เข้าร่วมในการประชุมที่จัดในประเทศไทย หรือที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเชิญชวนให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวและการบริการ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร่วมจัดแคมเปญพิเศษในการส่งเสริมการขายเพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายเมนูต้มยำกุ้ง รวมถึงยอดขายวัตถุดิบต่างๆ และยังเป็นการสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าและสาระของเมนูต้มยำกุ้งไปสู่ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติอีกด้วย และในส่วน ภาคชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนโดยมุ้งเน้นบูรการร่วมกับหอการค้า สมาคม ชุมชน เครือข่ายในพื้นที่ ที่มีวัฒนธรรมการแต่งกายเคบายา ร่วมจัดแคมเปญพิเศษในการส่งเสริมการขาย ด้วยการเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติสวมใส่ ชุดเคบายา พร้อมถ่ายรูปท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการสร้างสีสันไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ของชุมชนอีกด้วย
ในโอกาสที่น่ายินดีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงขอเชิญพี่น้องประชาชนร่วมกิจกรรม งานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ระหว่างที่ 6-8 ธันวาคม 2567 ณ Quartier Avenue ชั้น G ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์ ระหว่าง 10.00-21.00 น. *โดยในวันที่ 6 ธันวาคม เวลา 18.00 น. จะมีพิธีเปิดงานโดย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติเปิดงานอย่างเป็นทางการ ภายในงานวันที่ 6 ธ.ค. 67 พบกับ การสาธิตการทำต้มยำกุ้งพร้อมให้ชิมฟรี โดยเชฟตุ๊กตา (ครัวบ้านยี่สาร) เชฟกระทะเหล็ก ส่วนวันที่ 7-8 ธ.ค. ปรุงต้มยำกุ้งโดยเชฟเมย์ พัทรนันท์ ธงทอง เชฟกระทะเหล็ก พร้อมให้ชิมต้มยำกุ้งฟรี รวมถึงการแสดงแฟชั่นโชว์ชุดเคบายา นำโดยนางสาวไทยและรองนางสาวไทย และร่วมชมนิทรรศการ “ต้มยำกุ้ง” และนิทรรศการ/สาธิตการปักชุด-เครื่องประดับ “เคบายา” และอาหารเปอรานากัน จากจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรังและสตูล อิ่มอร่อยกับอาหารที่ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติแล้ว 20 รายการ และยังได้เพลิดเพลินกับการแสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรมให้รับชมตลอดงาน โดยติดตามรายละเอียดได้ที่ www.culture.go.th และเฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline