ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องน่ายินส่งท้ายปี พ.ศ.2567 เมื่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศรับรองให้ “ต้มยำกุ้ง” เป็นรายการตัวแทน “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” ประจำปี 2567 เมื่อเวลา 02.10 น. (เวลาประเทศไทย) ของวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ นครอซุนซิออน สาธารณรัฐปารากวัย
ต้มยำกุ้ง เป็นหนึ่งในอาหารไทยเลื่องชื่อที่ชาวต่างชาติรู้จักกันเป็นอย่างดี ดังนั้นเราจึงขอพาไปรู้จักกับเมนูต้มยำกุ้งในหลากหลายแง่มุม กับ 10 เรื่องน่ารู้ของต้มยำกุ้งกัน
1.ต้ม-ยำ-กุ้ง : ต้มยำกุ้งเป็นเมนูที่ประกอบด้วยคำ 3 คำ ที่สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของอาหารไทย ได้แก่ “ต้ม” “ยำ” และ “กุ้ง” ซึ่งเป็นกระบวนการทำอาหารที่นำเนื้อสัตว์ คือ “กุ้ง” มา “ต้ม” ลงในน้ำเดือดที่มีสมุนไพรอย่างเช่น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด (ซึ่งหลายบ้านปลูกไว้กินในครัวเรือน) และปรุงรสจัดจ้านแบบ “ยำ” จนวันนี้เป็นที่ถูกปากถูกใจไปทั่วโลก
2.ต้มยำ : แม้ไม่มีบันทึกแสดงจุดกำเนิดของต้มยำกุ้งที่ชัดเจน แต่มีหลักฐานว่า ในช่วง พ.ศ.2352-2367 สมัยรัชกาลที่ ๒ มีคำว่า “ต้มยำ” ปรากฏในวรรณคดีไทยเรื่องเสภาขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี และคำว่า “แกงต้มยำ” ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ตอนพิธีราชาภิเษกพระราม
3.ชื่อต้มยำกุ้งปรากฏ : พ.ศ. 2441 ปรากฏสูตร “ต้มยำกุ้งทรงเครื่อง” และ “ต้มยำกุ้งกับเห็ดโคน” ในตำราปะทานุกรม การทำของคาวของหวานอย่างฝรั่งแลสยาม ต่อมาใน พ.ศ. 2451 ปรากฏสูตรแกงนอกหม้อและต้มยำเขมร ในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ของ “ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์”
พ.ศ. 2505 “หม่อมราชวงศ์กิตินัดดา กิติยากร” ปรุงต้มยำกุ้งเป็นเครื่องเสวยทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้ง 4 พระองค์
หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2507 ชื่อต้มยำกุ้งถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือ “ของเสวย” ที่เขียนโดยหม่อมราชวงศ์กิตินัดดา กิติยากร
4.กุ้งแม่น้ำ : สันนิษฐานว่าเมนูต้มยำกุ้งถือกำเนิดขึ้นในภาคกลางของไทย ซึ่งในอดีตใช้ “กุ้งแม่น้ำ” ที่สามารถจับได้ง่ายตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ต่อมาเมื่อต้มยำกุ้งได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ จึงมีการนำ “กุ้งทะเล” มาทำเป็นต้มยำกุ้งให้ผู้บริโภคได้เลือกอิ่มอร่อยกัน
5.น้ำใส-น้ำข้น : ปัจจุบันต้มยำกุ้งแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ “ต้มยำกุ้งน้ำใส” และ “ต้มยำกุ้งน้ำข้น”
โดยสูตรต้นตำรับดั้งเดิม คือต้มยำกุ้งน้ำใส ที่ไม่ใส่น้ำตาลแต่จะมีความหวานจากเนื้อกุ้งและน้ำต้มกุ้ง และมีความมันจากมันกุ้ง ซึ่งจะมีการปรุงรสนอกเตาเพื่อรักษารสและกลิ่นของเครื่องปรุง
ส่วนต้มยำกุ้งน้ำข้นนั้นมาทีหลัง เป็นสูตรที่เพิ่มความเข้มข้นหอมมันให้กับน้ำซุปด้วย ด้วยกะทิ หรือ นมสด และน้ำพริกเผา
นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการสร้างสรรค์สูตรเมนูต้มยำกุ้งที่แปลกใหม่มากมาย เพื่อตอบสนองรสนิยมการบริโภคอาหารที่แตกต่างกันออกไปของคนกลุ่มต่าง ๆ
6.เปรี้ยว-เค็ม-เผ็ด รสชาติหลัก : รสชาติต้มยำกุ้งโดยพื้นฐาน จะมีรส “เปรี้ยว” นำจากมะนาว ตามด้วยรส “เค็ม” จากเกลือหรือน้ำปลา และ “เผ็ด” จากพริกซึ่งเดิมจะใช้พริกชี้ฟ้าไม่ใช่พริกขี้หนู นอกจากนี้ต้มยำกุ้งยังเสริมรส “หวาน” จากตัวกุ้งและน้ำต้มกุ้ง รวมถึงรส “ขม” เล็กน้อยจากสมุนไพร
7.เมนูสุขภาพ : ต้มยำกุ้งเป็นหนึ่งในเมนูสุขภาพเพราะเป็นที่รวมของสมุนไพรหลายชนิดที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ขณะที่ตัวกุ้งนั้นก็อุดมไปด้วย แร่ธาตุ โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต
8.มรดกภูมิปัญญาไทย : ต้มยำกุ้ง ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อปี พ.ศ. 2554 ในสาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ประเภทอาหารและโภชนาการ
โดย ต้มยำกุ้ง เป็นมรดกภูมิปัญญาฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย ที่มีความเรียบง่าย มีสุขภาวะทั้งกายและใจที่แข็งแรง รู้จักการพึ่งพาตนเองด้วยวิธีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็น “กับข้าว” ที่คนในชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำในพื้นที่ภาคกลาง นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นอาหารเพื่อสุขภาพอันอร่อยลิ้นชวนกินไปทั่วโลก
9.อาหารหนึ่งเดียว : ต้มยำกุ้ง เป็น มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (ปี 2567) เป็นลำดับที่ 5 ของไทย ต่อจาก โขน (2561) นวดไทย (2562) โนรา (2564) และสงกรานต์ (2566)
อย่างไรก็ดีปัจจุบันต้มยำกุ้งถือเป็นอาหารรายการแรกเพียงหนึ่งเดียวของไทย ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากยูเนสโก
10.Soft Power เมนูต้องชิม : หลังต้มยำกุ้งได้รับเลือกเป็นมรดกวัฒนธรรมฯ จากยูเนสโก นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ได้เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม มีแนวทางในการขับเคลื่อน Soft power ด้านอาหาร โดยใช้เศรษฐกิจทางวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ อาทิ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร เกม รายการโทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์ ให้สอดแทรกเนื้อหา ต้มยำกุ้ง เพื่อสร้างกระแสความนิยมในวงกว้าง และบูรณาการกับภาคธุรกิจ-การท่องเที่ยว ในการนำ ต้มยำกุ้ง เป็นเมนูหลัก เมนูอาหารต้องชิม เมื่อมาเที่ยวเมืองไทย บรรจุลงในโปรแกรมการท่องเที่ยว และเป็นเมนูอาหารที่ต้องระบุไว้ในรายการอาหารขึ้นโต๊ะผู้นำ รวมทั้งผู้เข้าร่วมในการประชุมที่จัดในประเทศไทย หรือที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ตลอดจนเชิญชวนให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวและการบริการ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร่วมจัดแคมเปญพิเศษในการส่งเสริมการขาย เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายเมนูต้มยำกุ้ง และยังเป็นการสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าและสาระของเมนูต้มยำกุ้งไป สู่ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติอีกด้วย
และนี่ก็คือเรื่องราวบางส่วนของต้มยำกุ้งที่วันนี้เป็นมากกว่าอาหารเมนูเด็ด แต่ต้มยำกุ้งเป็นหนึ่งใน Soft Power ด้านอาหารที่แสดงอัตลักษณ์แห่งวิถีวัฒนธรรมไทยออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก
##############################
***หมายเหตุ ข้อมูลส่วนหนึ่งอ้างอิงจากเพจ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
นอกจากต้มยำกุ้งแล้ว “เคบายา” เครื่องแต่งกายของชาวบ่าบ๋า หรือ เพอรานากัน ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทย ที่มีความประณีต งดงาม สะท้อนถึงประวัติศาสตร์และประเพณีที่มีร่วมกันของผู้คน และเชื่อมโยงชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ก็เป็นอีกหนึ่งรายการที่ยูเนสโก ประการรับรองขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ร่วมกันของ 5 ประเทศในอาเซียน บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย
ในโอกาสที่น่ายินดีนี้ทางกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงกำหนดจัดงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในวันที่ 6-8 ธ.ค. 67 ณ Quartier Avenue ชั้น G ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์
ภายในงานมีการแสดงแฟชั่นโชว์ชุดเคบายา การสาธิตการทำต้มยำกุ้ง โดยเชฟตุ๊กตา (ร้านบ้านยี่สาร) หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย พร้อมได้ชิมต้มยำกุ้งฟรี ชมนิทรรศการ “ต้มยำกุ้ง” และนิทรรศการ/สาธิตการปักชุด “เคบายา” การแสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม โดยมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ธ.ค.67 เวลา 18.00 น.