xs
xsm
sm
md
lg

ไหว้ “พระเขี้ยวแก้ว” 1 ใน 2 องค์บนโลก ที่ท้องสนามหลวง มงคลสูงล้นเหมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


รัฐบาลอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากประเทศจีนมาประดิษฐานชั่วคราวที่ประเทศไทย ให้ประชาชนสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล (ภาพ : เพจ กระทรวงวัฒนธรรม)
รัฐบาลเชิญชวนสักการะ “พระเขี้ยวแก้ว” 1 ใน 2 องค์บนโลก ที่ท้องสนามหลวง กทม. ตั้งแต่ 5 ธ.ค.67-14 ก.พ.68 เสริมสิริมงคลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเชื่อกันว่าหากใครได้สักการะจะได้รับอานิสงส์สูงล้นเปรียบเสมือนการได้เข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี 2568 รัฐบาลไทยได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ “พระเขี้ยวแก้ว” จากวัดหลิงกวง ประเทศจีน มาประดิษฐานที่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ให้ประชาชนได้กราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร

พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย แห่งวัดหลิงกวง ประเทศจีน (ภาพ : เพจ กระทรวงวัฒนธรรม)
สำหรับพระบรมสารีริกธาตุ “พระเขี้ยวแก้ว” หรือ “พระธาตุเขี้ยวแก้ว” หรือ “พระทาฐธาตุ” คือ พระทันตธาตุส่วนที่เป็น “เขี้ยว” ของพระพุทธเจ้า จัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย องค์มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น ซึ่งตามตำนานพระเขี้ยวแก้ว จากพระไตรปิฎกภาษาบาลี ได้กล่าวถึงมหาปุริสลักขณะ 32 ประการ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง ลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของบุคคลผู้มีลักษณะแห่งมหาบุรุษว่า “เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์”

พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย แห่งวัดหลิงกวง ประเทศจีน (ภาพ : เพจ กระทรวงวัฒนธรรม)
จากตำนานนี้จึงทำให้เชื่อกันว่าพระเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด 4 องค์ ได้แก่

-พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา
ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ จุฬามณีเจดีย์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

-พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา
ประดิษฐานที่แคว้นกาลิงคะ (บางตำราเรียก กลิงครัฐ) เดิมประดิษฐานที่แคว้นกลิงคะ แล้วจึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกาทวีป (ประเทศศรีลังกา) ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ “วัดพระเขี้ยวแก้ว” (Tooth Relic) เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา

เจดีย์ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ที่วัดหลิงกวง (ภาพ : เพจ กระทรวงวัฒนธรรม)
-พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย เดิมประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ ต่อมาถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน (ปัจจุบันคือซีอาน) ประเทศจีน โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบันพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดหลิงกวง” กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

-พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค


มณฑปพระเขี้ยวแก้ว ที่ท้องสนามหลวง (ภาพ : เพจ พิกุลบรรณศาลา)
จากตำนานพระเขี้ยวแก้ว จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีพระเขี้ยวแก้วเพียง 2 องค์บนโลกมนุษย์เท่านั้น คือ “พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา” ประเทศศรีลังกา และ “พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย” ประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เคยอนุญาตให้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้ายไปประดิษฐานยังประเทศต่าง ๆ รวม 6 ครั้ง

โดยเมื่อปี พ.ศ.2545 พระเขี้ยวแก้วองค์นี้เคยถูกอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวครั้งแรกในประเทศไทย ที่ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา 5 ธันวาคม 2545

มณฑปพระเขี้ยวแก้ว ที่ท้องสนามหลวง (ภาพ : เพจ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม)
และล่าสุดรัฐบาลได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วองค์นี้มาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวอีกครั้ง ให้ประชาชนได้กราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากประเทศจีนมาถึงประเทศไทย ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เมื่อมาถึงได้มีการจัดพิธีทางศาสนา และอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 โดยมีการจัดริ้วขบวนอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์สู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงอย่างยิ่งใหญ่สวยงาม ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป (สามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ทาง NBT2HD)

มณฑปพระเขี้ยวแก้ว ที่ท้องสนามหลวง (ภาพ : เพจ พิกุลบรรณศาลา)
จากนั้นวันที่ 5 ธันวาคม 2567- 14 กุมภาพันธ์ 2568 ประชาชนสามารถเข้ากราบสักการะองค์พระเขี้ยวแก้วได้ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในระหว่าง เวลา 07.00 - 20.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมดอกไม้สักการะ (ประชาชนไม่ต้องนำมาเอง) และมีโปสการ์ดพร้อมบทสวดบูชาพระเขี้ยวแก้วมอบให้ ซึ่งผู้ที่จะเข้าสักการะองค์พระเขี้ยวแก้วต้องนำบัตรประชาชนแสดงเพื่อยืนยันตัวตน

หลังจากนั้นจึงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วกลับคืนประเทศจีน ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ต่อไป

มณฑปพระเขี้ยวแก้ว ที่ท้องสนามหลวง (ภาพ : เพจ พิกุลบรรณศาลา)
นอกจากนี้ทางรัฐบาลยังมีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง อาทิ

-นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่แบ่งเป็น 5 โซน ได้แก่

โซนที่ 1 “ดับขันธปรินิพพาน มกุฎพันธนเจดียสถาน”
นำเสนอเรื่องราวพุทธประวัติในการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จปรินิพพาน โดยเน้นในช่วงพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
โซนที่ 2 “พุทธะบารมีพระสรีระธาตุ” นำเสนอเรื่องราวประวัติของพระสรีระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก
โซนที่ 3 “พระเขี้ยวแก้ว” นำเสนอเรื่องราวประวัติ ความสำคัญ และความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)
โซนที่ 4 “ใต้ร่มเศวตฉัตร ทศมรัช พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยที่ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกและมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา สืบสานราชประเพณีสืบเนื่องมาจนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
โซนที่ 5 “ความสัมพันธ์ ไทย-จีน” นำเสนอเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญที่สร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนในด้านต่าง ๆ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ส่งเสริมคำว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

มณฑปพระเขี้ยวแก้ว ศิลปะไทย-จีน (ภาพ : เพจ พิกุลบรรณศาลา)
-พิธีเจริญพระพุทธมนต์ช่วงเช้า เวลา 10.00 น. – 12.00 น. และช่วงเย็น เวลา 15.30 น. เป็นต้นไป
-พิธีเจริญจิตตภาวนา ในทุกวันพระมีพิธีแสดงธรรมเทศนา 1 กันต์ (ในภาคเช้า)
-กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 31 ธ.ค. 2567
-กิจกรรมทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ 1 ม.ค. 2568
-กิจกรรมวันตรุษจีน วันที่ 29 ม.ค. 2568
-กิจกรรมวันมาฆบูชา วันที่ 12 ก.พ. 2568
และการตกแต่งสวนประดับดอกไม้ และการประดับไฟหลากสีสันอย่างสวยงามในยามค่ำคืนที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ซ้อมใหญ่ริ้วขบวนอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว (ภาพ : เพจ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม)
สำหรับอานิสงส์ของการสักการะพระเขี้ยวแก้วนั้น “พระพรหมบัณฑิต” กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส หัวหน้าคณะสงฆ์ไทยในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า

“พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ที่จะอัญเชิญมาจากวัดหลิงกวงนั้นเป็นพระเขี้ยวแก้ว 1 ใน 2 องค์ที่มีอยู่บนโลกมนุษย์ตามตำนานความเชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเคารพบูชาแทนองค์พระพุทธเจ้า เมื่อเราได้กราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุก็เปรียบเสมือนเราได้กราบแทบเบื้องพระยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอานิสงค์อันยิ่งใหญ่มหาศาล ดั่งมีการบันทึกในพระไตรปิฎกว่า ไม่ว่าพระพุทธองค์จะดำรงค์พระชนม์ชีพอยู่หรือนิพพานไปแล้ว หากเราบูชาพระองค์ด้วยจิตที่เลื่อมใสศรัทธาเสมอกัน ผลแห่งการบูชาย่อมเสมอเหมือนกัน”

อนึ่งแม้องค์พระบรมสารีริกธาตุจะมิใช่สภาวธรรมที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา แต่ก็เป็นเครื่องชี้ทางและสะพานให้พุทธศาสนิกชนเดินหน้าไปสู่เป้าหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาได้ ถือเป็นดังสัญลักษณ์แห่งพระปัญญาตรัสรู้แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า


###############################


ขสมก. จัดเดินรถโดยสารธรรมดาให้บริการประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระเขี้ยวแก้วที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง (ภาพ : เพจ พระลาน)

ขสมก. จัดเดินรถโดยสารธรรมดาให้บริการประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระเขี้ยวแก้วที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง (ภาพ : เพจ พระลาน)

ขสมก. จัดเดินรถโดยสารธรรมดาให้บริการประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระเขี้ยวแก้วที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง  (ภาพ : เพจ พระลาน)

กรมเจ้าท่า จัดเรือข้ามฟากอำนวยความสะดวกประชาชน ที่เดินทางมาสักการะพระเขี้ยวแก้วที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง (ภาพ : เพจ พระลาน)




กำลังโหลดความคิดเห็น