xs
xsm
sm
md
lg

เยือน “สุพรรณบุรี” เมืองแห่งเสียงเพลง มรดกทางดนตรีที่ยิ่งใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุพรรณบุรี ไม่เป็นเพียงจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและธรรมชาติอันงดงาม แต่ยังเป็น “เมืองสร้างสรรค์ดนตรี” แห่งแรกของประเทศไทย ตามการประกาศขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ด้วยความเป็นบ้านเกิดของศิลปินเพลงลูกทุ่งชื่อดังระดับตำนานอย่าง สุรพล สมบัติเจริญ และ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ทำให้สุพรรณบุรีกลายเป็นเมืองที่เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจและมรดกทางดนตรีที่ทรงคุณค่า

ความเป็นมาของสุพรรณบุรีในฐานะเมืองดนตรีนั้นมีรากฐานมาจากวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นที่ผูกพันกับเสียงเพลงมาช้านาน ดนตรีพื้นบ้านกล่อมเกลาชีวิตประจำวัน การแสดงดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของงานบุญและเทศกาลต่างๆ ทำให้ดนตรีกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน


ความโดดเด่นในด้านดนตรีในสุพรรณบุรีมีหลากหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีไทย เพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต และดนตรีสมัยใหม่ ศิลปินจากสุพรรณบุรีหลายคนประสบความสำเร็จในระดับประเทศ และสร้างสรรค์ผลงานเพลงที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรีหน่วยงานและภาคีเครือข่าย ได้เข้ามาขับเคลื่อนสุพรรณบุรีเมืองสร้างสรรค์ดนตรีขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) แห่งแรกของไทย


เรื่องราวด้านดนตรีของสุพรรณบุรีได้มีการรวบรวมและจัดแสดงอยู่ในส่วนหนึ่งของ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสุพรรณบุรี” สถานที่รวบรวมเรื่องราวที่จะทำให้เราได้รู้จักสุพรรณบุรีมากยิ่งขึ้น ที่นี่เป็นการจัดแสดงนิทรรศการแบบถาวร โดยผสมผสานระหว่างการจัดแสดงโบราณวัตถุและสื่อประเภทต่างๆ อย่างหุ่นจำลอง สื่อวิดีโอ ดนตรี เป็นต้น เพื่อให้การเข้าชมครบรสและได้ความรู้

เริ่มที่ชั้น 1 แบ่งเป็น 3 ห้อง ได้แก่ ห้องเมืองสุพรรณ จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญ อาทิ ศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช จารึกลานทอง สมัยอยุธยา พบที่วัดส่องคบ จ.ชัยนาทและหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ที่กล่าวถึงสุพรรณบุรีในอดีต เป็นต้น และโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีและโบราณสถาน ในจังหวัด อาทิ หม้อสาขา หม้อมีนม และเครื่องปั้นดินเผาในแบบต่างๆ


ต่อมายังห้องเมืองยุทธหัตถี ที่ได้ทำหุ่นจำลองและการฉายวิดีโอ การทำสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระมหาอุปราชา ปี 2135 และห้องคนสุพรรณ เป็นห้องที่ทำให้รู้สึกทั้งขนลุกและสัมผัสได้ถึงความมีชีวิตชีวาของเรื่องราวกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในสุพรรณ เพราะห้องนี้จะทำการจำลองบ้านเรือนที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชาติพันธุ์และทำหุ่นจำลองรูปพรรณสัณฐานด้วย มีทั้งไทยกะเหรี่ยง ไทยญวน ไทยพวน ไทยจีน ไทยเขมร ไทยทรงดำ ลาวครั่ง ไทยเวียง

ขึ้นมาชั้น 2 ประกอบด้วย ห้องบุคคลสำคัญ อาทิ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 ( ปุ่น ปุณณสิริ) พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ) เป็นต้น ส่วนห้องศาสนศิลป์สุพรรณบุรี จัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ มีไฮไลต์ คือ พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะลพบุรี สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 รูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะลพบุรี สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 และยังมีพระพิมพ์ถ้ำเสือ พระพิมพ์สมัยลพบุรี พระพิมพ์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เดินเชื่อมไปยังห้องเตาเผาบ้านบางปูน แหล่งค้นพบภาชนะดินเผาที่มีลวดลายลงบนภาชนะ ที่ห้องวรรณกรรมเมืองสุพรรณ สัมผัสที่มาของวรรณกรรมยอดฮิตเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน และโคลงนิราศสุพรรณ ประพันธ์โดยสุนทรภู่


มาถึงห้องเพลงพื้นบ้านเมืองสุพรรณ ที่จะสะท้อนภาพได้ชัดเจนของการเมืองแห่งดนตรี โดยภายในห้องจะมีการจัดแสดงเรื่องประวัติของศิลปินลูกทุ่งชาวสุพรรณทั้งพุ่มพวง ดวงจันทร์, สายัณห์ สัญญา, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ศรเพชร ศรสุพรรณ, สุรพล สมบัติเจริญ, ก้าน แก้วสุพรรณ ซึ่งการจัดแสดงแผ่นเสียง เทป ซีดี ของเหล่าศิลปิน และที่ยังมีหูฟังให้ฟังเพลงของศิลปินดื่มด่ำไปเสียงขับร้องอันทรงพลังอีกด้วย ส่วนห้องสุพรรณวันนี้ ได้จัดแสดงการพัฒนาเมืองสุพรรณที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม อาหาร และแหล่งท่องเที่ยวมากมาย


จากนั้นมาที่ “วัดประตูสาร” โดยไฮไลต์ของวัดแห่งนี้คือ ภาพจิตรกรรมฝาพนังที่ได้บอกเรื่องราวในอดีตของเมืองสุพรรณที่มีความผูกพันธ์ด้านดนตรี โดยเฉพาะปี่พาทย์ ซึ่งในภาพเขียนจะเป็นการตั้งวงล้อมเล่นดนตรีเครื่องสาย และภาพการละเล่นเต้นรำ วาดขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ ในปี 2397 และยังเป็นจุดกำเนิดของเพลงค้างคาวกินกล้วย ของมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นศิลปินที่เกิดและเติบโตที่จังหวัดสุพรรณบุรี






และในย่านวัดประตูสารยังมีวงปี่พาทย์ที่มีชื่อเสียง อย่าง วงประคองศิลป์ สุพรรณบุรี โดยมีผู้ก่อตั้งคือ “ครูประคอง วิสุทธิวงษ์” ผู้มีแนวคิดในการสร้างระนาดมอญขึ้นมาใช้สำหรับวงปี่พาทย์มอญ ซึ่งรางระนาดมอญ เป็นรางและต่อหัวและท้าย คล้ายๆ กับข้องมอญเป็นรูปหงส์ ด้านหัวทำเป็นรูปหงส์ ด้านท้ายทำเป็นหางหงส์เหมือนกับเรือสุพรรณหงส์ ปัจจุบันยังใช้บรรเลงขับกล่อมตามงานทั่วไป ซึ่งเป็นสมบัติของปี่พาทย์มอญคณะประคองศิลป์ที่ได้สืบถอดต่อโดยธนู วิสุทธิวงษ์ เจ้าของคณะประคองศิลป์




ในช่วงเช้าชวนมา “ตักบาตรนาวาภิกขาจาร” ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วย บริเวณวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร โดยเป็นการใส่บาตรทางน้ำ มีการจัดขบวนพระสงฆ์ เรือลำแรกจะเป็นเรือสำหรับองค์พระพุทธรูปตามมาด้วยเรือของพระสงฆ์ 8 ลำ บรรยากาศยามการใส่บาตรของที่นี่ถูกขับกล่อมไปด้วยการบรรเลงดนตรีจิตอาสาจังหวะสนุกสนาน มีเสียงขับกลอนประกอบเข้าจังหวะ และการแสดงเพลงพื้นบ้าน สร้างสีสันยามเช้าให้คึกคักมีชีตชีวามากขึ้น








ปิดท้ายที่ “บ้านดนตรี by ครูเอียด” โดยมี “ครูเอียด กณวรรธน์ สุทธิประภา” ผู้เป็นเจ้าของและศรัทธาในการต่อยอดดนตรีไทยจากธุรกิจขายเครื่องดนตรีไทยของครอบครัว ทำให้คลุคลีเรียนรู้เรื่องดนตรีไทยจนชำนาญ และเป็นเครือข่ายที่ร่วมผลักดันให้สุพรรณได้เป็นเมืองแห่งดนตรีจากองค์การยูเนสโก้อีกด้วย

ครูเอียดได้เปิดบ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ดนตรีไทยสำหรับเด็กและเยาวชนที่สนใจเรียน ซึ่งมีนักเรียนกว่า 80 คน แต่ละคนก็จะถูกบ่มเพาะให้รู้การเล่นดนตรีไทย ส่วนประกอบของดนตรี ที่จะกลายเป็นความสามารถและมีใจในการสืบถอด และที่นี่ยังเปิดเป็นตลาดขนาดเล็กๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ปกครองได้พักผ่อนท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น เลือกช้อปสินค้าสไตล์พื้นบ้าน ขายทั้งของกินและของฝาก โดยจะเปิดทุกวันเสาร์ต้นเดือน


“สุพรรณบุรี” เป็นมากกว่าเมืองแห่งเสียงเพลง แต่ยังเป็นเมืองแห่งแรงบันดาลใจและความสร้างสรรค์ การได้มาเยือนสุพรรณบุรี จะทำให้คุณได้สัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของดนตรีไทย และเข้าใจถึงความสำคัญของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น