xs
xsm
sm
md
lg

วันเดย์ทริป นั่งรถไฟเที่ยว “ประจันตคาม” เมืองน่ารักแห่งปราจีนบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประจันตคาม” อำเภอหนึ่งของจังหวัดปราจีนบุรี เป็นเมืองเก่ามาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นับว่ามีเสน่ห์ชวนให้ผู้มาเยือนได้ลองมาค้นหา เพราะมีความน่าสนใจทั้งด้านประวัติศาสตร์ สายมูและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ วัดสวยแปลกตา การเป็นเมืองแห่งน้ำตก รวมทั้งผู้คนที่มีความเป็นมิตร

ชวนมารู้จัก “เมืองประจันตคาม” ในรูปแบบการท่องเที่ยววันเดย์ทริป

KIHA 183 ณ สถานีรถไฟประจันตคาม
นั่งรถไฟไปประจันตคาม
หากนับระยะตามเส้นทางรถไฟสายตะวันออก อ.ประจันตคาม ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 137 กิโลเมตร เท่านั้น สามารถเดินทางไปเที่ยวด้วยรถไฟได้แบบเดย์ทริป ใช้บริการรถไฟชานเมืองสายตะวันออกได้ทุกวัน ทั้งที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง), บางซื่อ, ลาดกระบัง ฯลฯ จากนั้นเหมารถตุ๊กๆในท้องถิ่น เพื่อนำเที่ยวสถานที่สำคัญต่างๆในเมืองได้

นอกจากนี้ ในบางโอกาส “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ยังจัดทริปรถไฟขบวนพิเศษด้วยหนึ่งในรถไฟนำเที่ยวขวัญใจมหาชนอย่าง “รถไฟ KIHA 183” ซึ่งจัดเต็มทั้งกิจกรรมนำเที่ยว พร้อมบริการอาหาร เครื่องดื่ม อิ่มไปทั้งวัน แบบวันเดย์ทริป โดยกิจกรรมท่องเที่ยวด้วยรถไฟขบวนพิเศษ มีการสลับปรับเปลี่ยนโปรแกรมไปในแต่ละเดือน

อัปเดตข้อมูลรถไฟนำเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ https://www.railway.co.th หรือ โทร.1690

 ตลาดเทศบาลยามเช้า
สำรวจครัวยามเช้า
หากเดินทางมาถึงประจันตคามตั้งแต่เช้า แนะนำให้ลองเตร็ดเตร่ไปสำรวจบรรยากาศวิถีชีวิตซึ่งมีเสน่ห์แบบไม่ต้องปรุงแต่งใดๆที่ “ตลาดสดเทศบาลประจันตคาม” ตลาดเก่าแก่แหล่งค้าขายยามเช้าที่ละลานตาไปด้วยของอร่อย อาหารคาวหวาน และของฝาก

ตลาดแห่งนี้ เสมือนครัวยามเช้าของชาวเมือง ขายตั้งแต่ก่อนรุ่งสางไปจนถึงช่วงสายๆ เดินเท้าไปจากสถานีรถไฟได้ไม่กี่ร้อยเมตร ซึ่งนอกจากได้บรรยากาศตลาดแบบต่างจังหวัดที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นแล้ว ยังมีจุดเด่นเป็นรอยยิ้มของพ่อค้าแม่ค้าที่ทักทายผู้มาเยือนด้วยมิตรไมตรี

วัดแจ้ง (เมืองเก่า)
วัดแจ้ง (เมืองเก่า) วัดประวัติศาสตร์ของเมือง
วัดแห่งแรกของอำเภอประจันตคาม เป็นวัดที่มีส่วนสำคัญเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของไทย กล่าวคือ ตามหลักฐานจารึกในปี พ.ศ.2369 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏ ยกทัพมาตีนครราชสีมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพยกไปตีเวียงจันทน์ปราบกบฏ

เมื่อตีได้แล้วก็อพยพครอบครัวบางส่วนจากเวียงจันทน์เข้ามายังสยาม ในจำนวนแม่ทัพนายกองที่เข้ามานั้น มี “ท้าวอุเทน” บุตรท้าวสร้อย ซึ่งเป็นแม่ทัพที่คอยควบคุมดูแลเมืองแสนของเวียงจันทน์อยู่ด้วย ท้าวอุเทนได้นำไพร่พลที่ถูกอพยพมาตั้งกองรวมกันเป็นหมู่บ้านใหญ่ในพื้นที่อำเภอประจันตคาม ซึ่งเป็นบริเวณวัดแจ้งในปัจจุบันนั่นเอง โดยท้าวอุเทนนิมนต์ “หลวงพ่อคำหล้า” ภิกษุที่นับถือมาด้วย เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณวัด ก็เป็นเวลาสว่างพอดี จึงเป็นที่มาของชื่อ “วัดแจ้ง”

ต่อมาเมืองประจันตคาม สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2376 โดยมีท้าวอุเทน เป็นเจ้าเมืองคนแรกได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงภักดีเดชะ” ว่าราชการได้สองปีเศษ เกิดศึกญวนมาตีกรุงพนมเปญซึ่งเป็นเมืองขึ้นของสยามในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพ พร้อมทั้งเกณฑ์ไพร่พลจากประจันตคาม พนัสนิคม และกบินทร์บุรี รวมกันเป็นกองทัพหน้า ยกไปสู้รบข้าศึกญวนอยู่ประมาณ 3 ปีเศษ จึงขับไล่ญวนออกไป

เจ้าเมืองทั้งสามผู้ร่วมรบ มีความชอบในราชการ เมื่อกลับมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระ” ในนามเดิมทั้ง 3 ท่าน เจ้าเมืองประจันตคามจึงเป็น “พระภักดีเดชะ” (ท้าวอุเทน)

 รูปเคารพพระภักดีเดชะ(ท้าวอุเทน)
ต่อมาอีกประมาณ 1 ปี ญวนได้หวนกลับมาตีเมืองพนมเปญอีกครั้ง พระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน) ได้นำกำลังชาวเมืองประจันตคามเข้ากองทัพร่วมกับเจ้าเมืองกบินทร์บุรี โดยในการไปราชการทัพครั้งนี้ พระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน) ได้นำกำลังพลเข้ารบกับข้าศึกจนสุดความสามารถข้าศึกญวนล้มตายเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นการศึกครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์แห่งการสู้รบ แต่ในที่สุด ด้วยการรบอย่างอาจหาญ พระภักดีเดชะได้เสียชีวิตในสนามรบ

แม้กาลเวลาผ่านมานับร้อยปีชาวประจันตคามยังกล่าวถึงและเคารพสักการะพระภักดีเดชะไม่เสื่อมคลาย ในฐานะที่ท่านได้เป็นผู้ก่อตั้งเมือง และเป็นผู้ประกอบกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง ปัจจุบันศพพระภักดีเดชะฝังอยู่ที่วัดแจ้ง และมีรูปเคารพของท่านประดิษฐานอยู่ภายในวัด

วัดแจ้ง (เมืองเก่า) ยังมีสถานที่สำคัญอีกเป็นจำนวนมาก เช่น หอประชุมหอวชิราลงกรณ์ ในการมานมัสการสักการระพระบรมสารีริกธาตุ ,สถานที่ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ เคยเสด็จมาประทับ รวม 2 ครั้ง ในสมัยที่พระองค์ทรงเป็นพระสยามมกุฎราชกุมาร, พิพิธภัณฑ์บูรพาจารย์ 4 ภาค ที่รวบรวมหุ่นขี้ผึ้งพระอริยสงฆ์ทั้งหมดของปราจีนบุรี เป็นต้น

ท้าวเวสสุวรรณ ที่วัดแจ้ง (เมืองเก่า)
ท้าวเวสสุวรรณใหญ่ระดับประเทศ
อีกหนึ่งไฮไลต์ของ วัดแจ้ง (เมืองเก่า) ในปัจจุบัน คือ รูปปั้น “ท้าวเวสสุวรรณ” ซึ่งปั้นในรูปแบบยักษ์ไทย มีความวิจิตรสีทองอร่าม และมีความสูง 18 เมตร นับเป็นหนึ่งในองค์ท้าวเวสสุวรรณที่สูงใหญ่ระดับประเทศ สร้างโดยนิมิตจากเจ้าอาวาส และมีเหตุฟ้าผ่าลงมาที่แผ่นศิลาฤกษ์

ท้าวเวสสุวรรณ ที่วัดแจ้ง (เมืองเก่า)
“ท้าวเวสสุวรรณ” องค์นี้ประดิษฐานบริเวณลานกลางแจ้งด้านหลังวัด ผู้คนมักบูชาขอพรเรื่องโชคลาภหน้าที่การงาน และเรื่องค้าขายที่ดิน โดยบูชาด้วยดอกกุหลาบแดง 9 ดอก ธูป 9 ดอก เทียน และน้ำแดง

 วัดโคกอู่ทอง
วัดโคกอู่ทอง วัดไทยมณฑปสไตล์เรอเนสซองส์
หนึ่งในอันซีนประจันตคาม ต้องเดินทางไปที่ “วัดโคกอู่ทอง” ซึ่งเดิมเป็นวัดที่จำพรรษาของ “หลวงพ่อโสฬส ยโสธโร” พระเกจิอาจารย์ชื่อดังสายเครื่องรางของขลังที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย จนกระทั่งท่านมรณภาพไปแล้วสรีระสังขารก็ไม่เน่าเปื่อย ถูกเก็บรักษาไว้ในโลงแก้วภายในมหามณฑปที่วิจิตรตระการตาอันโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์เรอเนสซองส์แบบตะวันตก

มณฑปสไตล์เรอเนสซองส์
มหามณฑปพระครูธำรงโพธิเขต (โสฬส ยโสธโร) มีความงดงามแบบโบสถ์ขนาดใหญ่ในตะวันตกคล้ายศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ แต่ยังมีกลิ่นอายของศาสนาพุทธผสมผสานอย่างลงตัว โดยภายในใช้หลักออกแบบโครงสร้างเป็นศูนย์รวมพลังจักรวาล “หยิน-หยาง” เชื่อมโยงกับหลักอิทธิบาทสี่ของพุทธศาสนา

ภายในมหามณฑปพระครูธำรงโพธิเขต
ด้านหน้ามหามณฑป มีรูปหล่อองค์หลวงปู่โสฬสประดิษฐานให้ผู้มาเยือนได้สักการะ ส่วนภายในนั้นอลังการคล้ายมหาวิหารตะวันตก แต่ตกแต่งประยุกต์เป็นแนวพุทธศาสนา เช่น กระจกสีที่เป็นรูปเหรียญรุ่นต่างๆของหลวงพ่อโสฬส โดยสิ่งสำคัญที่สุด คือ สรีระสังขารของ “หลวงพ่อโสฬส ยโสธโร” ที่รักษาไว้

สรีระสังขารของ “หลวงพ่อโสฬส ยโสธโร”

ความงดงามไทยผสมตะวันตก
ภายในมหามณฑล ยังมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กับ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ ประดับตกแต่งสวยงามให้นักท่องเที่ยวได้สักการะ

พระบรมรูป รัชกาลที่ ๕

พระบรมรูป รัชกาลที่ ๙
เติมความสดชื่นที่ “น้ำตกสาวน้อย -แก่งคลองช้างคลาน”
กล่าวกันว่าประจันตคามเป็นอำเภอที่มีน้ำตกมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีน้ำตกเล็ก น้ำตกน้อย เป็นสายน้ำที่แตกแขนงสาขามาจากผืนป่ามรดกโลกเขาใหญ่ จึงนับเป็นจุดหมายที่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติให้พักผ่อนหย่อนใจ เหมาะแก่การเที่ยวปิดท้ายเดย์ทริป หรือหากใครมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ก็อาจจะแค่แวะมารับประทานอาหาร ฟังเสียงสายน้ำธรรมชาติไหลรินบริเวณริมน้ำตกก็ได้

หนึ่งในน้ำตกที่อยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมต่อจากวัดโคกอู่ทองไม่ไกล แนะนำ “น้ำตกสาวน้อย” ธารน้ำขนาดพอดีๆ ที่เหมาะแก่การพักผ่อน เล่นน้ำ เช็กอินถ่ายรูป หรืออยากเพิ่มความครึกครื้นอีกสักนิด ก็เดินมาบริเวณที่เรียกว่า “แก่งคลองช้างคลาน” ซึ่งเป็นสายน้ำเชื่อมต่อกันมา และเป็นจุดเล่นน้ำที่ปลอดภัย มีอุปกรณ์ต่างๆให้เช่า เป็นจุดที่มีร้านค้าร้านอาหารครบครัน จึงเป็นที่นิยมจากทั้งชาวท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว

ธรรมชาติบริเวณน้ำตกสาวน้อย
สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยว “อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี”
ททท.สำนักงานนครนายก เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/tatnayokfans

แก่งคลองช้างคลาน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น