xs
xsm
sm
md
lg

มูให้ครบทั้ง 3 วัด สักการะ "ซำปอกง" พระพุทธรูปเชื้อสายจีนในวัดไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากพูดถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จีนในวัดไทย สำหรับคนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่คงจะคุ้นเคยกับ "ซำปอกง" เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นหนึ่งในวีรบุรุษของจีนและกลายเป็นที่เคารพนับถือของคนจีนและคนไทยทั่วไป

ตามตำนานเล่าว่า "ซำปอกง" หรือ "เจิ้งเหอ" เดิมชื่อว่า หม่า เหอ เกิดในครอบครัวชาวมุสลิมที่เมืองคุนหยาง มณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน ต่อมาในปี ค.ศ.1381 เกิดสงครามกวาดล้างกองกำลังมองโกลที่ปักหลักอยู่ในแถบยูนนาน ท่ามกลางความวุ่นวายของสงคราม หม่า เหอ วัย11 ปี ได้ตกเป็นเชลยศึก และถูกส่งตัวเข้ามาเป็นขันทีเพื่อทำงานรับใช้ในกองทัพ

หม่า เหอ ติดตามกองทัพเข้าร่วมสมรภูมิรบจนอายุได้ 19 ปี ก็ได้มารับใช้ เอี้ยนหวังจูตี้ องค์ชายสี่แห่งราชวงศ์หมิงที่ปักกิ่ง นับแต่นั้น หม่า เหอ ก็คอยติดตามอยู่ข้างกายจูตี้ จนกลายเป็นคนสนิทที่ได้รับความไว้วางใจอย่างมาก หม่า เหอได้สร้างความดีความชอบไว้มาก โดยเฉพาะการช่วยให้จูตี้ได้ก้าวขึ้นคลองบัลลังก์เป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ ในที่สุด หม่า เหอ ก็ได้รับการเลื่อนฐานะขึ้นเป็นหัวหน้าขันที และได้พระราชทานแซ่ "เจิ้ง" จึงกลายมาเป็น "เจิ้งเหอ" หรือที่รู้จักกันในนาม "ซำปอกง"

หลวงพ่อซำปอกง วัดพนัญเชิง
และเนื่องจากการที่เจิ้งเหอเป็นบุคคลที่จูตี้ให้ความไว้วางใจมากที่สุด ทั้งจากการเป็นขันที่คนสนิท และความดีความชอบในการหนุนจูตี้ขึ้นสู่บัลลังก์ จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการกองเรือขนาดใหญ่ออกเดินทางไปในมหาสมุทรอันกว้างไกล ที่เล่ากันว่านอกจากจะเป็นการเดินทางเพื่อประโยชน์ทางการค้า การเผยแพร่ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรจีนแล้ว ยังแฝงไว้นัยสำคัญทางการเมืองและการสืบราชบัลลังก์ ค้นหาร่องรอยของอดีตจักรพรรดิหมิงฮุ่ยตี้ เพื่อสร้างความมั่นคงและมั่นใจแก่ราชบัลลังก์ของจูตี้ ว่าหมิงฮุ่ยตี้จะไม่มาเป็นหอกข้างแคร่อีกต่อไป

วัดพนัญเชิง
การเดินทางออกสู่มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ของเจิ้งเหอ 7 ครั้งในรอบ 28 ปี เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว กองเรือและการเดินทางของเจิ้งเหออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์การเดินเรือของโลก นำมาซึ่งความสำเร็จทางการทูตและทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวจีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเอเชียอาคเนย์ อินเดีย และแอฟริกา แต่บันทึกเรื่องราวการเดินทางที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยตรงแทบไม่มีหลงเหลืออยู่เลย ความรุ่งเรืองทางทะเลของจีนก็จบสิ้นลงพร้อมกับการจากไปของเจิ้งเหอผู้ยิ่งใหญ่

จากตำนานที่เล่าขานกันมาหลายร้อยปีกลายมาเป็นซำปอกง หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม "หลวงพ่อโต" ที่เป็นที่เคารพสักการบูชาของทั้งคนจีน คนไทย และคนไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศไทย ซึ่งในสยามประเทศมีซำปอกงองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่เพียง 3 วัดเท่านั้น โดยผู้ที่ไปกราบไหว้สักการบูชาซำปอกงส่วนใหญ่นอกจากจะกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ยังนิยมไปกราบไหว้เพื่อให้รุ่งเรืองทางด้านการค้าพาณิชย์ มีโชคลาภ และประสบแต่โชคดีในการเดินทาง

หลวงพ่อซำปอกง วัดพนัญเชิง
สำหรับซำปอกงที่โด่งดังองค์แรกนั้นอยู่ที่ วัดพนัญเชิงวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่มีมาแต่โบราณก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ตามหนังสือพงศาวดารเหนือได้กล่าวไว้ว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์ไทยก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้สร้างวัดและหลวงพ่อโต(ซำปอกง)เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระมเหสีพระนางสร้อยดอกหมาก

หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหน้าตักกว้างประมาณ 20 เมตร สูงประมาณ 19 เมตร ถือเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ชาวกรุงเก่าให้ความเคารพนับถือมาช้านานหลายร้อยปี เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโตนั้นต่างร่ำลือไกล โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เมืองกรุงเก่าได้เกิดโรคอหิวาตกโรคขึ้น ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากจนวัดไม่มีที่จะเผาศพ ชาวบ้านจึงได้ไปขอให้หลวงพ่อโตช่วยเมตตารักษาโรคภัย พร้อมกับนำน้ำมนต์กับขี้ธูปบนพื้นวิหารไปทาตัว ไปอาบ ไปกินเพื่อป้องกันโรค ปรากฏว่าหายจากโรคจริงๆ ซึ่งจากความเชื่อและเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อโตโด่งดังไปทั่วทุกสารทิศ

ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
ครั้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "พระพุทธไตรรัตนนายก" จากนั้นเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเครื่องบินพยายามจะทิ้งระเบิดสะพานปรีดีธำรง แต่แล้วก็ทำไม่สำเร็จเพราะระเบิดที่ทิ้งลงมากลับไม่ระเบิด โดยมีคนเล่าว่าในคืนที่เครื่องบินมาทิ้งระเบิด เป็นคืนข้างขึ้นค่อนข้างสว่าง ทันทีที่เครื่องบินทิ้งระเบิดลงมาก็มีชายชราคนหนึ่งขี่ม้าสีขาวเหาะขึ้นไปปัดระเบิดลูกนั้นไม่ให้ถูกสะพาน เมื่อชายชราผู้นั้นปัดระเบิดหมดแล้ว ก็หายวูบตรงโบสถ์หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง พอรุ่งเช้าชาวบ้านจึงพากันไปดูหลวงพ่อโต ปรากฏว่าที่แขนขวาแตกร้าว จึงเป็นที่เล่าขานกันว่าหลวงพ่อโตช่วยปัดลูกระเบิดเพื่อช่วยชาวกรุงศรีอยุธยา ให้พ้นภัย

พระวิหารใหญ่
ปัจจุบันที่วัดพนัญเชิงมีนักท่องเที่ยวและผู้คนที่เลื่อมใสศรัทธาแวะเวียนไปนมัสการขอพรไม่ขาดสาย พร้อมทั้งยังนิยมบนบานด้วยการถวายผ้าห่มหลวงพ่อโต โดยมีวิธีการคือ ให้คนของทางวัดโยนผ้าขึ้นไปให้คนที่อยู่ที่ตัก และที่ไหล่ห่มองค์หลวงพ่อโตอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

วัดกัลยาณมิตร
จากซำปอกง วัดพนัญเชิง เมืองกรุงเก่า หันมาดูซำปอกงที่ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เขตธนบุรี ในกทม.กันบ้าง วัดนี้ถือเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สร้างโดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ หรือ โต กัลยาณมิตร ต้นสกุลกัลยาณมิตร ได้อุทิศที่ดินของตัวเองและซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อสร้างวัดนี้ขึ้น และน้อมเกล้าฯถวายแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และได้รับพระราชทานนามว่า "วัดกัลยาณมิตร"

เมื่อแรกสร้างวัด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างพระวิหารหลวง พร้อมกับโปรดให้สร้างพระโต หรือหลวงพ่อโต หรือที่คนจีนเรียกว่า ซำปอกง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 11.75 เมตร สูง 15.45 เมตร พระราชทานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง ด้วยพระราชประสงค์ให้มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ริมน้ำในกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับที่กรุงเก่า คือที่วัดพนัญเชิง

หลวงพ่อซำปอกง ที่วัดกัลยาณมิตร
หลวงพ่อโต หรือ พระพุทธไตรรัตนนายก ที่วัดกัลยาณมิตรแห่งนี้ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ถือเป็นที่เคารพสักการระของคนไทย และคนจีนในประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ ตรุษจีน และวันทิ้งกระจาด ซึ่งแต่ก่อนจะมีการสร้างเทวดากระดาษเพื่อใช้ในพิธีวันทิ้งกระจาดด้วย แต่ในปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว ส่วนพิธีห่มผ้าหลวงพ่อโตนั้นก็ได้ยกเลิกแล้วเช่นกัน เนื่องจากหลวงพ่อโต หรือซำปอกง เป็นพระพุทธรูปที่องค์ใหญ่มาก ดังนั้นการทำพิธีห่มผ้าต้องใช้คนขึ้นไปยืนบนพระพุทธรูป ซึ่งดูแล้วไม่เหมาะสม และทำให้สีของพระพุทธรูปเสียหาย ทำให้ต้องใช้งบประมาณมากในการบูรณะซ่อมแซม

แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนลดลง เพราะเรื่องของความเคารพศรัทธานั้นเป็นเรื่องของจิตใจและความเชื่อของแต่ละบุคคล มีเรื่องเล่ากันมาว่าเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินทิ้งระเบิดลงตรงวัดพอดี แต่ชาวบ้านแถวนั้นเชื่อกันว่าหลวงพ่อโตได้เอามือรับระเบิดแล้วเหวี่ยงไปที่สะพานพุทธฯ จึงทำให้คนที่มาหลบในวิหารปลอดภัย

วัดอุภัยภาติการาม
นอกจาก 2 วัดที่กล่าวมาแล้ว ที่วัดอุภัยภาติการาม อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา บนถนนศุภกิจใกล้กับตลาดจังหวัดบ้านใหม่ก็มีซำปอกงหรือหลวงพ่อโต องค์โตให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชาเช่นกัน

หลวงพ่อซำปอกง ที่วัดอุภัยภาติการาม

หลวงพ่อซำปอกง ที่วัดอุภัยภาติการาม
สำหรับวัดอุภัยฯ เดิมนั้นมีวิหารลักษณะศาลเจ้า แต่ปัจจุบันแปรสภาพเป็นวัดญวนในลัทธิมหายาน แต่ว่าก็มีชาวพุทธแวะเวียนไปกราบไหว้ ซำปอกง หรือหลวงพ่อโตกันไม่ได้ขาด โดยส่วนใหญ่ก็จะไปขอให้ทำมาค้าขึ้น กิจการรุ่งเรืองก้าวหน้า ซึ่งใครที่อยู่ใกล้กับหลวงพ่อโตในวัดไหนจังหวัดไหนก็สามารถเดินทางไปสักการะกันได้ตามจิตศรัทธา หรือใครจะไปกราบไหว้ให้ครบทั้ง 3 วัด ก็นับว่าเป็นสิริมงคลอันใหญ่หลวงทีเดียว

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น