สายมูไปเยือนเชียงใหม่ ต้องห้ามพลาด “วัดอุปคุต” วัดสำคัญที่อยู่ในตัวเมือง ที่นี่นิยมมาขอพรเรื่องโชคลาภ ความมั่งมี อุดมสมบูรณ์มีกินมีใช้ และนอกจากจะมาขอพรพระอุปคุตแล้ว ภายในวัดก็ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะอีกหลายจุด เช่น พระประธานในพระอุโบสถ หมอชีวกโกมารภัทร ท้าวเวสสุวรรณ พระพิฆเนศ เป็นต้น
ช่วงปลายปีอากาศดีๆ หลายคนมีแพลนจะขึ้นไปเที่ยวที่ “เชียงใหม่” เพราะมีที่เที่ยวหลากหลาย ทั้งภูเขาธรรมชาติก็สดชื่น วัดสวยๆ ตลาดน่าชอป และสำหรับสายมู เชียงใหม่ก็เป็นอีกจุดหมายในการมามูเตลูกันได้แบบเต็มที่
หนึ่งในวัดที่สายมูนิยมมากันในตัวเมืองเชียงใหม่ก็คือ “วัดอุปคุต” ตั้งอยู่บนถนนท่าแพ ไม่ไกลจากตลาดวโรรส ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2456 และมีตำนานเกี่ยวกับพระอุปคุตและการก่อตั้งวัดที่เล่าต่อๆ กันมาว่า ครั้งหนึ่งมีสามีภรรยาฐานะยากจนคู่หนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่นอกเมืองเชียงใหม่ ประกอบอาชีพทำนาและค้าขายพอเลี้ยงชีพไปได้ เมื่อว่างจากทำนาทั้งสองก็นำเอาผลผลิตจากไร่สวน เข้าไปมาขายในตัวเมืองเชียงใหม่ วันหนึ่งในฤดูหนาวอากาศหนาวเหน็บ สองสามีภรรยาตื่นแต่เช้า เพื่อเดินทางเข้าตัวเมืองพร้อมกับสัมภาระสำหรับค้าขาย ระหว่างเดินฝ่าอากาศที่หนาวเย็น ก็ได้พรรณนาปรับทุกข์ต่อกันถึงความทุกข์ยากของครอบครัวที่ต้องทำงานหนักและหากไม่ทำเช่นนี้ก็ต้องอดอยาก ไม่มีจะกิน ทั้งสองต่างปลอบใจและให้กำลังใจซึ่งกันและกันและว่าเราสองคนทำบุญมาน้อย ทำให้ด้อยวาสนา ทุกข์สาหัสอย่างไรก็จำเป็นต้องทน ต้องดิ้นรนต่อสู้ต่อไป
ทั้งคู่ปรับทุกข์กันเรื่อยมาจนข้ามแม่น้ำปิงมาฝั่งตะวันตก เข้าถนนท่าแพ ขณะนั้นยังเป็นเวลาเช้ามืด และเป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ พระจันทร์เต็มดวงสาดแสงสว่างไสวดูสวยงามน่ารื่นรมย์ ทำให้ความเหนื่อยล้าของสามีภรรยาหายไปสิ้น ขณะเพลิดเพลินกับบรรยากาศอยู่นั้น สายตาของทั้งคู่ก็เหลือบไปเห็นสามเณรน้อยรูปหนึ่งกำลังอุ้มบาตร ครองผ้าเป็นปริมณฑลตัดกับแสงจันทร์นวลส่อง เป็นภาพที่งดงามและยังความปิติซาบซ่านเข้าสู่หัวใจของทั้งสอง จึงบังเกิดศรัทธาในตัวสามเณร และได้แบ่งสิ่งของที่ตั้งใจนำไปขาย ยกขึ้นอธิษฐานแล้วใส่ในบาตรของสามเณร หลังจากรับพรจากสามเณรแล้ว ชายผู้เป็นสามีนึกแปลกใจว่าสามเณรจากวัดใดกันแน่ที่ออกบิณฑบาต แต่เช้าตรู่เพียงลำพังเช่นนี้ เขาจึงเดินตามสามเณรไป แต่สามเณรก็เดินไปถึงชายป่าแล้วหายวับไปที่ต้นไทรต้นหนึ่ง สามีเห็นเช่นนั้นก็วิ่งกลับมาบอกกับภรรยาและต่างเก็บความสงสัยไว้ในใจ
นับแต่วันนั้นสองสามีภรรยาก็เจริญรุ่งเรือง ขึ้นตามลำดับไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ได้ผลกำไรงาม และมีฐานะร่ำรวยขึ้น ต่อมาจึงทราบจากพระผู้เฒ่ารูปหนึ่ง ผู้ทรงอภิญญาญาณเคร่งครัดในศีลว่า การที่เจริญก้าวหน้าค้าขายร่ำรวยนั้น เนื่องจากอานิสงส์ที่ได้ตักบาตรกับสามเณร ผู้ซึ่งก็คือพระอุปคุตมหาเถระที่เข้านิโรธสมาบัติอยู่ใต้สะดือทะเล ครั้นถึงวันพระขึ้น 15 ค่ำ ท่านจะแปลงเป็นสามเณรน้อย ออกบิณฑบาตแต่เช้าตรู่เพื่อโปรดสัตว์ บุคคลใดได้ตักบาตรท่านพระมหาอุปคุต ถือว่าเป็นบุคคลที่โชคดี ทำให้เจริญรุ่งเรือง สองสามีภรรยาได้ฟังก็เกิดปิติศรัทธา จึงได้สร้างวัดขึ้นตรงบริเวณที่พบสามเณรน้อย ชาวบ้านเมื่อทราบข่าวต่างมาร่วมอนุโมทนาและช่วยเหลือร่วมทำบุญ โดยตั้งชื่อวัดนี้ว่าวัดพระอุปคุต ต่อมาเปลี่ยนเป็นเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดอุปคุต” มาจนทุกวันนี้
และจากตำนานนี้ ที่วัดอุปคุตก็มีการจัดประเพณีใส่บาตรพระอุปคุตเป็นประจำทุกปี ซึ่งชาวเหนือเชื่อว่าหากเดือนใดมีวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธหรือที่เรียกว่า "เป็งปุ๊ด" พระอุปคุตจะแปลงกายเป็นเณรมาบิณฑบาตรตอนเที่ยงคืน และใครก็ตามที่ได้ใส่บาตรพระอุปคุต จะได้บุญมาก ดังนั้นงานบุญประเพณีนี้จึงมีเอกลักษณ์อยู่ที่การใส่บาตรตอนเที่ยงคืนนั่นเอง (ไม่เจาะจงว่าจะต้องอยู่ในเดือนใด) โดยปัจจุบันนี้ก็มีหลายวัดในเชียงใหม่ที่มีพิธีตักบาตรเป็งปุ๊ด รวมถึงยังมีในอีกหลายจังหวัดแถบภาคเหนือ เช่น เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน เป็นต้น
โดยในคืนเป็งปุ๊ด พระภิกษุ-สามเณรทุกรูปจะออกบิณฑบาตตอนเที่ยงคืน บรรดาพุทธศาสนิกชนชาวเหนือจะเตรียมข้าวสาร-อาหารแห้งไว้คอยใส่บาตรตั้งแต่หลังเที่ยงคืน และจะไปคอยใส่บาตรที่หน้าบ้านตามถนนสายต่าง ๆ หรือตามแยกใกล้ชุมชน โดยความเชื่อว่าหากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรในวันเป็งปุ๊ดจะได้รับบุญมาก ร่ำรวย เป็นสิริมงคล
ใครมาขอพรที่วัดอุปคุต เมื่อมาถึงแล้วให้ขึ้นไปที่ “วิหารหลวง” ก่อน ไปสักการะ “หลวงพ่อพระมหาอุปคุต” พระประธานในวิหารหลวง และภายในยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสีน้ำมันเรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของชาวเหนือ วาดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2470 โดยพ่อบุญปั๋น พงษ์ประดิษฐ์ ศิลปินล้านนา
จากนั้นลงมาจุดเทียนพระมหาอุปคุต ปราบมาร บันดาลโชคลาภ บริเวณหน้าวิหารหลวง (ด้านหน้าวิหารหลวงมีจุดจำหน่ายธูปเทียน มีขั้นตอนการบูชาบอกไว้ให้อย่างละเอียด)
ส่วนในหอพระไตรปิฎก-หอเก็บพระพุทธรูปเป็นทรงลูกบาศก์ ยกพื้นสูง มีลายปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบผนังด้านนอก ทวารบาลเป็นยักษ์ปูนปั้น บานประตูลงรักปิดทอง ด้านในประดิษฐาน “พระมหาอุปคุต” โดยการมาไหว้ขอพรพระมหาอุปคุตที่นี่มีขั้นตอนคือ เคาะระฆังใบตรงกลางด้านหน้า 3 ครั้ง กล่าวนมัสการพระรัตนตรัย กล่าวคาถาบูชาหลวงพ่อพระอุปคุต แล้วจึงขึ้นไปอธิษฐานขอพรที่ได้บนหอไตร เสร็จแล้วให้กลับลงมาเคาะระฆังใบตรงกลางด้านหลัง 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จสิ้นการขอพรจุดนี้
หลังจากขอพรองค์พระมหาอุปคุตแล้ว ภายในวัดก็ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกหลายจุดที่ไม่ควรพลาด อาทิ ไหว้ขอพรหมอชีวกโกมารภัทร หมอผู้รักษาพระพุทธเจ้า บริเวณด้านล่างหอพระไตรปิฎก ที่มักจะมาขอพรเรื่องให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
ด้านในวัดยังมี พระอุโบสถพุทธชยันตี ที่ด้านหลังเป็นพระเจดีย์สีขาวองค์ใหญ่ ไหว้ขอพรองค์พระพิฆเนศ ขอพรท้าวเวสสุวรรณ พระพักตร์ยักษ์ ในเรื่องหน้าที่การงาน การค้าขาย การเรียน โชคลาภ ทรัพย์สินเงินทอง และแก้ปัญหาอุปสรรคทั้งปวง และขอพรท้าวเวสสุวรรณ พระพักตร์เทวบุตร ขอพรเรื่องครอบครัว ความรัก สุขภาพ และการเดินทาง
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline