ชวนชมและเรียนรู้แบบสนุกสนาน กับวิวัฒนาการของโลกผ่านซากดึกดำบรรพ์ ที่ “พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาลำปาง” จ.ลำปาง พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ
มาเที่ยวที่ “ลำปาง” นอกจากจะมาไหว้พระ สักการะพระธาตุลำปางหลวง ชมวัดเก่าสวยๆ ในเมือง เดินเล่นกาดกองต้า นั่งรถม้าชมเมือง หรือไปชมความน่ารักของช้างไทยที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยกันแล้ว
อีกจุดหนึ่งที่ไม่อยากให้พลาด กับความน่าสนใจของเรื่องราวทางธรณีวิทยา ที่ทั้งเด็กๆ และผู้ใหญ่ก็เรียนรู้กันได้อย่างสนุกสนาน นั่นคือ “พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาลำปาง” ที่ตั้งอยู่ใน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ไม่ไกลจากในตัวเมืองลำปางมากนัก
“พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาลำปาง” หรือ พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา จังหวัดลำปาง จัดตั้งโดย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ด้านธรณีวิทยา และชากดึกดำบรรพ์ในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งที่นี่ก็ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนืออีกด้วย
ที่นี่มีการจัดแสดง และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโลก และระบบสุริยจักรวาลเอาไว้มากมาย เช่น โลกดึกดำบรรพ์ใต้ท้องทะเล, สัตว์ในอดีตชนิดต่างๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว, แหล่งแร่ธรรมชาติที่สำคัญในไทย และยังได้เปิดโลกไดโนเสาร์ ที่รวบรวมเอาไว้หลายสายพันธุ์จำนวนมากที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ที่สำคัญ ยังเน้นไปที่ซากดึกดำบรรพ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในช่วงมหายุคซีโนโซอิก ซึ่งพบมากในภาคเหนือของประเทศไทย
ภายในพิพิธภัณฑ์ แบ่งการจัดแสดงออกเป็นโซนต่างๆ ดังนี้
เปิดประตูสู่ใต้ทะเลดึกดำบรรพ์
มหายุคพาลีโอโซอิก ประกอบด้วยช่วงเวลาทั้งหมด 6 ยุค เป็นมหายุคที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในท้องทะเล วิวัฒนาการค่อยๆ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปอย่างช้าๆ จากโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน สู่สิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างซับซ้อน พร้อมผลักดันให้สรรพชีวิตดิ้นรนเพื่อยกพลขึ้นบก ขึ้นมาอาศัยอยู่บนแผ่นดินในยุคของสัตว์เลื้อยคลาน
ป่าดึกดำบรรพ์ อาณาจักรใหญ่ของแมลง
เมื่อ 300 กว่าล้านปี เป็นยุคที่มีแมลงขนาดใหญ่ และมีพืชตระกูลสน เฟิน ปรง และป้าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสความใหญ่โตของสัตว์ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส
สัตว์เลื้อยคลานครองโลก
สิ่งมีชีวิตเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น สัตว์เลื้อยคลานหลากหลายเริ่มมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหาร โซนนี้จะได้พบกับความตื่นเต้นกับหุ่นจำลองที่เคลื่อนไหวของนักล่าแห่งยุคเพอร์เมียน ก่อนที่จะเกิดการสูญพันธ์ครั้งใหญ่
โลกของไดโนเสาร์
โซนนี้เล่าเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตในมหายุคมีโซโซอิก เป็นยุคของสัตว์เลื้อยคลานครองโลก โดยเฉพาะไดโนเสาร์ การจัดแสดงเล่าเรื่องไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทย ไดโนเสาร์ที่โดดเด่นช่วงนั้น และสิ่งมีชีวิตร่วมยุค ผ่านการจัดแสดงซากดึกดำบรรพ์ และหุ่นจำลองเคลื่อนไหวได้
รวมถึงการจัดแสดงกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกของภาคเหนือ จากแหล่งเชียงม่วน จ.พะเยา พบเห็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2545 โดยชาวบ้านที่เข้าไปหาเห็ดป่าบริเวณดอยแก่งหลวง และพบกระดูกโผล่ออกมาจากพื้นหินทราย ต่อมาราวต้นเดือนธันวาคม 2545 ได้มีการเข้ามาทำการตรวจสอบ พบว่าเป็นกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอด ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ และนับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ในภาคเหนือของไทย
ยุคทองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในมหายุคซีโนโซอิค มีขนห่อหุ้มร่างกาย เป้นสัตว์เลือดอุ่นที่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายได้ มีความใกล้เคียงกับสัตว์ปัจจุบันมาก จัดแสดงซากดึกดำบรรพ์ที่พบในแอ่งสะสมตะกอนโบราณ หรือในถ้ำ เช่น ช้างสี่งา ทาร์เซียร์สิรินธร เอปเชียงม่วน กวางรุจา ฯลฯ
มนุษย์และทรัพยากร
โซนนี้ได้เล่าถึงวิวัฒนาการของมมนุษย์ เครื่องมือโบราณ แนะนำแหล่งค้นพบมนุษย์ลำปาง (มนุษย์เกาะคา) และการนำทรัพยากรธรณีมาใช้ประโยชน์ โดยการจัดแสดงแร่ และอุโมงค์เหมืองแร่
นอกจากจะมาเรียนรู้เรื่องราวทางธรณีวิทยา โลก สัตว์ และมนุษย์แล้ว ที่ “พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาลำปาง” ก็ยังมีกิจกรรมสนุกๆ ที่จะหมุนเวียนกันไปในแต่ละเดือน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจของพิพิธภัณฑ์
* * * * * * * * * * * * * *
“พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาลำปาง” ตั้งอยู่ที่ อ.เกาะคา จ.ลำปาง ค่าเข้าชม เด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 30 บาท เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา 09.30-16.30 น. โทร. 08-9815-2202 Facebook : พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา จังหวัดลำปาง
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline