วันที่ 16 พฤศจิกายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น "วันพิทักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก" ซึ่งเกิดขึ้นจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอให้จัดตั้งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลกขึ้น ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุม เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2515
ด้วยความตระหนักว่าการปกป้องพิทักษ์สมบัติทางวัฒนธรรม และธรรมชาติของโลกควรเป็นภารกิจร่วมกันของมนุษย์ชาติทั่วโลก มรดกโลก ไม่ว่าจะเป็น "มรดกโลกทางวัฒนธรรม" หรือ "มรดกโลกทางธรรมชาติ" ที่มีอยู่ทั่วโลกล้วนเป็นสิ่งทรงคุณค่า ต้องหวงแหน ปกป้องรักษาไว้เป็นสมบัติของโลก
สำหรับประเทศไทย มีสถานที่สำคัญที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วทั้งหมด 8 แห่ง แบ่งประเภทได้ดังนี้
มรดกโลกทางวัฒนธรรม 5 แห่ง ได้แก่
1. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จ.สุโขทัย ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2534
2. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2534
3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2535
4. เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2566
5. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ. 2567
มรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง ได้แก่
1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ จ.อุทัยธานี จ.ตาก และ จ.กาญจนบุรี ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2534
2. ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุม 6 จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.ปราจีนบุรี จ.บุรีรัมย์ จ.สระแก้ว จ.นครนายก และ จ.สระบุรี ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2548
3. กลุ่มป่าแก่งกระจาน ที่มีพื้นที่ธรรมชาติ ครอบคลุมถึง 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ.2564
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline