xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวพัทลุง 3 วัน 2 คืน ในคอนเซปต์ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชมทิวทัศน์สุดตื่นตาตื่นใจของ “ยอยักษ์” วิถีประมงพื้นบ้านกลางผืนน้ำ กับ “ควายน้ำ” เจ้าถิ่น, ล่องเรือออกไปยังเกาะกลางทะเลที่มีสถาปัตยกรรมโถงถ้ำงดงามสะท้อนผิวน้ำราวกระจกเงา, กิจกรรมสนุกๆจากภูมิปัญญาท้องถิ่น, กินอาหารสดใหม่ใต้ผืนฟ้าครามยามพลบค่ำริมทะเล ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นประสบการณ์อันน่าประทับใจภายใต้แนวคิด “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ซึ่งผู้มาเยือนเดินทางสัมผัสได้ที่ “พัทลุง”

การยกยอ ที่คลองปากประ
จังหวัดพัทลุง เป็นอีกเมืองที่นักเดินทางตัวจริงไม่ควรพลาด ด้วยเหตุผลความครบครันในด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม พร้อมด้วยเหตุผลสำคัญของรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีส่วนร่วมจากคนในชุมชนสามารถก่อให้เกิดความยั่งยืนได้ ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ตลอดจนวิถีชีวิต หรือการสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิม

ลองหาเวลาว่างอย่างน้อย 3 วัน 2 คืน เพื่อมาสัมผัสเสน่ห์ของดินแดนแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับโลกที่เมืองพัทลุง


ทิวทัศน์คลองปากประ ยามรุ่งสาง
ล่องเรือชมความมหัศจรรย์ของ “คลองปากประ-ทะเลน้อย”
แสงแรกของวันที่คลองปากประ โผล่พ้นจากใต้เงาเมฆทะมึนของปลายฤดูฝน แม้ไม่ได้ถักทอเป็นสีทองเรืองรองแบบวันที่อากาศแจ่มใส แต่ก็ส่องความสว่างเพียงพอให้เห็นเงาของ “ยอขนาดยักษ์” เปลี่ยนเป็นภาพชวนตื่นตาตื่นใจได้อยู่ดี ถือเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มาได้ทุกฤดูกาล

การล่องเรือไปชมทัศนียภาพบริเวณ “คลองปากประ” ส่วนหนึ่งของ “ทะเลน้อย” หรือพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นกิจกรรมที่ชาวท้องถิ่นจัดไว้ต้อนรับนักเดินทางที่ถวิลหาความงามยามรุ่งสาง

ล่องเรือชมทิวทัศน์เทือกเขาบรรทัด
ผู้มาเยือนโดยสารไปด้วยเรือหางยาวล่องไปช้าๆออกไปสู่ปากคลองที่มองเห็นยอขนาดยักษ์ เครื่องมือประมงพื้นบ้านที่มีลักษณะเป็นก้านไม้ยาวแผ่ออกเป็น 4 แฉกสำหรับดักปลาลูกเบร่ ปลาตัวจิ๋วที่ว่ายเข้ามา เป็นภูมิปัญญาของชาวประมงท้องถิ่นที่สืบสานต่อกันมาเนิ่นนาน จนกระทั่งเมื่อแสงยามเช้าเริ่มส่องสว่างเห็นภาพชัด เรือก็ค่อยๆล่องออกไปสู่ผืนน้ำกว้างใหญ่ จุดหมาย คือ “ทะเลน้อย”

ทะเลน้อยมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย นอกจากทัศนียภาพของธรรมชาติแนวเทือกเขาบรรทัดที่โอบล้อมอยู่ไกลลิบ ความเขียวขจีของพืชพรรณในพื้นที่ชุ่มน้ำ ภาพวิถีประมงพื้นบ้านที่ขับเคลื่อนในแต่ละวัน จุดขายของการเป็นแหล่งชมนกก็นับว่าไม่เป็นรองที่ใด โดยมีข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุว่า ทะเลน้อยมีนกไม่ต่ำกว่า 186 สายพันธุ์ ถ้าเดินทางไปในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - เมษายน จะมีนกต่างถิ่นอพยพหนีหนาวมาให้ชมกันอย่างจุใจ ส่วน “ทะเลดอกบัว” ที่อวดโฉมสีชมพูสดใสนั้น มีมากที่สุดช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม แต่ในช่วงปลายปี ก็ยังพอมีให้ชมอยู่บ้างในบางจุด

นกในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย
อีกหนึ่งจุดขายที่ใครๆก็อยากมาเห็นแบบใกล้ชิด คือ “ควายน้ำ” สัตว์เจ้าถิ่นที่ใช้ชีวิตอย่างสบายใจ ในรูปแบบการเลี้ยงแบบเปิด เป็นวิถีการเลี้ยงควายในพื้นที่ชุ่มน้ำที่ปรับตัวหากินในฤดูน้ำหลาก ด้วยการดำผุดดำว่ายลงไปมากินพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว หรือสาหร่าย จนได้ฉายาว่า ควายน้ำ

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เหล่าน้องควายในพื้นที่ชุ่มน้ำ มีความสำคัญยิ่งกว่าเดิม คือ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศให้ “ระบบการเลี้ยงควายปลัก” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ควายน้ำพื้นที่ทะเลน้อย" มีสถานะเป็น “มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย” เมื่อปี พ.ศ.2565 ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญและอัตลักษณ์ของพื้นที่ รวมถึงวิถีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมของเกษตรกรท้องถิ่นที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
ขณะล่องเรือไปทะเลน้อย นักท่องเที่ยวจะได้เห็น “สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครบรอบ 80 พรรษา บ้างเรียกสั้นๆว่า “สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ฯ”

สะพานแห่งนี้ยังมีชื่อเล่นเรียกไม่เป็นทางการว่า “สะพานเอกชัย” ด้วยเหตุจากนักร้องดังของภาคใต้ “เอกชัย ศรีวิชัย” เล่นคอนเสิร์ตเพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งมาสมทบในการสร้างสะพาน

ส่วนใครไม่ได้ล่องเรือ ก็ยังสามารถสัญจรไปบนสะพานที่ยาวที่สุดของประเทศไทยแห่งนี้ได้ โดยสะพานยกระดับอยู่เหนือพื้นที่ทะเลน้อย ระยะทางประมาณ 5.45 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเชื่อมต่อ พัทลุง-สงขลา และมีจุดพักรถให้ชมทิวทัศน์บนสะพาน จอดเพื่อมองวิถีชีวิตธรรมชาติของเหล่าควายในท้องทุ่ง หรือนกนานาพันธุ์ที่เดินจดๆจ้องๆมองหาเหยื่อในพื้นที่ชุ่มน้ำ

สะพานเฉลิมพระเกียรติฯ
“เกาะหมาก” อันซีนพัทลุงในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา
เมื่อพูดถึง “เกาะหมาก” คนส่วนใหญ่ต้องนึกถึงเกาะท่องเที่ยวดังแห่งภาคตะวันออกในจังหวัดตราด แต่ที่จังหวัดพัทลุง ก็มีเกาะหมากเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเกาะท่องเที่ยวในอีกรูปแบบ โดยมีจุดขายสำคัญ คือ การท่องเที่ยวในรูปแบบวิถีชุมชน และนับเป็นจุดหมายแบบ UNSEEN New Series ที่ได้รับการแนะนำจาก ททท. ในช่วงแรกๆภายหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

นั่งรถขนำติดล้อที่เกาะหมาก
แม้ภูมิศาสตร์เป็นเกาะ แต่เกาะหมากสามารถเดินทางเชื่อมจากแผ่นดินใหญ่จากอำเภอปากพยูน ผ่านสะพานคอนกรีต นำไปสู่ชุมชนเกษตรกรรม ประมงพื้นบ้าน ที่ต่อยอดมาสู่ชุมชนท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิต โดยกิจกรรมเด่นของบนเกาะ ได้แก่ การนั่งรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างที่เรียกว่า “ขนำติดล้อ” ตะลอนไปชมสถานที่สำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “ต้นไทรโอบรัก” ที่มีขนาดสูงใหญ่, “วัดชลธาวดี (เกาะโคบ)” ซึ่งมีเจดีย์สีทองอร่าม อยู่ริมฝั่งทะเล เป็นจุดชิมวิวที่สวยงาม, ตะลอนไปชมภาพชีวิตของท้องทุ่งเขียวขจี คอกควาย เป็นต้น

ต้นไทรโอบรัก

 วัดชลธาวดี (เกาะโคบ)
ส่วนกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมได้ เช่น ฐานกิจกรรม “ไข่ในหิน” ภูมิปัญญาการทำไข่เค็มที่เลือกใช้กรวดทรายล้าง แกลบเผา และดินจากจอมปลวก มาใช้แทนดินสอพอง ทำให้ไข่แดงมีรสชาติมัน อร่อย นำกลับไปเป็นของฝากได้ พร้อมทั้งเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อื่นๆจากชาวชุมชนได้ในสถานที่เดียวกัน, ฐานกิจกรรม “ประติมากรรมทราย” ที่นำกรวดทรายมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะกลับไปเป็นที่ระลึก

 ไข่ในหิน

ศิลปะจากกรวดทราย
ส่วนเรื่องอาหารการกินนั้น สถานที่ที่เรียกว่า “ลานยอ” เป็นท่าเรือเล็กๆ ที่เปิดโล่งมองเห็นท้องทะเลกว้างใหญ่ ใช้รับรองแขกผู้มาเยือนด้วยอาหารท้องถิ่นรสจัดจ้านแบบชาวใต้ รวมทั้งเสิร์ฟ “กุ้งสามน้ำ” สัตว์เศรษฐกิจประจำเกาะหมาก ซึ่งเป็นกุ้งก้ามกรามตามธรรมชาติในทะเลสาบสงขลา ตามสภาพน้ำที่มีน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ทำให้กุ้งก้ามกรามมีเนื้อแน่น รสชาติเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งลานยอ ยังเป็นสถานที่พักผ่อนชมทิวทัศน์ยามพระอาทิตย์ตกที่งดงาม

การท่องเที่ยวชุมชนเกาะหมาก ติดต่อ นายคิมหันต์ สุวรรณเรืองศรี โทร. 06-1491-9362

ยามเย็นที่ลานยอ
“เกาะกระ” เกาะลับๆที่เปี่ยมไปด้วยความศรัทธา
ล่องเรือจากเกาะหมาก ไปออกราว 15 นาที ผ่านเกาะแก่งสัมปทานรังนก และทิวทัศน์ตอนกลางของทะเลสาบสงขลาที่ชาวประมงท้องถิ่นทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการจับกุ้ง มุ่งสู่ “เกาะกระ” เกาะเล็กๆที่ในอดีตชาวประมงจะล่องเรือไปพักอยู่บนเกาะ เพื่อรอเก็บปลาที่ดักไว้

โถงถ้ำที่เกาะกระ
เกาะกระไม่มีผู้คนอยู่อาศัย ไม่มีรังนกนางแอ่น แต่เป็นเกาะที่เต็มไปด้วยความศรัทธาตามความเชื่อ บนเกาะกระมีพระพุทธรูป หลวงปู่ทวด ศาลา 12 เหลี่ยม และสะพาน 12 นักษัตร ที่ถูกสร้างขึ้น โถงถ้ำที่ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม ที่หน้าถ้ำมีสระน้ำกระจกที่สะท้อนเงาของหินราวกับกระจกเงางดงามมาก พร้อมทั้งมีทางเดินรอบเกาะที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแมกไม้ยืนต้น

โถงถ้ำที่เกาะกระ ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม

ศาลาทรงจีนบนเกาะกระ

ระหว่างทางล่องเรือไปเกาะกระ

วิถีคนเก็บกุ้ง
“ดุสิตปริ๊นเซส พัทลุง” พักผ่อนอย่างมีระดับมาตรฐานเครือดุสิต
โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส พัทลุง (Dusit Princess Phatthalung) โรงแรมแรกภายใต้แบรนด์ “ดุสิต ปริ๊นเซส” ที่เปิดให้บริการในภาคใต้ มาตรฐานโรงแรมระดับ 4 ดาวที่ชูความโดดเด่นของคอนเซปต์การเป็นรีสอร์ทใจกลางเมืองพัทลุง ที่มีบรรยากาศเงียบสงบ ห้องพักจำนวน 132 ห้องของโรงแรม ตกแต่งสไตล์โมเดิร์น อาคารที่พักล้อมรอบด้วยสระน้ำกลางแจ้งสบายตา โดยนอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกมาตรฐานเครือดุสิตฯแล้ว โรงแรมตกแต่งผ่านการเชื่อมโยงงานทอมือจากต้นธูปฤาษีหรือ “กระจูด” ซึ่งจะประดับในห้องพักและส่วนต่างๆ

ดุสิตปริ๊นเซส พัทลุง
ส่วนที่ห้องอาหารฉีเชี้ยว (Chi Chiao) พร้อมเสิร์ฟอาหารท้องถิ่นผ่านการตีความจากอาหารพื้นเมืองของพัทลุงที่ผสมรวมแบบพหุวัฒนธรรมอย่างไทยและจีน คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดี รวมทั้งจากท้องถิ่น เช่น ข้าวสังข์หยดพัทลุง และยังให้บริการ “ดุสิตกูร์เมต์” (Dusit Gourmet) ซึ่งนำเสนอชาและกาแฟ เบเกอรีระดับพรีเมียมในมาตรฐานเดียวกันของดุสิตธานีแห่งอื่น

รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.dusit.com/dusitprincess-phatthalung/th/

ดุสิตปริ๊นเซส พัทลุง
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น