ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญแห่งปีของคนไทย สำหรับพระราชพิธีมหามงคลเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา
ดังนั้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงความประทับใจแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะอยู่ในความทรงจำของผู้ร่วมเหตุการณ์ไปอีกนาน เราจึงขอนำเสนอ 10 เรื่องน่ารู้ของ “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” ปี 2567 อันวิจิตรตระการตากลางเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่หลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลกคือประเทศไทยเท่านั้น
1.ขบวนเสด็จพระราชดำเนิน : ตามโบราณราชประเพณี ขบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยไปในการต่าง ๆ เพื่อให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แสดงความจงรักภักดี แบ่งเป็น “ขบวนพยุหยาตราสถลมารค” เป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางบก และ “ขบวนพยุหยาตราชลมารค” เป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ
2.ขบวนพยุหยาตราชลมารค : เป็นริ้วขบวนเรือที่จัดขึ้นในการที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปในการต่าง ๆ โดยทางน้ำ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์และการพระราชพิธี อาทิ พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาท การอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากหัวเมืองเข้าประดิษฐานในเมืองหลวง การต้อนรับทูตต่างประเทศ เป็นต้น
3.วิวัฒนาการ : ขบวนพยุหยาตราชลมารค มีวิวัฒนาการมาจากการจัดขบวนทัพเรือในยามที่ว่างจากศึก เพื่อเป็นการฝึกซ้อมเรียกระดมพล โดยที่กองเรือเหล่านี้จะตกแต่งอย่างสวยงาม ประโคมดนตรีไปในขบวน เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน และพลพายเกิดความฮึกเหิม
4.มรดกวัฒนธรรมหนึ่งเดียวในโลก : การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ปรากฏหลักฐานสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์
สำหรับขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์และนับเป็นต้นแบบสำคัญของขบวนพยุหยาตราฯ ในสมัยต่อมาคือ ขบวนพยุหยาตราฯ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่างๆ มีการจัดขบวนพยุหยาตราฯ ที่เรียกว่า “ขบวนเพชรพวง” เป็นริ้วขบวนยิ่งใหญ่ 5 สาย มีเรือทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 100 ลำ
ความงดงามของขบวนเรือในสมัยนั้นได้ถูกบันทึกไว้โดย นิโคลาส แชแวร์ หนึ่งในคณะทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ว่า “...ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่า 200 ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆ ไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายพร้อมกับเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทอง เสียงพายกระทบเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน...”
5.ร.๙ ทรงฟื้นฟูอีกครั้ง : ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคถูกทิ้งช่วงไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเมื่อคราวฉลองพระนครครบ 150 ปี พ.ศ.2475 ในรัชกาลที่ ๗
ต่อมาในปี พ.ศ.2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคใหญ่ ขึ้นอีกครั้ง โดยได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคสืบต่อเรื่อยมารวมแล้วถึง 17 ครั้งในสมัย รัชกาลที่ ๙
นอกจากนี้ยังมีการสร้าง “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙” ขึ้น ในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2539 อีกด้วย
ส่วนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมาแล้ว 2 ครั้ง คือในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 และเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
6.ดาวล้อมเดือน : การจัดรูปขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ใช้เรือพระราชพิธีจำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ ขบวนเรือกว้าง 90 เมตร มีความยาวกว่า 1,280 เมตร รูปแบบการจัดขบวนเรือครั้งนี้ เรียกว่า “ดาวล้อมเดือน” ตามพระดำริของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ได้ปรับเปลี่ยนมาตั้งแต่ปี 2525
โดยผังของขบวนเรือพระราชพิธีมีลักษณะดุจดาวล้อมเดือน คือ มีเรือพระที่นั่งเป็นเดือน เรืออื่นในขบวนหน้า ในขบวนแซง และในขบวนหลัง เป็นดาวล้อมอยู่ทุกด้าน เพื่อให้เรือพระที่นั่งมีความสง่างามสมพระเกียรติ
7.งามวิจิตรแห่งเจ้าพระยา: ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้
-ริ้วสายกลาง เป็นเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรืออเนกชาติภุชงค์
-ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้าเรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 2 ลำ และปิดท้ายริ้วสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก รวมทั้งสิ้น 14 ลำ
-ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ รวมทั้งสิ้น 28 ลำ
8.ฝีพาย : ขบวนเรือพระราชพิธีครั้งนี้ ใช้กำลังพลฝีพาย จำนวน 2,412 นาย มีระเบียบการพายอยู่ 4 วิธี ตามแบบโบราณ คือ พายนกบิน พายพลราบ พายผสม และพายธรรมดา โดยเหล่าฝีพายทหารเรือต้องฝึกพายท่าต่าง ๆ ให้พร้อมเพรียงและสัมพันธ์กับการเห่เรือ ซึ่งต้องใช้เวลานานนับปี
9.กาพย์เห่เรือ : ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ กาพย์เห่เรือประพันธ์โดย พลเรือตรี “ทองย้อย แสงสินชัย” ประกอบด้วย 4 บท ได้แก่ บทสรรเสริญพระบารมี บทชมเรือกระบวน บทบุญกฐิน และบทชมเมือง โดยมีเจ้าพนักงานเห่เรือ 2 นาย เรือโทสุราษฎร์ ฉิมนอก และ พันจ่าเอกพูลศักดิ์ กลิ่นบัว สังกัดกรมการขนส่งทหารเรือ
10.ในหลวง-พระราชินี ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ : ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ส่วนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชเป็นเรือเชิญผ้าพระกฐิน
######
หมายเหตุ : ข้อมูลส่วนหนึ่ง อ้างอิงจากเพจ พระลาน