xs
xsm
sm
md
lg

“ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” ยิ่งใหญ่ตระการตา งามสง่ากลางลำน้ำเจ้าพระยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม
วันที่ 27 ตุลาคม 2567 นับเป็นอีกวันประวัติศาสตร์ของไทย ที่จะมีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร โดยในครั้งนี้ ทั้งชาวไทยและคนทั่วโลกจะได้ชมภาพอันงดงามตระการตาของริ้วขบวนเรือพระที่นั่งที่ลอยลำงามสง่ากลางท้องน้ำเจ้าพระยา รวมถึงได้ฟังกาพย์เห่เรืออันไพเราะดังก้องไปทั่วคุ้งน้ำ

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ซ้อมใหญ่ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (วันที่ 15 ต.ค.)
“ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” หมายถึงริ้วขบวนเรือที่จัดขึ้นในการที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ โดยทางน้ำ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์และการพระราชพิธี อาทิ พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาท การอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากหัวเมืองเข้าประดิษฐานในเมืองหลวง การต้อนรับทูตต่างประเทศ เป็นต้น

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้มีปรากฏมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสืบทอดต่อมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์และนับเป็นต้นแบบสำคัญของขบวนพยุหยาตราฯ ในสมัยต่อมาคือ ขบวนพยุหยาตราฯ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่างๆ มีการจัดขบวนพยุหยาตราฯ ที่เรียกว่า “ขบวนเพชรพวง” เป็นริ้วขบวนยิ่งใหญ่ 5 สาย มีเรือทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 100 ลำ

ความงดงามของขบวนเรือในสมัยนั้นได้ถูกบันทึกไว้โดย นิโคลาส แชแวร์ หนึ่งในคณะทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ว่า “...ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่า 200 ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆ ไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายพร้อมกับเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทอง เสียงพายกระทบเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน...”

ซ้อมใหญ่ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (วันที่ 15 ต.ค.)
ส่วนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคใหญ่ โดยทรงเสด็จทอดผ้าพระกฐินที่วัดอรุณราชวรารามตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมา และได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคสืบต่อมารวมแล้วถึง 17 ครั้ง อีกทั้งในรัชกาลของพระองค์ยังได้มีการสร้าง “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙” ขึ้น ในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี 2539

ส่วนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยมีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมาแล้วหนึ่งครั้ง ในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยเป็นพิธีเบื้องปลาย

และในครั้งนี้ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ ใช้เรือพระราชพิธีจำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร ใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธีรวมทั้งสิ้น 2,200 นาย แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้

1. ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ดังนี้
ลำที่ 1 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรืออัญเชิญผ้าพระกฐินประดิษฐานเหนือบุษบก
ลำที่ 2 เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือที่ประทับ
ลำที่ 3 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือที่ประทับของพระบรมวงศ์
ลำที่ 4 เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เป็นเรือพระที่นั่งสำรอง
นอกจากนี้มีเรืออีเหลืองเป็นเรือกลองนอก เรือแตงโมซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือเป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจ รวมทั้งสิ้น 10 ลำ

2. ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้าเรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 2 ลำ และปิดท้ายริ้วสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก รวมทั้งสิ้น 14 ลำ

3. ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ รวมทั้งสิ้น 28 ลำ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
สำหรับกาพย์เห่เรือ ประพันธ์โดย พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วย 4 บท ได้แก่ บทสรรเสริญพระบารมี บทชมเรือกระบวน บทบุญกฐิน และบทชมเมือง

ทั้งนี้ ได้มีการซ้อมกำลังพลฝีพายและเตรียมการจัดขบวนเรือพระราชพิธี เป็นการซ้อมย่อยไปแล้ว 10 ครั้ง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม และมีการซ้อมใหญ่ครั้งแรกในวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยจะมีการซ้อมใหญ่อีก 1 ครั้ง ในวันที่ 22 ตุลาคม 2567

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมการซ้อมใหญ่ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีการจัดเตรียมสถานที่สำหรับรองรับประชาชนตามจุดต่างๆ ได้แก่
1. ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี จำนวน 4,000 ที่นั่ง
2. สวนสันติชัยปราการ จำนวน 1,500 ที่นั่ง
3. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จำนวน 1,130 ที่นั่ง
4. สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา จำนวน 1,100 ที่นั่ง
5. โรงพยาบาลศิริราช (อุทยานสถานภิมุข) จำนวน 100 ที่นั่ง
รวมทั้งตลอดแนวทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสามารถเข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย และทางกรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมรถสุขาเคลื่อนที่ไว้บริการประชาชนด้วย

ซ้อมใหญ่ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (วันที่ 15 ต.ค.)

ซ้อมใหญ่ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (วันที่ 15 ต.ค.)

ซ้อมใหญ่ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (วันที่ 15 ต.ค.)

ซ้อมใหญ่ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (วันที่ 15 ต.ค.)

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น