xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานที่ยังมีลมหายใจ “หมุกหยง” ช่างเขียนคัทเอ้าท์หนัง จ.ยะลา รุ่นบุกเบิกในภาคใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากใครเคยมาเที่ยว จ.ยะลา คงได้เห็นโปสเตอร์หนังวาดด้วยมือบริเวณสี่แยก “ห้างโคลีเซียม” ที่อนุรักษ์การวาดแบบสมัยก่อนโดยฝีมือของศิลปินท้องถิ่น จ.ยะลา ที่ชวนให้อยากเห็นผู้อยู่เบื้องหลังภาพหนังสุดคลาสสิกที่หาชมได้ยากในยุคนี้

จึงเกิดการแวะเวียนเข้าไปพูดคุยกับช่างเขียนคัทเอ้าท์หนังทำงานกันอยู่ที่ลานจอดรถของ ห้างโคลีเซียม ชั้น 2 และได้พบกับช่างหมุกหยง ช่างเขียนรุ่นพี่ในวัย 70 ตอนปลาย กับช่างเขียว ช่างเขียนรุ่นน้องในวัยกลางคน ในบรรยากาศการทำงานอย่างขะมักเขม้นท่ามกลางเสียงเพลงเพื่อชีวิตจากคลื่นวิทยุท้องถิ่น


แม้ภายนอกของ ช่างหมุกหยง-หมุกหยง เจริญกิตติพงศ์ จะดูอ่อนวัยกว่าที่คิดแต่ก็กว่า 60 ปีแล้วที่ยังคงทำอาชีพที่ตัวเองรัก และยังทำมาถึงบั้นปลายชีวิต เรียกได้ว่าเป็นตำนานที่มีลมหายใจแห่งวงการช่างเขียนคัทเอ้าท์หนังเลยก็ว่าได้




ช่างหมุกหยง เล่าว่า “ผมเริ่มอาชีพนี้ตั้งแต่อยู่หาดใหญ่ ปี พ.ศ. 2506 อยู่ได้ประมาณ 6-7 ปี ก่อนที่โรงหนังเฉลิมยนต์ไฟไหม้ ก็ย้ายไปที่ โรงหนังเกียรติศักดิ์ กับโรงหนังสยาม ซึ่งตอนนั้นเขามีสมาคมจิตรกรภาคใต้อยู่ที่หาดใหญ่ ช่างเขียนจะรวมกันอยู่นี่แล้วฝึกหัดไปพร้อมกัน หลังจากออกจากหาดใหญ่ก็ย้ายไปโคราช พอไปอยู่สักเดือนนึงได้ ไปรอโรงหนังเปิดที่นครพนม เราก็ย้ายไปนครพนม เพราะว่าช่างเขียนแถวนู้นก็เด็กใต้ทั้งนั้นไปบุกเบิก จากหาดใหญ่นี่แหละไปบุกเบิก เด็กใต้ไปบุกเบิกไว้มาก จนเด็กอีสานทำได้ พอเด็กอีสานทำได้เด็กใต้ก็กลับ”




ช่างหมุกหยง เล่าต่อว่า “ผมไปอยู่นครพนมได้ปีเดียว เขาเรียกกลับ เพราะว่ายะลานี้เขาขาด เขาจะให้ผมมาลงโรงคิงส์ ช่างเขียนเขาขาดเขาเรียกผมกลับมา ก็อยู่มาหมดแล้วหละ 4 โรง ทุกยุค ยุคสุดท้ายนี่ก็โคลีเซียมนี่แหละ ยุคสุดท้ายเลย ยุคนี้ถ้าหมดก็ไม่มีใครทำแล้ว มันไม่ยาก แต่โรงไม่มี ถ้าสมมติโคลีเซี่ยมปิดก็จะหมดเลย เพราะห้างเขาไม่เขียนแล้วทุกห้างเลย เพราะเขาใช้ไวนิลแทนทุกแห่ง”






ซึ่งหากย้อนไปในยุคที่เฟื่องฟูของโรงหนังแสตนด์อโลนได้รับความนิยม โดยรายละเอียดการทำงานก็จะมีความแตกต่างกันออกไป จากแต่ก่อนที่ใช้สีน้ำมัน ตอนหลังเปลี่ยนเป็นสีโปสเตอร์ ล่าสุดเปลี่ยนเป็นใช้สีทาบ้าน และเมื่อก่อนต้องใช้กาวหนังวัวต้มแล้วมาทาเขียนกับสีน้ำมันอีกที พอมีกาวลาเท็กออกมาก็เปลี่ยนเป็นลาเท็กหมดเลย การใช้สีน้ำมันก็หาไม่ได้แล้ว




ส่วนขนาดของคัตเอ้าท์ก็ถูกลดลงไปเรื่อยๆ จากที่ถูกเขียนบนไม้อัดแผ่นใหญ่ 30-40 แผ่น ต่อๆกันเมื่อโรงหนังย้ายเข้าไปอยู่กับห้างปัจจุบันเหลือเพียง 6-9 แผ่น ลบ ทิ้ง เขียนเรื่องอื่น บนกระดานไม้อัดแผ่นเดิมเป็นหมื่นๆเรื่อง


แต่ถ้าพูดถึงการมองภาพคัทเอาต์ที่วาดด้วยมือทุกคนก็คงรู้สึกว่ามีชีวิตชีวา ที่ดูคล้ายโปสเตอร์แต่มีความแตกต่าง นั่นก็เป็นเพราะเสน่ห์ฝีไม้ลายมือของช่างเขียน ที่มีการดัดแปลงไปตามอารมณ์ และความรู้สึกที่ช่างเขียนมีต่อภาพ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเอกลักษณ์ฝีมือ แต่ส่วนมากไม่ได้หนีกันไปไกลเพราะยังคงต้นแบบฉบับจากสมาคมจิตกรภาคใต้ที่สืบทอดรุ่นสู่รุ่น




ก่อนจะจบบทสนทนา “ช่างหมุกหยง” เล่าต่อว่า “ช่างเขียนสมัยก่อนรุ่งจริง ยอมรับว่ามันรุ่งมากเลยเมื่อก่อน สมัยนี้โรงหนังไม่มี ช่างก็ไม่มี เขียนก็ไม่ค่อยได้เขียน มันปิดหมดแล้ว ถ้ายังมีโรงหนังอยู่มันยังโอเคนะ ยังพอมีช่างบ้างพอโรงหนังปิด ช่างที่ฝึกมาแล้วจะทำอะไร ส่วนมากก็จะไปเขียนงานในแกลลอรี่ แต่ช่างแบบเรานี้ก็เขียนแบบนี้ อยู่ในพื้นที่ เพียงแต่ว่าเสียดายก็ต้องอนุรักษ์ไว้บ้างเพราะมันไม่มีแล้วอ่ะ จบนี้ก็ไม่มีแล้ว เราก็อยู่แบบนี้แหละ ไปเรื่อยๆ ก็ทำได้แหละ แต่ทำมากก็ไม่ค่อยได้แล้วเพราะอายุปูนนี้แล้ว อยู่ในวงการมาเกือบ 60 ปี”





สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น