ทีมนักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ค้นพบ 4 พืชชนิดใหม่ของโลก ในสกุลหยาด ทั้งสวยงามและแปลกตา เช่น "หยาดวานรพักตร์" ดอกไม้คล้ายหน้าลิง ซึ่งซ่อนในเขาหินปูน จ.ลพบุรี
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลหยาด (Microchirita) จำนวน 4 ชนิด ซึ่งพบในพื้นที่จำกัดบนระบบนิเวศเขาหินปูนในจังหวัดสระบุรี ระยอง และลพบุรี หนึ่งในพืชชนิดใหม่ที่น่าสนใจคือ "หยาดวานรพักตร์" พบที่จังหวัดลพบุรี มีลักษณะเด่นคือดอกมีรูปร่างคล้ายหน้าลิง
การค้นพบครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) โดยนักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกอบด้วย นางสาวนัยนา เทศนา นายพาโชค พูดจา นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง นายคุณานนต์ ดาวนุไร และนายสมราน สุดดี หน่วยงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช และนายเกริกวิทย์ ภูมิพยัคฆ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ จ.ลพบุรี ได้สำรวจและเก็บตัวอย่างตามวิธีการด้านพฤกษศาสตร์ ร่วมมือกับ Dr. David Middleton ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชวงศ์ชาฤๅษี (Gesneriaceae) ในการตรวจสอบและยืนยันชนิด
ผลการศึกษาได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) ประจำปี 2024 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ของพืชสกุลหยาด โดยพบถึง 41 ชนิดจากทั้งหมด 51-55 ชนิดทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม พืชชนิดใหม่ที่ค้นพบทั้ง 4 ชนิดนี้อยู่ในภาวะถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากมีถิ่นที่อยู่อาศัยจำกัด ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ระบบนิเวศเขาหินปูนในประเทศไทย การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของประเทศไทย และความจำเป็นในการศึกษาวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์พืชหายากต่อไป
สำหรับพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลหยาด (𝑀𝑖𝑐𝑟𝑜𝑐ℎ𝑖𝑟𝑖𝑡𝑎) จำนวน 4 ชนิด ที่ค้นพบในครั้งนี้ ได้แก่
1. หยาดวานรพักตร์ 𝑀𝑖𝑐𝑟𝑜𝑐ℎ𝑖𝑟𝑖𝑡𝑎 𝑠𝑖𝑚𝑖𝑎 D. J. Middleton, Thananth., Tetsana & Suddee พบบริเวณเขาหินปูน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. ลำต้นอวบน้ำ สีม่วงแดงเข้มตลอดต้น มีขนสั้นหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ยกเว้นใบที่โคนต้น เรียงเวียน มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน หลอดกลีบดอกด้านนอกส่วนบนสีม่วงแดง ส่วนล่างสีเหลืองสด ด้านในแฉกกลีบดอกและหลอดกลีบดอกส่วนบนสีม่วงแดง ส่วนล่างมีแถบสีเหลืองสดและม่วงแดงเข้มสลับกัน โคนหลอดกลีบดอกด้านในมีเส้นสีม่วงจางและเข้มสลับกัน คำระบุชนิด ‘𝑠𝑖𝑚𝑖𝑎’ เป็นภาษาละตินที่หมายถึงลิง มาจากลักษณะของดอกที่ดูคล้ายหน้าลิงเมื่อมองจากด้านหน้า ตัวอย่างต้นแบบ 𝑇𝑒𝑡𝑠𝑎𝑛𝑎, 𝑃𝑢𝑢𝑑𝑗𝑎𝑎, 𝐾𝑒𝑟𝑑𝑘𝑎𝑒𝑤, 𝐻𝑒𝑚𝑟𝑎𝑡 & 𝐽𝑖𝑟𝑎𝑘𝑜𝑟𝑛 2785 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
2.หยาดอรทัย 𝑀𝑖𝑐𝑟𝑜𝑐ℎ𝑖𝑟𝑖𝑡𝑎 𝑜𝑟𝑎𝑡ℎ𝑎𝑖𝑎𝑒 Suddee, D. J. Middleton, Tetsana & Puudjaa พบบริเวณเขาหินปูน อำภอเขาชะเมาจังหวัดระยอง ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 40 ซม. ลำต้นอวบน้ำ ส่วนบนสีเขียว โคนสีม่วง เกือบเกลี้ยงถึงมีขนยาวห่างประปราย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ยกเว้นใบที่โคนต้น เรียงเวียน มีขนประปรายถึงหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน ดอกม่วงแดงอมน้ำเงิน หลอดกลีบดอกค่อนข้างแบน ทำให้ปากหลอดกลีบดกมีความกว้างมากกว่าสูง โคนหลอดกลีบดอกด้านในสีเหลืองอ่อน คำระบุชนิด ‘𝑜𝑟𝑎𝑡ℎ𝑎𝑖𝑎𝑒’ ตั้งให้เป็นเกียรติแก่นางอรทัย เกิดแก้ว ช่างศิลป์ประจำหอพรรณไม้ ซึ่งวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ให้กับโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) มาอย่างยาวนาน ตัวอย่างต้นแบบ 𝑇𝑒𝑡𝑠𝑎𝑛𝑎, 𝑆𝑢𝑑𝑑𝑒𝑒, 𝑃𝑢𝑢𝑑𝑗𝑎𝑎, 𝑇ℎ𝑎𝑛𝑎𝑛𝑡ℎ𝑎𝑖𝑠𝑜𝑛𝑔, 𝐻𝑒𝑚𝑟𝑎𝑡, 𝑃ℎ𝑎𝑛𝑘𝑖𝑒𝑛 & 𝐷𝑎𝑜𝑛𝑢𝑟𝑎𝑖 2256 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
3.หยาดพระโพธิสัตว์ 𝑀𝑖𝑐𝑟𝑜𝑐ℎ𝑖𝑟𝑖𝑡𝑎 𝑟𝑎𝑑𝑖𝑎𝑡𝑎 D. J. Middleton, Daonurai, Poompayak & Suddee พบบริเวณเขาหินปูน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. ลำต้นอวบน้ำ ส่วนบนสีม่วงแดงถึงสีม่วงแดงอมเขียว หรือสีเขียวตลอด โคนสีม่วงแดงเข้ม มีขนยาวห่างประปราย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ยกเว้นใบที่โคนต้น เรียงเวียน แผ่นใบบางมาก มีมีขนสั้นนุ่มถึงขนสั้นหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน ดอกสีขาว ด้านในหลอดกลีบดอกสีส้ม ด้านล่างสีเข้มกว่า มีเส้นหนาสีน้ำตาลแผ่เป็นรัศมี คำระบุชนิด ‘𝑟𝑎𝑑𝑖𝑎𝑡𝑎’ หมายถึงเส้นสีน้ำตาลที่แผ่เป็นรัศมีภายในหลอดกลีบดอก ตัวอย่างต้นแบบ 𝑇ℎ𝑎𝑛𝑎𝑛𝑡ℎ𝑎𝑖𝑠𝑜𝑛𝑔, 𝑃𝑜𝑜𝑚𝑝𝑎𝑦𝑎𝑘, 𝑈𝑑𝑜𝑚𝑠𝑖𝑟𝑖𝑝𝑜𝑛𝑔, 𝐾ℎ𝑎𝑛𝑎𝑛𝑡ℎ𝑜𝑛𝑔 & 𝐷𝑎𝑜𝑛𝑢𝑟𝑎𝑖 1000 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
4.หยาดถ้ำกระบอก 𝑀𝑖𝑐𝑟𝑜𝑐ℎ𝑖𝑟𝑖𝑡𝑎 𝑝𝑢𝑔𝑙𝑖𝑠𝑖𝑎𝑒 D. J. Middleton, Daonurai, Poompayak & Suddee พบบริเวณเขาหินปูน อําเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. ลำต้นอวบน้ำ ส่วนบนสีเขียวอมม่วงแดงถึงเขียว ส่วนโคนสีม่วงแดงถึงม่วงแดงเข้ม มีขนสั้นนุ่มถึงขนสั้นหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงเวียน ด้านบนสีเขียวอมเทาเข้ม มีขนสั้นหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน ดอกสีขาว คอหลอดดอกและโคนกลีบปากด้านในสีเหลือง คำระบุชนิด ‘puglisiae’ ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ Dr. Carmen Puglisi ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ชาฤๅษีหลายสกุล ซึ่งได้ช่วยศึกษาวิจัยสำหรับโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย ตัวอย่างต้นแบบ 𝑇ℎ𝑎𝑛𝑎𝑛𝑡ℎ𝑎𝑖𝑠𝑜𝑛𝑔, 𝑃𝑜𝑜𝑚𝑝𝑎𝑦𝑎𝑘, 𝑈𝑑𝑜𝑚𝑠𝑖𝑟𝑖𝑝𝑜𝑛𝑔, 𝐾ℎ𝑎𝑛𝑎𝑛𝑡ℎ𝑜𝑛𝑔, & 𝐷𝑎𝑜𝑛𝑢𝑟𝑎𝑖 1001 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline